www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ผู้ส่งออกยื่น 1.7 หมื่นบาท ยึดสต็อกข้าว 2.1 ล้านตัน


นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดซองราคาเสนอซื้อข้าวสต็อกรัฐบาลปริมาณรวม 3.1 ล้านตัน ว่า จากราคาที่เอกชนเสนอมา โดยเฉพาะการเสนอซื้อข้าวเก่าเป็นราคาที่น่าพอใจเฉลี่ยที่ตันละ 1.6 -1.7 หมื่นบาท ทำให้รัฐได้กำไรจากการประมูลขายข้าวครั้งนี้

ในส่วนข้าวนาปรังปี 2551 ยอมรับว่า จะต้องพิจารณาราคาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนการรับจำนำข้าวจากโครงการนี้สูงถึงตันละ 1.4 หมื่นบาท ทั้งที่ข้าวในโครงการรับจำนำใหม่ราคาอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาทเท่านั้น ทำให้ไม่แน่ใจว่าข้าวในส่วนนี้ จะสามารถประมูลได้หมดตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

เรียกเจรจาต่อรองขอเพิ่มราคาวันนี้

ทั้งนี้ จะให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เรียกผู้เสนอราคาทั้ง 36 รายมาต่อรองวันนี้ (11 พ.ย.) กำหนดให้พิจารณาจากราคาที่เสนอซื้อสูงสุดเป็นหลัก และในส่วนผู้ส่งออกหากมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศมาแสดง ก็จะได้แต้มต่อในการประมูลครั้งนี้

อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์ต้องการขายให้ผู้ส่งออกหรือโรงสีรายเล็กมากกว่า เพื่อให้การขนย้ายออกจากโกดังรวดเร็วขึ้น และมีพื้นที่รองรับข้าวใหม่จากโครงการรับจำนำฯ

"วันนี้ (11 พ.ย.) อคส.จะเรียกมาทั้ง 36 รายต่อรองกัน ถ้าราคาทิ้งห่างกันไม่เท่าไรและผู้ซื้อยอมเพิ่มราคาให้ ก็จะทำให้ได้เงินเพิ่มอีก คิดว่าไม่กี่วันก็สรุปได้ว่าจะขายข้าวให้ใคร เช่น ให้เพิ่มอีก ตันละ 100 บาท ก็จะได้เงินอีก 300 ล้านบาท ที่น่าจะขายได้แน่ๆ เป็นข้าวเก่า 2.1 ล้านตัน เพราะไม่ว่าเสนอราคาเท่าใดก็ได้กำไร แต่ข้าวนาปรังต้องพิจารณาราคาอีกที" นายไชยา กล่าว

ส่วนกรณีที่ชาวนาจังหวัดพิจิตรร้องเรียนว่านำข้าวไปจำนำกับโรงสีแล้วไม่ได้เงิน โดยโรงสีอ้างว่า โครงการรับจำนำไม่มีเงินเข้ามาในระบบนั้น นายไชยา กล่าวว่า เรื่องเงินไม่น่าจะมีปัญหาเพราะทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ปัญหาอาจเกิดจากบางพื้นที่แจ้งว่า ข้าวจะออกล่าช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ชาวนากลับนำข้าวเข้าโครงการเร็วกว่ากำหนด ทำให้เกิดความไม่พร้อมของโรงสีได้

ปัจจุบันมีข้าวเข้าร่วมโครงการแล้ว 9 หมื่นตัน ทั้งในส่วนขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) และ อคส. ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาการอนุญาตให้รับจำนำข้าวข้ามเขตได้ เบื้องต้นมีหนังสือร้องเรียนจาก จ.พิจิตร จ.พะเยา ซึ่งได้ให้เกณฑ์พิจารณาว่าต้องเป็นความยินยอมของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ และเกษตรกรในพื้นที่ ทำหนังสือมายัง รมว.พาณิชย์เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ยืนยันว่าการเปิดให้ข้ามเขตนั้น จะต้องจำกัดเฉพาะพื้นที่ภาคเดียวกันหรือไม่ เนื่องยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า การรับจำนำข้ามภาค เช่น ภาคกลางขึ้นไปรับจำนำข้าวในภาคอีสานนั้น จะเป็นที่มาของการทุจริตปลอมปนหรือไม่

นายไชยา กล่าวถึงกรณี บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เสนอซื้อข้าวเฉลี่ยราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับรายอื่นๆ ว่าจะทำให้รัฐได้ประโยชน์หรือไม่ ยอมรับว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น บริษัทดังกล่าวมีสิทธิที่เข้าร่วมประมูลได้ เพราะในหนังสือบริคณห์สนธิ ไม่พบการเชื่อมโยงกับบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง บริษัทส่งออกข้าวที่เคยสร้างความเสียหายต่อรัฐ

สยามอินดิก้ามาแรงเสนอซื้อ 2.5 ล้านตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในการเสนอประมูลข้าวหอมมะลิและข้าวขาวสต็อกรัฐบาล 3.1 ล้านตัน บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้เสนอประมูลข้าวสูงสุด 2.5 ล้านตัน ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 1.52 หมื่นบาท ราคาข้าวขายตันละ 1.1 หมื่นบาท

ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่เสนอราคา เช่น เอเชียโกลเด้นไรซ์ เสนอซื้อ 2.49 แสนตัน ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 1.43 หมื่นบาท ข้าวขาว 1.02 หมื่นบาท, บริษัท ไชยพรฯ ปริมาณ 1.35 แสนตัน ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 1.35 หมื่นบาท ข้าวขาวตันละ 1.1 หมื่นบาท, บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรดปริมาณ 3 แสนตัน ราคาข้าวหอมมะลิ ตันละ 1.58 หมื่นบาท ข้าวขาวไม่เสนอซื้อ บริษัท นครหลวงค้าข้าวฯ และ แคปิตัลซีเรียล ปริมาณ 2.39 แสนตัน ราคาข้าวหอมมะลิ ตันละ 1.55 หมื่นบาท ข้าวขาวตันละ 8.5 พันบาท, บริษัท พงษ์ลาภ ปริมาณ 3 แสนตัน ราคาข้าวหอมมะลิตันละ 1.55 หมื่นบาท ข้าวขาวตันละ 1.08 หมื่นบาท

เอกชนที่เข้าร่วมเสนอซื้อข้าวรัฐบาล ต่างตั้งข้อสังเกตหลังจากที่เจ้าหน้าที่เปิดซองเสนอซื้อข้าวของบริษัท สยาม อินดิก้า จำกัด เพราะเป็นผู้เสนอซื้อข้าวในจำนวนมากที่สุด ทั้งข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีปริมาณมากถึง 2.54 ล้านตัน จากสต็อกข้าวที่เปิดทั้งหมด 3.1 ล้านตันนั้น มีตลาดข้าวให้ส่งออกจริงหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ไม่กี่ปี เพราะหากเปรียบเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 รายหลักของไทย เสนอซื้อปริมาณไม่ถึง 1 ล้านตัน ซึ่งหวั่นเกรงว่าจะเกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ประมูลข้าวยกล็อต และในที่สุดต้องทิ้งสัญญาข้าว โดยบริษัทสยาม อินดิก้า ในวงการข้าวเชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีรากฐานเดียวกับบริษัทเพรซิเดนท์ฯ

กรมค้าตปท.อ้างไม่ได้เปิดซองราคา

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า วานนี้ (10 พ.ย.) ได้มีการเปิดซองราคาของผู้ส่งออกและโรงสี 36 รายที่ยื่นประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 3.1 ล้านตัน หลังจากที่เปิดให้มีการยื่นซองคุณสมบัติและซองราคามาตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2551 ซึ่งในวันดังกล่าว เปิดเพียงซองคุณสมบัติ ส่วนซองราคา อคส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานจัดประมูลข้าว ได้แจ้งว่าจะเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ที่มีนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ ขั้นตอนก่อนที่จะมีการเปิดซองราคา อคส.จะต้องส่งซองราคาให้กับกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว แต่ปรากฏว่าเมื่อสอบถามไปยังกรมการค้าต่างประเทศ ก็ได้คำตอบว่ายังไม่ได้รับซองราคาจาก อคส. และเมื่อสอบถามไปยัง อคส. ก็บอกว่าได้ส่งซองราคาไปให้กรมการค้าต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. แล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในวันที่ 6 พ.ย. นายไชยาได้ระบุว่า จะพิจารณาการประมูลข้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และย้ำว่ามีผู้ยื่นเสนอราคาเข้ามาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับยกตัวอย่างด้วยว่า บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด ก็เสนอซื้อเข้ามา 5-6 แสนตัน จึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการเปิดซองเสนอราคาก่อนที่จะมีการเปิดซองราคาอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พ.ย.
ชาวนาโวยธ.ก.ส.ปฏิเสธจ่ายเงินจำนำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพ.ย. นั้น ในส่วนของจังหวัดจังหวัดพิจิตร ขณะนี้มีชาวนากว่า 500 คน ขนข้าวเปลือกไปส่งมอบให้โรงสี 7 แห่งที่เปิดรับจำนำข้าว มีปริมาณข้าว 4,000 ตัน และได้มีการออกใบประทวนให้กับชาวนา เพื่อนำไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. แต่ปรากฏว่าชาวนาจังหวัดพิจิตรจำนวนมากที่ไปขอขึ้นเงินค่าข้าวเปลือกกับ ธ.ก.ส.พิจิตร แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยอ้างว่า เงินของ ธ.ก.ส. มีไว้ให้ลูกค้า

ส่วนเงินรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. ตามสาขายังไม่ได้รับคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ให้ดำเนินการจ่ายเงินให้กับชาวนา ทำให้ชาวนาที่มีใบประทวนอยู่ในมือและไปขอขึ้นเงินค่าจำนำข้าวต่างผิดหวังกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่เข้าโครงการแต่ไม่มีเงินจ่ายชาวนา
ธ.ก.ส.ระบุรอเงินกู้จากคลัง

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้โอนเงิน เพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ล็อตแรก 4.6 หมื่นล้านบาท และล็อตที่สองเดือนม.ค. 2552 อีก 4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งเดิมกำหนดจะต้องโอนให้ภายในเดือนพ.ย. นี้

ขั้นตอนการรับจำนำปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่กระบวนการของ อคส. และ อ.ต.ก.ขึ้นทะเบียนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งพบว่ามีปัญหาโรงสีถูกแบล็คลิสต์หลายแห่ง จึงทำให้ล่าช้าในการคัดเลือกโรงสี โดยเฉพาะที่จังหวัดพิจิตร

ทั้งนี้ตามกระบวนการรับจำนำนั้น หากเกษตรกรขึ้นทะเบียนและนำข้าวมาเข้าโรงสีเรียบร้อยแล้ว หลังจากได้รับใบประทวนเพื่อนำมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. และมีการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินภายใน 3 วัน

"กระทรวงการคลังรับปากจะโอนเงินล็อตแรกให้ภายในเดือนนี้ แต่ถึงขณะนี้ ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับเงินมาใช้โครงการรับจำนำอย่างเป็นทางการ ทำให้เกษตรกรยังไม่สามารถนำใบประทวนมาขึ้นเงินจำนำข้าวได้ แต่คาดว่าภายในสัปดาห์นี้คงจะได้รับเงิน"

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.