นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า แนวทางเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ยินดีสนับสนุน แต่วิธีการออกใบประทวน การพิจารณาโรงสี การเปิดจุดรับจำนำ จะเป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ อคส.
"สิ่งที่เป็นห่วง คือ อัตราการรับจำนำค่อนข้างสูง จึงต้องตรวจเช็คความชื้นให้ดี โดยบุคลากรและผู้ชำนาญเรื่องความชื้น การจัดเก็บข้าวเปลือกในโกดัง และอื่นๆ ที่ ธ.ก.ส.จะต้องเป็นผู้วางกรอบแนวทาง แม้ อคส.จะมีบุคลากร เครื่องมือ และโกดัง แต่เมื่อมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส.ดูแล กระทรวงพาณิชย์และ อคส.ก็จะสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งกระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส.จะต้องวางกรอบการทำงานและมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต" นายยรรยง กล่าว
นายยรรยง กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (กสล.) ว่า ที่ประชุมมีมติว่าวันที่ 14 ก.ค.นี้จะเพิ่มรายการสินค้าเกษตรอีก 1 รายการ คือ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 จากเดิมข้าวขาว 5% ยางแผ่นดิบรมควัน และมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์คงจะพิจารณาตามกรอบของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ตามมติของคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ที่ได้อนุมัติการจัดประมูลข้าวสต็อกรัฐบาล โดยผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีกรอบตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค. 2550 โดยเปิดประมูลข้าวตามโครงการดังกล่าว 7 ครั้ง จำนวน 86,080 ตัน ส่งมอบเสร็จสิ้นแล้ว และหลังจากมีการเปลี่ยนจาก กนข.เป็น กขช. จึงต้องมีการนำเสนอ กขช. ว่ายังจำเป็นต้องดำเนินการจัดประมูลข้าวสต็อกรัฐบาลโดยผ่านตลาดสินค้าเกษตรฯ อีกหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอกระทรวงพาณิชย์รับทราบเร็วๆ นี้
ปัดดึงเรื่องขายข้าวฟิลิปปินส์พ้น ครม.
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนไม่ได้เป็นคนสั่งถอนวาระพิจารณา เรื่องการทำจัดทำบันทึกความตกลง (เมมโมเรนดัม ออฟ อะกรีเม้นท์ หรือเอ็มโอเอ) การซื้อ-ขายข้าวกับฟิลิปปินส์ ออกจากที่ประชุม ครม.วันที่ 10 มิ.ย. แม้จะรับทราบว่ามีการเสนอวาระดังกล่าวก่อนเข้าสู่ที่ประชุม 2 ชั่วโมงทางโทรศัพท์ก็ตาม โดยการอนุมัติให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะเป็นความเห็นชอบของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์
ทั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งตนดูแลอยู่ แต่ไม่ติดใจอะไร แม้จะไม่ได้ทราบเรื่องนี้มาก่อน เพราะเข้าใจเป็นเรื่องด่วน และการนำเสนอในขั้นตอนภายในกระทรวงเป็นช่วงเวลาที่เดินทางไปราชการที่ประเทศจีน และเห็นว่าการขายข้าวผ่านระบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม
ส่วนตนไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ดึงวาระดังกล่าวออก เพราะการเสนอเป็นวาระจร จึงไม่มีระบุเรื่องนั้นๆ ไว้ในวาระการประชุม ทำให้ไม่ทราบว่าเรื่องนี้ที่ประชุมพิจารณาผ่านแล้ว หรือยกเลิกวาระใดไปแล้วบ้างและเมื่อเรื่องถูกดึงออกไป ก็ไม่ทราบได้ทำให้ไม่ได้มีการท้วงติง
"ผมไม่รู้ใครดึงเรื่อง แต่ก็เท่าที่ถามๆ ดูก็ไม่น่าจะใช่คนของกระทรวงพาณิชย์ อาจเป็นผู้มีอำนาจที่ไหน ก็ได้ก่อนเข้าประชุม ผมก็รู้ล่วงหน้าไม่นานว่า จะมีเรื่องข้าวฟิลิปปินส์เข้า ครม.ก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะก่อนหน้านี้ก็พอรู้ว่า จะมีเรื่องซื้อขายข้าวเข้า ครม.ถึง 2 เรื่องคือ ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ผมไม่ติดใจว่าใครเป็นคนลงนาม ผมไปราชการต่างประเทศไม่รู้เรื่อง" นายวิรุฬ กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันอีกครั้งว่าการทำงานระหว่างรัฐมนตรีทั้ง 3 คนในกระทรวงพาณิชย์ คือ นายมิ่งขวัญ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช. และตนแม้จะมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่การทำงานยังทำเป็นทีมงานเดียวกัน "ไม่มีเกาเหลา" ไม่คิดจะแบ่งแยก ทุกอย่างอยู่ในกรอบเรื่องการงานเป็นหลัก ตนทำงานมา 3-4 เดือน เคารพรัฐมนตรีว่าการ เพราะถือเป็น "บอส" ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน ก็เป็นเพื่อนร่วมงาน สามารถปรึกษาหารือกันได้
ปลอบไทยยังมีโอกาสขายฟิลิปปินส์
นายวิจักร วิเศษน้อย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กล่าวว่า การนำเรื่องให้ ครม.พิจารณาลงนามเอ็มโอเอ ซื้อขายข้าวกับฟิลิปปินส์ เพื่อให้ทันกาลเข้าร่วมเสนอราคาขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ปริมาณ 6.75 แสนตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 25% จำนวน 450,000 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 150,000 บาท และข้าวขาว 5% อีก 75,000 ตัน ที่จะมีขึ้น 13 มิ.ย.นี้ โดยประเทศที่จะเสนอราคาต้องมีเอ็มโอเอ กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเวียดนามได้ลงนามไปแล้ว ทำให้การเสนอราคาข้าวล็อตที่จะเกิดขึ้น จึงมีแต่เวียดนามเท่านั้น และคาดว่าเวียดนามจะไม่เสนอขายทั้งหมด ตามจำนวนที่เปิดซื้อทำให้ไทย จึงยังมีโอกาสที่จะเข้าร่วมเสนอราคาดังกล่าวได้ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ เงื่อนไขการซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ คือ ต้องเป็นข้าวใหม่ เก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 5-6 เดือนกำหนดส่งมอบภายในก.ค.นี้โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์จะพิจารณาราคาที่นำเสนอก่อนตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ราคาส่งออกข้าวขณะนี้ เฉลี่ยที่ตันละ 700-800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมไม่ได้ถือว่าราคาลดลงมาจากเดิมแต่อย่างใด และเห็นว่าเป็นราคาที่น่าจะพอใจทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย
ผู้ส่งออกกังขา ครม.ทำไทยพลาดโอกาส
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุมสมาคมวานนี้ (11 มิ.ย.) ที่ประชุมได้สอบถามกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถอนวาระการพิจารณาการจัดทำ เอ็มโอเอ การซื้อ-ขายข้าวกับฟิลิปปินส์ ทำให้รัฐบาลไทยพลาดโอกาสการเข้าร่วมเสนอราคาขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะมีขึ้น 13 มิ.ย.นี้ ซึ่งผู้ส่งออกเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทำให้ไทยไม่สามารถสร้างเสถียรภาพด้านราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ เพราะขณะนี้ตลาดส่งออกข้าวอื่นยังเงียบมาก เพราะผู้ซื้อต่างประเทศรอดูสถานการณ์ราคาที่หลายฝ่ายคาดว่าจะชะลอตัวลงอีก
ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์ราคาส่งออกข้าว (เอฟโอบี) ลดลงเฉลี่ยตันละ 10 ดอลลาร์ สาเหตุมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง เพราะราคาตลาดในประเทศยังทรงตัว
รายงานข่าวจากวงการค้าข้าวแจ้งว่า กรณีการนำวาระข้าวฟิลิปปินส์ออกจากที่ประชุม ครม.เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ไทยเข้าร่วมเสนอราคาข้าวกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ทันเวลา เพราะหากไทยได้รับคำสั่งซื้อ ซึ่งมีกำหนดส่งมอบภายในก.ค.นี้ และมีเงื่อนไขเป็นข้าวใหม่ ทำให้ต้องนำคำสั่งซื้อดังกล่าวส่งต่อให้ผู้ส่งออกเอกชน รับไปดำเนินการจนทำให้คนในรัฐบาลไม่ได้รับประโยชน์ ที่คาดว่าจะได้รับผ่านวิธีการเสนอราคาข้าวที่ต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้ผู้ซื้อปลายทางยอมจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับผู้ประสานงาน
ทั้งนี้มีการมองว่าหากรัฐบาลได้รับคำสั่งซื้อข้าวล็อตนี้ ก็จะนำข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ที่กำหนดราคาสูงถึงตันละ 1.4 หมื่นบาท ซึ่งพิจารณาแล้วราคาตลาดจะไม่สูงเกินกว่านี้ ทำให้ชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ข้าวจะตกเป็นของรัฐบาล และสามารถนำข้าวจำนวนนี้ไปส่งมอบได้ตามเงื่อนไข แต่การรับจำนำเกิดขึ้นช้า ทำให้รัฐต้องตัดสินใจทิ้งการขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ออกไป
ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|