www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

สงครามราคาข้าว ผู้ส่งออก-โรงสี "ใคร" กักตุน


      ราคาข้าวในตลาดโลกได้พุ่งทำลายสถิติทั้งราคาและปริมาณ ส่งผลให้ผู้ส่งออกกับโรงสีข้าวเปิดศึกชิงไหวชิงพริบ "ตักตวง" ช่วงโอกาสทอง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สุดท้ายแล้ว "ใคร" มีข้าวอยู่ในมือ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ส่งออกข้าวได้ออกมาให้ข่าวการ "ชะลอ" รับออร์เดอร์ส่งออกข้าว พร้อมกล่าวหาโรงสีข้าวเป็นผู้กักตุนข้าวในประเทศ ในขณะที่โรงสีข้าวเองก็ออกมาให้ข่าว ผู้ส่งออกกักตุนข้าว

     มาในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวภายในก็ยังไม่ลดลง เนื่องจากเกิด "มือที่มองไม่เห็น" ได้เข้ามาปั่นราคาข้าวอย่างรุนแรง ส่งผลผู้ส่งออก "หยุด" รับออร์เดอร์ต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากราคาข้าวภายในพุ่งไปถึงร้อยละ 30-40 เรียกว่าผันผวนจนส่งผลกระทบกับการกำหนดราคา FOB ส่งออก

     ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ข้าวในครั้งนี้ เนื่องจากการบริโภคข้าวภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 50 ของผลผลิตข้าวในแต่ละปี (9-10 ล้านตันข้าวสารจากผลผลิต 18-19 ล้านตัน) ราคาส่งออกดึงราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านทางราคา "ข้าวถุง" ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกยี่ห้อ อย่างน้อยร้อยละ 10-15

     แต่ดูเหมือนว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "เพิ่งตื่น" เมื่อสถานการณ์ข้าวเข้าขั้นวิกฤต โดยเรียกระดม "สายตรวจพาณิชย์" ออกตรวจสอบสต๊อกข้าวของรัฐบาลทั่วประเทศที่มีจำนวน 2.1 ล้านตัน พร้อมกับกำหนดชุดนโยบายการตลาดด้วยการเปิดตัว ยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อประชาชน ที่ผู้เกี่ยวข้องต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สุดท้ายจะกลายเป็นงานเปิดตัวข้าวถุง สินค้าเฮาส์แบรนด์รายการใหม่ของกระทรวงพาณิชย์

โรงสีแฉมีสต๊อกรวม 10 ล้านตัน

     ด้านสมาคมโรงสีข้าวไทยเชื่อว่า สต๊อกข้าวในประเทศรวมแล้วขณะนี้มีปริมาณถึง 10 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นข้าวในสต๊อกของรัฐบาล 2.1-2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวที่รัฐบาลยังไม่ได้ขาย นอกจากนี้ยังมีข้าวในมือของผู้ออกอีก 4 ล้านตันเศษ โดยคาดว่าในจำนวนนี้ มี 1 ล้านตันเศษเป็นข้าวที่ผู้ส่งออกประมูลออกมาตั้งแต่ปลายปี 2550 " แต่ยังไม่ได้รับมอบ หรืออ้างว่ายังไม่ได้ขนย้าย" ส่วนรัฐบาลก็บอกว่าขายไปแล้ว เป็นข้าวที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนมือ จึงไม่ได้ลงบัญชีทางการค้าของผู้ส่งออกเพราะยังไม่ได้ขนมาสต๊อก

     "หากทั้งประเทศนี้มีสต๊อกข้าวแค่ 2 ล้านตันจริงอย่างที่ผู้ส่งออกบอก ผมคิดว่าข้าวคงจะแพงกว่าหมู ข้อเท็จจริงแล้วข้าวในสต๊อก 5 ล้านตัน ประมูลไป 3 ตัน ล่าสุดเดือนตุลาคม 2550 ประมูลไป 1 ล้านตัน รวมแล้ว 4 ล้านตันอยู่ในมือผู้ส่งออก แต่นับไม่ได้เพราะยังไม่ได้ขนย้าย ไม่เชื่อต้องไปดูที่โกดังของผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเบอร์ 1 ผมเชื่อว่ามีสต๊อกไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน รวมของรัฐอีก 210,000 ตัน เบอร์ 2-3 รวมกันน่าจะมี 500,000 ตัน รวมของรัฐบาลอีก 500,000 ตัน ส่วนในมือของโรงสีมีข้าวเปลือก 6 ล้านตันเศษ สีแล้วจะเหลือข้าวสาร 4 ล้านตัน"

     เหตุการณ์ที่ผู้ส่งออกข้าวออกมาประกาศหยุดรับออร์เดอร์นั้น ทางโรงสีเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว โดยผู้ส่งออกข้าวน่าจะหวังผล 2 ประการ คือ 1) หวังว่าราคาข้าวในประเทศจะอ่อนตัวลง กับ 2) ต้องการให้รัฐบาลปล่อยข้าวในสต๊อกจำนวน 2 ล้านตันออกสู่ตลาด

ผู้ส่งออกหยุดรับออร์เดอร์ชั่วคราว

     ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวหลายรายได้กล่าวตรงกันว่า ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตันติดต่อกันมา 5 เดือน จากปกติไทยเคยส่งออกข้าวแค่เดือนละ 700,000-800,000 ตันเท่านั้น หากส่งออกอย่างนี้เท่ากับว่า ปีหนึ่งไทยต้องส่งออกข้าว 12 ล้านตัน จากเป้าหมายและความสามารถที่เคยส่งออกได้เพียง 8-9 ล้านตัน ดังนั้นราคาข้าวต้องแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดคือ ข้าว 100% ราคา FOB เคยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ตอนนี้พุ่งไปถึง 600 เหรียญสหรัฐ/ตันแล้ว

     แม้ว่าในช่วง 2 เดือนนี้จะเป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 4 ล้านตัน แต่สถานการณ์ราคาข้าวไม่มีท่าทีว่าจะลดความร้อนแรงลง ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาบาทแข็งและผันผวน ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้ส่งออกต้องทำก็คือ "เอาตัวรอด" กล่าวคือใครมีสายป่านน้อยก็ส่งออกน้อย เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวมีปัญหาทั้งเรือฉลอม-กระสอบ-ข้าว และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การหมุนเงิน

     ขณะที่นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และผู้ผลิตและจำหน่าย "ข้าวตราฉัตร" กล่าวว่า ไทยส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2550 ประมาณ 600,000 ตัน แต่ปรากฏว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน คาดว่าตลอดทั้งปีไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน

     จากสถานการณ์ราคาข้าวทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ละประเทศพยายามซื้อข้าวเก็บไว้สต๊อกให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่มีข้าวจำหน่าย ผู้ส่งออกไทยหลายรายมีการปฏิเสธที่จะรับออร์เดอร์ซื้อข้าวระยะยาว 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะต่างไม่มั่นใจสถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศ " ขณะนี้ราคาข้าวจำหน่ายสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1 เท่าตัว โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14,000-15,000 บาท/เกวียน ข้าวขาวจาก 7 บาท/ก.ก. ก็ขยับราคาขึ้นเป็น 11 บาท/ก.ก. ผู้ส่งออกที่ยังพอมีกำลังจึงรับออร์เดอร์ขายข้าวล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น"

     ด้านนายวิชัย ศรีประเสริฐ ประธานบริษัท ไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ให้ความเห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า เป็นช่วงปรับฐานการผลิต-ราคาข้าวโลก เนื่องจากปริมาณความต้องการข้าวมี "มากกว่า" การผลิตข้าว จนส่งผลให้สต๊อกข้าวโลกลดลงต่อเนื่องหลายปี สาเหตุจาก 1) ปัจจัยเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลังไม่สามารถเพิ่มปริมาณข้าวได้ตามความต้องการบริโภค

     2) เกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้ราคาธัญพืชพลังงานทดแทนราคาแพง เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกิดการแย่งชิงพืชอาหาร-พลังงาน ซึ่งแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิมแต่ความต้องการเพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาพืชพลังงานบางชนิด เช่น ข้าวสาลี ราคาสูงกว่าข้าว และ 3) เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดจากอากาศเย็นในไทย ทำให้ปริมาณข้าวลีบ ผลผลิตลดลง เชื่อว่าผลผลิตข้าวลีบมีมากถึงร้อยละ 10 ของปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้

     "ราคาข้าวต่อจากนี้ไปจะสูงติดต่อกันหลายปี ผมคิดว่ามีโอกาสสูงถึง 1,000 เหรียญสหรัฐแน่นอน โดยเฉพาะราคาในประเทศต้องสูง เพราะหากราคาในประเทศปรับเพิ่มในสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาส่งออก จะทำให้ข้าวไหลออกต่างประเทศมากกว่า แต่หากเฉลี่ยผลกระทบต่อคนแล้ว มีการบริโภคข้าวเพียง 10 บาท/คน/วันเท่านั้น ผมคิดว่าผู้บริโภคน่าจะรับผลกระทบได้ ส่วนโรงสีและผู้ส่งออกต้องปรับตัวตามความสามารถในการแข่งขัน ใครมีกำลังน้อยก็รับน้อย เพราะการแก้ไขปัญหาซัพพลายข้าวต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ออกมา" นายวิชัยกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.