www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ตั้งเพดานราคาส่งออกข้าวช็อกโลก


      ข้าวโลกป่วนหนักราคาพุ่งฉุดไม่อยู่ อินเดียปรับราคาขั้นต่ำส่งออกจาก 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเป็น 650 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สะท้อนชัดแดนภารตผู้ส่งออกอันดับสี่ของโลก ไม่พร้อมส่งออกข้าวติดต่อกันเป็นปีที่สอง เวียดนามส่งออกแต่ตั้งราคาสูง ขณะที่ไทยยังไม่พร้อมรับออร์เดอร์ใหม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ประมูลขายฟิลิปปินส์จิ๊บจ๊อยไม่เต็มโควตาที่ได้รับ โรงสีเบรกพาณิชย์หยุดจำนำนาปรัง ยันข้าวไทยถึงสิ้นปีไม่มีลง

     จากการที่สถานการณ์ข้าวโลกปีนี้ร้อนแรงสุดขีด ล่าสุดประเทศอินเดียประกาศราคาขั้นต่ำส่งออกติดต่อกันเป็นปีที่สองต่อเนื่องจากปี 2550 เท่ากับเป็นการประกาศหยุดส่งออกข้าวต่อเนื่องกันเป็นปีที่สองโดยปริยาย ขณะที่เวียดนามปีที่ผ่านมาระงับส่งออกชั่วคราวแต่ปีนี้มีความเข้มงวดและพร้อมที่จะส่งออกในราคาที่สูง ทำให้ออร์เดอร์ทั่วโลกหลั่งไหลมายังประเทศไทยไม่ขาดสาย จนเกิดเหตุการณ์ราคาข้าวภายในสูงกว่าราคาส่งออกและข้าวขาดตลาด ผู้ส่งออกต้องชะลอรับออร์เดอร์ ตามที่ " ฐานเศรษฐกิจ"ได้นำเสนอความคืบหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

อินเดียปรับราคาขั้นต่ำส่งออก:

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ข้าวโลกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาอินเดียประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสี่รองจากไทย เวียดนามและสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปรับราคาขั้นต่ำส่งออกข้าวจากเดิมที่กำหนดราคาขั้นต่ำส่งออกตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตันละ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 112% ต่อตันซึ่งการประกาศดังกล่าวนับเป็นปีที่สองของอินเดีย เท่ากับว่าอินเดียไม่พร้อมส่งออกข้าวเป็นปีที่สองติดต่อกัน เนื่องจากการประกาศราคาขั้นต่ำดังกล่าว ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าข้าวไทยและเวียดนาม ทำให้ผู้ส่งออกของอินเดียแข่งขันไม่ได้และต้องหยุดส่งออกโดยปริยาย

     โดยอินเดียส่งออกข้าวปี 2549 จำนวน 4.54 ล้านตัน ปี 2550 จำนวน 3.8 ล้านตัน และปี 2551 ตั้งเป้า 3.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวนึ่ง ซึ่งปี 2550 อินเดียส่งออกข้าวนึ่งเดือนละ 200,000 ตัน การที่รัฐบาลตั้งราคาขั้นต่ำส่งออกไว้สูงทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้ต้องหยุดส่งออกไปโดยปริยาย ออร์เดอร์จึงมาลงที่ประเทศไทยและดันราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้น

ไทยไม่พร้อมตั้งราคาขั้นต่ำ:

     อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้ส่งออกของไทยเผชิญปัญหาไล่ราคาข้าวไม่ทัน กล่าวคือเมื่อไปรับออร์เดอร์ไว้แล้ว ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่า ทั้งยังหาซื้อข้าวไม่ได้ จนทำให้ผู้ส่งออกเดือดร้อน ทางผู้ส่งออกได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเสนอตั้งราคาขั้นต่ำส่งออกเหมือนกับประเทศอินเดีย

    นายวิจักร วิเศษน้อย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีปัญหาเรื่องข้าวระหว่างไทยกับอินเดียมีความแตกต่างกันคงจะใช้วิธีการเดียวกันไม่ได้ อินเดียปริมาณผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอบริโภคจึงต้องกำหนดราคาขั้นต่ำเพื่อห้ามส่งออก เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคประสบปัญหาข้าวขาดแคลนและราคาแพง ส่วนของไทยยังมีข้าวเหลือเพียงพอที่จะส่งออก ยังไม่ถึงขั้นต้องห้ามส่งออกข้าว

เวียดนามเน้นตั้งราคาสูง:

     ส่วนประเทศเวียดนาม ผู้ส่งออกรายใหญ่รองจากไทย ก่อนหน้านี้นายตรึง ธานห์ ฟอง นายกสมาคมอาหารแห่งประเทศเวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในโอกาสเดินทางมาร่วมประชุมสถานการณ์ข้าวกับผู้ส่งออกไทย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ปีนี้เวียดนามจะมีผลผลิตข้าวทั้งสิ้นประมาณ 36.5 ล้านตันข้าวเปลือก ตั้งเป้าส่งออกเบื้องต้นไว้ที่ 4.5 ล้านตันข้าวสาร โดยการส่งออกจะไม่เน้นจำนวนมากเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่จะให้ความสำคัญเรื่องราคาเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้ทั่วโลกมีความต้องการข้าวมาก จึงเสนอขายราคาสูงได้ ซึ่งปีนี้ข้าวเวียดนามสูงกว่าปีที่ผ่านมาตันละ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ กล่าวคือปีนี้เสนอขายตันละ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ และตลาดส่งออกจะให้ความสำคัญกับตลาดประจำเท่านั้นเช่นฟิลิปปินส์ เป็นต้น และล่าสุดเวียดนามได้จำกัดสินเชื่อเพื่อการส่งออกข้าวแล้ว

ไทยยังชะลอรับออร์เดอร์:

     นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่าขณะนี้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะรับออร์เดอร์ล่วงหน้าเต็มที่ไม่เกิน 1 เดือน โดยรับปริมาณจำกัดเท่าที่สามารถส่งมอบได้ จากที่ผ่านมารับออร์เดอร์ล่วงหน้า 2-3 เดือน ขณะเดียวกันจะเปลี่ยนจากที่เคยรับออร์เดอร์แล้วค่อยมาซื้อข้าวเพื่อส่งมอบ เป็นการซื้อข้าวเก็บสต๊อกก่อนแล้วค่อยรับออร์เดอร์

     สอดคล้องกับนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกลุ่มกมลกิจกรุ๊ป ผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่รายหนึ่ง กล่าวว่าคำสั่งซื้อมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ส่งออกยังไม่กล้าเสนอราคา หรือหากรับก็จะเป็นล็อตเล็กๆ ไม่กล้ารับล็อตใหญ่เนื่องจากเกรงว่าจะหาข้าวไม่ได้ แม้ข้าวนาปรังจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่สินค้ายังมาไม่ถึงผู้ส่งออก

ประมูลฟิลิปปินส์จิ๊บจ๊อย:

     นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ กรรมการบริหารบริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวว่าวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมารัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เปิดประมูลซื้อข้าวเป็นการทั่วไปจำนวน 550,000 ตัน ส่งมอบเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยฟิลิปปินส์ได้กำหนดเงื่อนไขคือบริษัทที่เคยขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์สามารถเสนอได้บริษัทละ 50,000 ตัน บริษัทที่ไม่เคยค้ากับฟิลิปปินส์เสนอได้บริษัทละ 25,000 ตัน ในส่วนของผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมประมูลขายหลายรายด้วยกัน แต่จำนวนไม่มาก เช่นบริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด ซึ่งเคยค้ากับฟิลิปปินส์อยู่ และสามารถเสนอประมูลได้มากถึง 50,000 ตัน แต่เสนอไปเพียง 15,000 ตันเท่านั้น

     ทั้งนี้เหตุที่เสนอขายเพียงแค่ 15,000 ตัน เนื่องจากหวั่นว่าราคาภายในประเทศจะขยับสูงขึ้นกว่าราคาที่ประมูลขาย ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดทุนได้ แม้ว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงปลายมีนาคมถึงเมษายนก็ตาม แต่เวลานี้ผู้ส่งออกยังมีออร์เดอร์เก่าที่จะต้องส่งมอบยาวถึงเดือนพฤษภาคม เพราะฉะนั้นราคาข้าวภายในไม่ลงอย่างแน่นอน

    ขณะที่นายเสริมศักดิ์ ควรทรงธรรม ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท ข้าวไชยพร จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมประมูลขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ไปประมาณ 30,000-40,000 ตัน ไม่ได้เสนอเต็มจำนวนสิทธิ์ที่ได้รับ เนื่องจากไม่มั่นใจสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศ เพราะโอกาสขยับขึ้นมีสูง

    แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว กล่าวว่า การเปิดประมูลซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ครั้งนี้ ถูกจับตามองจากวงการค้าข้าวโลกอย่างใกล้ชิด โดยดูว่าเวียดนามและไทยจะเสนอราคาแข่งกันอย่างไร ฟิลิปปินส์ยอมรับราคาที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งสองเสนอหรือไม่ เพราะราคาที่เสนอและเป็นราคาที่ฟิลิปปินส์ยอมรับจะเป็นเครื่องชี้ทิศทางราคาข้าวโลกปีนี้ได้ทางหนึ่ง เพราะฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่

เบรกโครงการจำนำ:

     ด้านนายปราโมทย์ วานิชานนท์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าเดือนมีนาคมของทุกปีกระทรวงพาณิชย์จะประกาศราคารับจำนำข้าวนาปรัง แต่ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรประกาศราคารับจำนำออกมา เพราะจะทำให้ตลาดปั่นป่วนได้ เนื่องจากเวลานี้มีคำขู่จากผู้ส่งออกว่าหากราคาข้าวสูงจะไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นกระทรวงพาณิชย์ควรปล่อยให้ราคาเดินไปตามกลไกตลาด เพราะขณะนี้ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้สูงอยู่แล้ว โดยข้าวเปลือกนาปรังความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 9,200-9,300 บาท สูงกว่าราคาจำนำข้าวเปลือกนาปีปี2550/51 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ตันละ 6,700 บาท

     พร้อมกันนี้นายปราโมทย์เสนอว่า กระทรวงพาณิชย์อาจใช้วิธีการตั้งราคาเพดานไว้ หากราคาลงต่ำกว่าเพดานที่กำหนดจึงกำหนดมาตรการและราคาจำนำออกมา เช่น ช่วงที่ข้าวเหนียวราคาแพง ครั้งนั้นรัฐบาลไม่ได้ประกาศราคาจำนำข้าวเหนียวออกมา ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ข้าวเหนียวราคาตกจากตันละ 13,000 บาท เหลือตันละ 7,000 บาท ใช้เวลาเพียง 3 วันก็สามารถประกาศราคาและเริ่มรับจำนำได้

     "เชื่อว่าปีนี้ราคาข้าวไม่มีลง เพราะความต้องการของตลาดโลกยังสูงอยู่ ผู้ส่งออกหยุดรับออร์เดอร์ใหม่ แต่ทุกคนยังมีออร์เดอร์เก่าที่ยังต้องส่งมอบ เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องซื้อข้าวจากโรงสี เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะมีข้าวเปลือกนาปรังออกสู่ตลาดราว 5 ล้านตันข้าวเปลือกหรือคิดเป็นข้าวสารประมาณ 2 ล้านตัน มั่นใจว่าผู้ส่งออกต้องซื้อและราคาข้าวไม่ลง" นายปราโมทย์กล่าว

     ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 11 มีนาคม 2550 ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,300-12,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้นไม่เกิน15% ตันละ 9,200-9,500 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวตันละ 9,400-9,600 บาท ข้าวสารหอมมะลิ 100% ชั้น2( เก่า-ใหม่)กระสอบละ 2,245-2,255 บาท (100 กิโลกรัม) ข้าวขาว 100% ชั้น2 ( ใหม่)กระสอบละ 1,595-1,600 บาท ข้าวขาว 5% ใหม่กระสอบละ 1,550-1,555 บาท ข้าวเหนียวเมล็ดยาว 10% กระสอบละ 1,555-1,560 บาท เป็นราคาที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.