แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 109/2551 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสต็อกข้าว ตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล โดยมีนายธีรพล นพลัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาฯ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เป็นรองประธาน
ส่วนกรรมการอื่นๆ อีก 11 คน อาทิเช่น พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รองเลขานายกฯ ฝ่ายการเมือง นายประพล มิลินทจินดา หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ผบ.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จเรตำรวจ เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความมีอยู่ของข้าวสารที่เก็บไว้ในโกดังกลาง และโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ หรือสต็อกข้าวของรัฐ จำนวน 2.1 ล้านตัน เสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงาน หรือบุคคลมาให้ข้อมูล มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
รายงานตรงนายกฯ แก้ปัญหา
นอกจากนี้ กรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญควรได้รับการวินิจฉัย หรือแก้ปัญหาโดยด่วน ให้เสนอนายกฯ เพื่อมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งต่อไป และให้คณะกรรมการรายงานผลการปฏิบัติงานให้นายกฯ ทราบ
พร้อมกันนั้น นายสมัครยังได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 134/2551 ลงนามวันที่ 4 มิ.ย.2551 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการและเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในคณะกรรมการตรวจสอบสต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล โดยเพิ่มอธิบดีกรมทางหลวง เป็นกรรมการ และเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบสต็อกข้าว
ระดมจนท.ซักซ้อมแผนตรวจสอบ
วานนี้ (12 มิ.ย.) นายจุลยุทธได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่สปน. ตำรวจกองปราบปราม จเรตำรวจ ตำรวจนครบาล ตำรวจสอบสวนกลาง เจ้าหน้าที่จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กว่า 200 คน เข้าหารือเพื่อซักซ้อมแผนปฏิบัติการ แนวทาง และกลวิธีในการออกไปตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐบาลทั่วประเทศจำนวน 2.1 ล้านตัน ว่า มีอยู่จริงตามที่รายงานหรือไม่
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ นายสมัครได้ลงมาให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ พร้อมระบุว่า การตรวจสอบสต็อกข้าวนั้น ไม่ได้มุ่งจับผิดหรือตรวจสอบการทุจริตของใคร เพียงแต่ต้องการทราบถึงจำนวนสต็อกข้าวที่แท้จริงเท่านั้น และขอให้ทุกคนทำงาน เพื่อประเทศชาติ และเพื่อชาวนาของเรา
นายจุลยุทธ กล่าวหลังการประชุมว่า หลังจากนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้าว ตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลแล้ว ตนได้เรียกประชุมคณะกรรมการอย่างเงียบๆ มาแล้ว 2 ครั้ง โดยวานนี้ (12 มิ.ย.) ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน เพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อซักซ้อมแนวทาง และวิธีการตรวจสอบข้าวในสต็อกของรัฐบาล ที่เก็บไว้ที่โรงสี 51 แห่ง ใน 34 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนโกดังทั้งสิ้น 193 โกดัง
ส่ง 36 ชุดปูพรมสอบสต็อก
ส่วนแผนการตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐ ตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 36 ชุด เพื่อทำหน้าที่ปูพรมตรวจสอบข้าวที่อยู่ในโกดังพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยว่า จะเป็นวันใด แต่จะดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยคณะอนุกรรมการแต่ละชุด จะมีผู้ตรวจราชการ 3 กระทรวง คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ
โดยอนุกรรมการ แต่ละชุดจะมี 11-12 คน จะมีทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธ.ก.ส.และกรมทางหลวง เป็นต้น แต่ละคณะอนุกรรมการจะมีทีมงานอีกกว่า 10 คน ดังนั้น การตรวจสอบสต็อกข้าวครั้งนี้ จะมีตำรวจและข้าราชการร่วมทำงานกว่า 1 พันคน ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ประสานงานในการเปิดโกดัง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย
"เราจะส่งทีมงานกว่า 1 พันคน ออกปูพรมตรวจสอบว่า ข้าวในสต็อกทั่วประเทศว่ามีจำนวนเท่าไร ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มีข้าวในสต็อก 2.1 ล้านตัน มีการนำไปทำข้าวสารบรรจุถุงขาย 3 แสนถุง เราจะไปตรวจสอบว่าจำนวนข้าวที่รายงานมานั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และเราไม่ได้ไปจับผิดใคร แต่ต้องการดูว่าจำนวนข้าวที่แท้จริงมีเท่าใดกันแน่ จากที่ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า มีข้าวหายไปจากสต็อกจำนวนหนึ่ง" นายจุลยุทธกล่าว
ย้ำนายกฯสั่งการตรงตรวจสอบข้าว
นายจุลยุทธย้ำว่าการตรวจสอบสต็อกข้าวครั้งนี้ เป็นความต้องการของนายสมัคร ที่ต้องการทราบว่าข้าวในสต็อกของรัฐมีจำนวนเท่าใด เป็นคำร้องขอของธ.ก.ส.ที่ต้องการทราบจำนวนข้าวในสต็อกของรัฐ เพราะอีกไม่นานนี้ รัฐบาลโดยธ.ก.ส.จะดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 แล้ว จึงต้องการรู้ว่ามีข้าวสารในสต็อกเก่าเท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับจำนวนข้าวที่มีอยู่แล้ว กับข้าวที่จะรับจำนำเข้ามาใหม่
ทั้งนี้ หากพบว่ามีข้าวในสต็อกของรัฐหายไป อนุกรรมการสามารถดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่ร่วมกระทำผิดได้ทันที เนื่องจากองค์ประกอบของอนุกรรมการ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมอยู่ด้วย โดยจะมีการรายงานผลการตรวจสอบให้นายกฯ รับทราบโดยเร็ว
พาณิชย์ยันข้าวในสต็อกครบ 2.1 ล้านตัน
นายวรารักษ์ ชั้นสามารถ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการสรุปรายงานตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐทั่วประเทศ ซึ่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้สั่งการ โดยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ข้าวในสต็อกยังอยู่ครบตามจำนวน 2.1 ล้านตัน ทั้งปริมาณและคุณภาพ และกระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดการตรวจสอบซ้ำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และคณะตรวจสอบข้าวของกระทรวงพาณิชย์กำหนดประชุมสรุปสถานการณ์อีกในวันที่ 25 มิ.ย.นี้
หลังจากนี้ หากพบข้าวหายไปจากโกดัง สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยผู้รับผิดชอบหลัก คือ หัวหน้าคลังนั้นๆ และเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด สำหรับข้าวปริมาณ 2.1 ล้านตัน เป็นในส่วนของข้าวรัฐที่ไม่มีข้อผูกพันการขายให้เอกชน ขณะที่กรณีข้าวหายก่อนหน้านี้อยู่ในขั้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผลตรวจสอบพบข้าวล่องหน 1.3 หมื่นตัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอข้อมูลปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐ ซึ่งได้ส่งมอบให้แล้วกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้ข้อมูลหากนายกรัฐมนตรีต้องการ แต่ไม่เข้าใจว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซ้ำอีกทำไม
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์กำหนดการตรวจสต็อกข้าวอย่างเข้มงวด โดยในพื้นที่สีแดง คือ บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน มีการปลูกข้าวจำนวนมาก และมีเครือข่ายระหว่างโรงสีผู้ส่งออกอยู่ กำหนดให้ตรวจสอบทุกวัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ให้สุ่มตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการสูญหาย
ผลการตรวจสต็อกข้าวครั้งล่าสุด ข้าวในโกดังกลางของรัฐมีปริมาณ 1.964 ล้านตัน ข้าวในโรงสีที่รัฐฝากเก็บ 1.45 แสนตัน ข้าวขาดหายประมาณ 1.3 หมื่นตัน คิดเป็น 0.62% คงเหลือข้าว 2.096 ล้านตัน โดยจังหวัดที่พบข้าวหายไป ได้แก่ พิจิตร พะเยา ชัยนาท และเชียงราย
เผยไอ้โม่งสั่งรื้อข้อตกลงข้าวฟิลิปปินส์
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังมีความพยายามจากคนในรัฐบาล ให้ปรับรายละเอียดของบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าว (เอ็มโอเอ) ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ใหม่ หลังจากที่ได้มีการสั่งให้ถอนเรื่องออก เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากเอ็มโอเอเป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศเสนอ จะทำให้ไม่สามารถหาประโยชน์ หรือค่าคอมมิชชั่น จากการซื้อขายข้าวในรูปรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ได้ เพราะเงื่อนไขเอ็มโอเอฉบับเดิม กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามซื้อขายข้าวได้แต่เพียงผู้เดียว
"ประเด็นอยู่ที่ว่า การให้อำนาจ รมว.พาณิชย์ลงนามซื้อขายข้าว ทำให้คนที่คิดจะหาประโยชน์จากการซื้อขายข้าว หมดหนทางทำมาหากิน เพราะอำนาจจะตกมาอยู่ในมือของ รมว.พาณิชย์ จึงต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะระบุใหม่ให้เป็นผู้ที่รัฐบาลมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจซื้อขายข้าวได้" แหล่งข่าวกล่าว
การแก้ไขรายละเอียดของเอ็มโอเอ สอดคล้องกับการแถลงข่าวของนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ระบุว่า การถอนเรื่องดังกล่าวออก น่าจะเป็นเพราะมีข้อความบางส่วนในเอ็มโอเอ ที่ยังเป็นปัญหาหรือยังไม่ชัดเจน จึงต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ที่สั่งให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุมครม. คือนายสมัครเอง เนื่องจากนายสมัครต้องการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของสัญญาก่อน แต่การถอนเรื่องออกจากครม.นั้น ส่งผลกระทบให้กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถเข้าไปร่วมประมูลขายข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ทันวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ทำให้การจำหน่ายข้าวสารกว่า 7 แสนตันถึง 1 ล้านตัน ต้องหยุดชะงักไป และไทยเสียโอกาสที่จะขายข้าวได้ในราคาสูง
ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|