นายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้กงสุลฝ่ายการเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รายงานว่า ข้าวไทยที่ส่งเข้าไปขายในประเทศจีน ตรวจพบว่ามีการปลอมปน ทำให้ตลาดขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวหอมมะลิของไทย ส่งผลให้การส่งออกในระยะหลังของข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้แก้ไขปัญหานี้แล้ว รวมทั้งได้มีการตรวจสอบที่ด่านส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่พบว่ามีการปลอมปนแต่อย่างใด จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ขั้นตอนการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยเกิดขึ้นในประเทศจีน โดยพ่อค้าชาวจีน ที่ต้องการเพิ่มปริมาณข้าวให้มากขึ้น จึงนำข้าวจากประเทศอื่น หรือข้าวของจีนเองมาปลอมปน เนื่องจากการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคจีน ในขณะนี้พบว่านิยมข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น
“คนจีนส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิของไทย จึงอาจจะมีการนำข้าวคุณภาพด้อยกว่ามาปลอมปนข้าวไทยแล้วบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัมใหม่ และตีตราเป็นข้าวหอมมะลิไทย จำหน่ายในราคาใกล้เคียงกับราคาข้าวหอมมะลิจริง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย ที่ต้องมีคุณภาพ 100% และยังส่งผลกระทบตลาดข้าวไทยในประเทศจีนอย่างมาก” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า การส่งออกข้าวในตลาดจีน ในปัจจุบันนี้ จะบรรจุเป็นกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม และ 100 กิโลกรัม หลังจากนั้นผู้นำเข้าจะนำไปบรรจุใหม่เป็นขนาดถุง 5 กิโลกรัม ซึ่งการปลอมปนอาจเป็นไปได้ในขั้นตอนนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทย และจีน เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ ตามขั้นตอนขบวนการตรวจสอบย้อนกลับต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมา
นอกจากนี้ยังได้ ขอความร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวให้คำนึงคุณภาพของข้าว โดยเฉพาะการบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนส่งออก จะต้องเป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่สะอาด ไม่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน รมยาให้ถูกวิธีโดยไม่รมยาทั้งๆ ที่ข้าวสารยังอยู่ในถุงพลาสติก ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันสารพิษตกค้างหรือมีกลิ่น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|