www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐทุ่ม 4 หมื่นล้านแทรกแซงข้าว

     นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วานนี้ (13 พ.ค.) ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาราคาข้าว และมีมติว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้แก่ชาวนา รัฐบาลจะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคา 19,000-20,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าราคา 14,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียวราคา 9,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ข้าวที่รับซื้อจะต้องมีความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 15%

     ทั้งนี้ในส่วนข้าวเปลือกเหนียว หากมีความชื้นเกิน 25% รัฐบาลจะรับซื้อในราคา 7,000 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีโรงสีหลายแห่งที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยเงินกู้พิเศษให้แก่โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวของรัฐบาล

     นอกจากนี้วันนี้ (14 พ.ค.) จะมีการลงนามในประกาศ การยกเลิกควบคุมการขนย้ายข้าวเปลือกข้าวสาร ปี 2551 เพื่อให้มีการขนย้ายข้าวข้ามจังหวัดได้ เพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์เต็มที่จากราคาข้าวที่โรงสีประกาศรับซื้อ เพราะชาวนาจะสามารถเลือกขายข้าวให้แก่โรงสีได้ทุกจังหวัด

ขอไฟเขียวกขช. 15 พ.ค.นี้

     นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดรายละเอียด วิธีการ และแหล่งเงินที่จะนำมารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีทั้งการที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อจากชาวนาโดยตรง หรือรับซื้อผ่านโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ

     นายมิ่งขวัญระบุว่า หลังจากประชุม กขช.ในวันที่ 15 พ.ค.แล้ว รัฐบาลก็จะเริ่มดำเนินการเข้าไปรับซื้อข้าวจากชาวนาทันที โดยข้าวที่จะรับซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเปลือกเจ้าที่อยู่ในมือชาวนา โดยจะรับซื้อแบบไม่จำกัดจำนวน ส่วนข้าวหอมมะลิเท่าที่ทราบส่วนใหญ่อยู่ในมือโรงสีหมดแล้ว

     “เมื่อรัฐบาลประกาศรับซื้อข้าวแล้ว รัฐบาลก็จำเป็นต้องขายข้าวที่มีอยู่ในสต็อกออกมา ให้กับบางหน่วยงาน หรือนำไปขายให้ต่างประเทศตามความเหมาะสม ซึ่งนอกจากการนำข้าวในสต็อกออกมาขายแล้ว ก็จะมีการนำข้าวที่รับซื้อใหม่ขายออกสู่ตลาดควบคู่ไปด้วย ส่วนรูปแบบการขายจะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง” นายมิ่งขวัญระบุ

     ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่า การยกเลิกมาตรการควบคุมการซื้อข้าวข้ามเขต จะทำให้เกิดปัญหาการเวียนเทียนข้าว หรือทำให้เกิดการปลอมปนข้าว นายมิ่งขวัญมองว่า วันนี้ต้องมองในภาพใหญ่ก่อน หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องมาพิจารณาเป็นเรื่องๆ แต่ขณะนี้ขอลองวิธีนี้ก่อน

     อย่างไรก็ตามเขาไม่กังวลว่าการเข้าไปรับซื้อข้าวของรัฐบาลครั้งนี้ จะทำให้เอกชนไม่พอใจ ในการเข้าไปทำธุรกิจแข่งกับเอกชน แต่ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ที่ชาวนาจะขาย เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตามราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

คาดรัฐต้องทุ่มเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท

     รายงานข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้าวเปลือกเจ้าที่อยู่ในมือชาวนาประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยจะทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนปลายเดือนพ.ค.ไปจนถึงต้นเดือนก.ค. ทั้งนี้หากรัฐบาลจะเข้าไปรับซื้อข้าวทั้งหมดในราคาตันละ 14,000 บาท คาดว่ารัฐบาลจะใช้เงินในการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าอย่างเดียวประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท

สมัครสั่งเช็คสต็อกข้าว 2.1 ล้านตันด่วน

     แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นายสมัคร ตั้งข้อสังเกตระหว่างการประชุมครม.ว่า ข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลที่มีอยู่ 2.1 ล้านตันนั้น มีอยู่ครบตามจำนวนหรือไม่ และมีคุณภาพเป็นอย่างไร จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ ไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม นายสมัครไม่ได้ระบุสาเหตุแห่งความสงสัยในประเด็นดังกล่าว

     พร้อมกันนั้น นายสมัครยังสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์บริหารข้าวสารในสต็อกของรัฐ 2.1 ล้านตัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในประเทศ โดยเมื่อมีการนำข้าวจากสต็อกไปบรรจุถุงเป็นข้าวถุงธงฟ้าแล้ว ให้เร่งรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่กำหนดไว้

     นอกจากนี้นายสมัคร ยังตั้งข้อสังเกตถึงราคาข้าวเปลือกในประเทศ ที่ตกลงก่อนหน้านี้ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการออกข้าวถุงธงฟ้ามหาชนของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จะมีการจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้าในวันที่ 12 พ.ค. แต่ราคาข้าวเปลือกกลับตกลงมา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา โดยนายสมัครมองว่า ราคาข้าวเปลือกที่ลดลงมานั้น มีสาเหตุจากพ่อค้าและโรงสีที่กดราคารับซื้อข้าวเปลือกของชาวนามากกว่า

สมาคมชาวนากังขารัฐแทรกแซง

     นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า การที่รัฐออกมากำหนดแทรกแซงราคาข้าว โดยกำหนดรับซื้อข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวขาวตันละ 1.4 หมื่นบาท ข้าวเหนียวตันละ 9 พันบาท และข้าวหอมมะลิตันละ 1.9-2 หมื่นบาทนั้น รัฐไม่น่าจะดำเนินการได้ เพราะการรับซื้อข้าวเปลือก รัฐจะต้องแบกภาระการสีแปรสภาพข้าว รวมถึงภาระสถานที่จัดเก็บ จึงสงสัยว่ารัฐออกมาดำเนินการเช่นนี้เพื่อหวังเพิ่มเครดิตให้ตัวเองหรือไม่

     ทั้งที่สมาคมได้เสนอให้รัฐดูแลราคาข้าวผ่านการขายรัฐต่อรัฐ หรือให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกหาตลาดข้าว และให้มีการซื้อข้าวขายข้าวระหว่างโรงสีและผู้ส่งออก ในราคาตันละ 2 หมื่นบาท ส่วนการซื้อข้าวระหว่างโรงสีและชาวนาให้อยู่ในอัตราตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

     นายประสิทธิ์ได้กล่าวในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ วิกฤติข้าวเอเชีย โอกาสข้าวไทย จริงหรือ ?” ว่า ราคาข้าวที่กำลังลดลงขณะนี้ นอกจากสาเหตุด้านการตลาดแล้ว ยังเกิดจากฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ความชื้นสูงขึ้นเฉลี่ยที่ 20-30% โรงสีจึงกำหนดตัดราคาความชื้นเปอร์เซ็นต์ละ 200 บาท ทำให้ชาวนามีรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว

     ชาวนาต้องเผชิญกับกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย โดยปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 (( ยูเรีย) ปี 2549 ราคาตันละ 11,000 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 18,000 บาท สารเคมียาปราบวัชพืชฆ่าหญ้า ปี 2549 ราคาแกลลอนละ 400 บาท ปี 2551 ราคาแกลลอนละ 850 บาท ดังนั้นชาวนาจะไม่ได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น และหากราคาข้าวปรับตัวลดลง ก็จะทำให้ชาวนาเข้าสู่ภาวะเดิมที่ต้นทุนสูงกว่าราคาขาย ซึ่งสิ่งที่ชาวนาต้องการ คือ อยากให้รัฐดูแลต้นทุนการผลิตประกอบกับข้อมูล

ผู้ส่งออกชี้แค่จิตวิทยาดันราคา

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่รัฐออกมาแทรกแซงราคาข้าว น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยามากกว่าจะเป็นผลต่อราคาตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นเหมือนการเปิดรับจำนำ กดดันให้โรงสีให้รับซื้อข้าวในราคาสูง

     อย่างไรก็ตามราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว หลังจากที่การซื้อขายข้าวระหว่างไทยและมาเลเซียได้ข้อสรุป ทำให้ราคาข้าวสารปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีตันละ 2,000 บาท และจะส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกในที่สุด

     ปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การกำหนดแทรกแซงราคาขณะนี้จะได้ประโยชน์น้อย เพราะราคาข้าวเพิ่มขึ้นอยู่แล้วขณะนี้ รวมถึงปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดมีเพียงเล็กน้อยแล้ว ส่วนการกำหนดราคาข้าวเหนียวน่าจะเป็นผลเพื่อลดแรงกดดันการประท้วงราคาข้าวเหนียวตกต่ำมากกว่า

โรงสีจี้รัฐสร้างสมดุลกระบวนการข้าว

     นายปราโมทย์กล่าวอีกว่า การขายข้าวของผู้ส่งออกให้มาเลเซีย ในปริมาณ 2 แสนตัน ราคาตันละ 950 ดอลลาร์ (ข้าวขาว 5%) ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นการส่งออกข้าวไทย แต่เชื่อว่าจะกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำลง เนื่องจากราคาขายดังกล่าว ตันละ 950 ดอลลาร์ หักค่าใช้จ่ายแล้ว จะอยู่ที่ประมาณตันละ 940 ดอลลาร์ ที่ผู้ส่งออกจะได้รับและเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตันละ 25 ดอลลาร์ หักกำไรมาตรฐานขั้นต่ำประมาณตันละ 50 ดอล ลาร์ คิดเป็นเงินบาท ผู้ส่งออกจะขายข้าวได้ตันละประมาณ 20,000 บาท และทำให้โรงสีสามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ในราคาตันละ13,000-14,000 บาท

     อย่างไรก็ตาม หากราคาซื้อขายในประเทศ ไม่เป็นไปตามราคาดังกล่าว ถือว่าอาจมีการเล่นเกมของผู้ส่งออก มีการลักไก่ซื้อข้าวในประเทศไว้ก่อนก็ได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลกระบวนการซื้อขายข้าว ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้ชัดเจน เพราะก่อนจะถึงข้าวนาปี ถือว่าเป็นการวัดฝีมือการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะหากบริหารไม่ได้ อาจถูกทุบราคาเหลือตันละ 8,000-9,000 บาท ได้ เมื่อถึงเวลานั้นถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี

เจิมศักดิ์อัดรัฐฝันฮั้วราคาข้าว

     รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า โอกาสข้าวไทยแม้วันนี้ราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่อย่าไปหลงระเริงกับราคาที่สูงขึ้น เพราะราคาข้าวที่สูงขึ้นได้ ก็มีโอกาสลดลงได้ ซึ่งความคิดที่จะฮั้วราคาให้สูงขึ้นไม่สามารถทำได้ แต่ถือเป็นความคิดที่ปรารถนาดีที่ต้องการให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพและมีราคาสูง แต่เป็นการประสงค์ร้ายต่อผู้บริโภค เพราะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดข้าว

     นอกจากนี้สินค้าข้าวไม่ใช่น้ำมัน ที่การจัดสรรปริมาณการส่งออกและการเก็บเกี่ยวไม่สามารถควบคุมได้ และหากข้าวมีราคาสูงขึ้นจริง ก็มีอาหารอื่นสามารถทดแทนได้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมข้าวถึงไม่สามารถรวมตัวกัน กำหนดราคาเช่นเดียวกับสินค้าน้ำมัน

     "อย่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ในกรณีนี้ ชี้ให้เห็นว่า รมว.พาณิชย์ เป็นคนที่ไม่เป็นมวยคนหนึ่ง เพราะมัวแต่นั่งฝันที่จะทำโอเรกให้เหมือนโอเปค ทั้งที่ประเทศที่ปลูกข้าวอื่นๆ ไม่ร่วมมือด้วย โอกาสหรือวิกฤติจากราคาข้าว ขึ้นอยู่กับเกษตรกรต้องติดตามและรู้ถึงความเคลื่อนไหว หรือชาวนาเข้ามาเล่นเองในตลาด ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีมาพูดว่าเวลานี้ต้องขาย เวลานี้ไม่ต้องขาย เพราะมันไม่ถูกต้องพาณิชย์มีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ความชัดเจน และข้อเท็จจริงเรื่องข้าวทั้งหมด ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมากำหนดราคาข้าว “ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

     นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า การดูแลสถานการณ์ข้าวในระยะยาว รัฐควรหันมาพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนา แทนมุ่งความร่วมมือประเทศผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เพราะไม่มีความเป็นไปได้ จึงอยากให้เลิกคิดเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสินค้าข้าวไม่ใช่น้ำมัน การจะกำหนดราคาต้องผ่านการบริหารสต็อกข้าวปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นภาระกับรัฐบาล และเชื่อว่าประเทศอื่นๆ ก็คงไม่ต้องการร่วมมือด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.