นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 15 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2551/52 กระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ในราคา 1.4 หมื่นบาทต่อตัน
“ผมจะชี้แจงเหตุผลให้ กขช.ทราบ สาเหตุที่ต้องรับจำนำข้าวราคาเท่าเดิม ขึ้นอยู่กับ กขช.ตัดสินใจ แต่หากลดราคาจำนำเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท กระทรวงฯอาจไม่ทำโครงการจำนำข้าว และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ดูแลโครงการเหมือนเดิม” นายไชยา กล่าว
นอกจากนี้ การประชุมครม.วันนี้ (14 ต.ค.) จะเสนอประเด็นปลดล็อกโรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็คลิสต์) กับภาครัฐให้ ครม.รับทราบ โดยโรงสีที่มีโทษปานกลางถึงต่ำเกือบ 100 ราย จะขอให้ลดเบี้ยปรับจากวันละ 0.2% หรือปีละ 72% เหลือปีละ 15%
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การประชุม กขช. วันที่ 15 ต.ค.นี้ คาดว่ากระทรวงการคลัง จะเสนอให้ทบทวนราคาจำนำข้าวลดลงมาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท เพราะหากตั้งราคาจำนำในราคาตันละ 1.4 หมื่นบาท สูงกว่าราคาตลาด ทำให้ข้าวทะลักเข้าสู่โครงการรับจำนำทั้งหมด ต้องใช้เงินสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท โดยมีแนวโน้มที่จะทบทวนราคาจำนำลงมา ตามที่ ดร.นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงงบประมาณที่จะนำมาใช้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะมีการทบทวนราคาจำนำข้าวเปลือกเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท ทำให้ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดลดลงมาเหลือแค่ตันละ 9 พันกว่าบาทเท่านั้น และมีการเร่งกว้านซื้อข้าวในตลาดจากเกษตรกร เพื่อรอเข้าร่วมโครงการรับจำนำ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวว่า กขช.จะพิจารณาลดราคารับจำนำข้าวนาปีจากตันละ 14,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท ซึ่งจะทำให้ราคาตลาดลดลงเหลือตันละ 8,500-9,500 บาท สมาคมได้ทำหนังสือถึงนายกฯ และ รมต.พาณิชย์ ขอให้รับจำนำในราคาตันละ 14,000 บาท เหมือนเดิม
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากการประชุมโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก (EAST ASIA EMERGENCY RICE RESERVE : EAERR) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศ+3 คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ได้เห็นชอบร่วมกันว่าจะให้มีการจัดตั้งโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก เป็นองค์กรถาวรภายใต้ชื่อ APTERR (ASEAN PLUS THREE EMERGENCY RICE RESERVE AGREEMENT) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาเรื่องข้าวที่อาจเกิดภาวะขาดแคลน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |