นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนโครงการเพิ่มศักยภาพข้าวหอมมะลิ 105 ในเขตปฏิรูปที่ดินห้าจังหวัดภาคอีสานภายใต้ความร่วมมือไตรภาคี ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และยโสธร โดยขณะนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
ทั้งนี้ฤดูปลูกข้าวปี 2551 คาดว่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิได้ทัน และครบตามเป้าที่ตั้งไว้ 2 แสนไร่ จำนวนเกษตรกรไม่น้อยกว่า 2 หมื่นราย เบื้องต้นเตรียมผลักดันเกษตรกรในโครงการ ให้เร่งพัฒนาแปลงปลูกข้าวเข้าสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม (GAP) นำร่อง 2,000 ราย โดย ส.ป.ก.จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจข้าวหอมมะลิจำนวน 1,000 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว พร้อมวางแผนพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้น กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และ ส.ป.ก. จะร่วมกันบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ โดยอาจขุดบ่อน้ำ 50 ไร่ในพื้นที่ เพื่อทำให้ผลผลิตข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฤดูปลูกข้าวปีนี้เกษตรกรในโครงการ ต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวใหม่ทั้ง 100% ซึ่งกรมการข้าวพร้อมสนับสนุนพันธุ์คัดกว่า 3,000 ตันแก่เกษตรกร เพื่อตัดปัญหาข้าวพันธุ์อื่นปนเปื้อน ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการตลาด
นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร หรือเซ็นทรัลแล็บ จะสุ่มตรวจพันธุ์ข้าว ดิน และวิเคราะห์สารพิษตกค้าง เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพ เพิ่มจุดแข็งแก่ข้าวไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อผลักดันการส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีมูลค่าส่งออกปีละ 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ปีนี้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเตรียมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปีให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินกู้ไปลงทุน วงเงิน 850 ล้านบาท และส่วนการค้าข้าว ส.ป.ก.กำหนดวงเงินกู้ไว้ 400 ล้านบาท ปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงการเพิ่มศักยภาพข้าวหอมมะลิ 105 ยื่นขอกู้แล้ว 280 ล้านบาท เหลือวงเงินอีก 120 ล้านบาท
"คาดว่าจะช่วยปรับโครงสร้างการผลิตข้าวของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินผลิตสินค้าข้าวได้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดรับซื้อ และทำให้เกิดเครือข่ายการผลิตเชื่อมโยงตลาด นำไปสู่การขยายช่องทางการส่งออกข้าวในอนาคต"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|