www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

นักวิชาการสับรัฐบาล"สอบตก"แก้ราคาข้าว

      คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานสัมมนาหัวข้อ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจรัฐบาล ในโอกาสเตรียมการฉลองครบรอบ 60 ปี โดยได้เชิญนักวิชาการเข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ดร.อัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

     ดร.อัมมารกล่าวว่า การเข้ามาของรัฐบาลนี้ เหมือนกับการเป็นนอมินี หรือเรียกอีกอย่างว่า เป็นนอมิเนเตอร์ทางการเมือง ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในการเข้ามาสู้คดีในเวทีต่างๆ ให้พ้นจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็เป็นเป้าหมายชัดเจน และทุกคนก็สมัครสมานสามัคคีในการทำงานด้านนี้ ฉะนั้น รัฐบาลก็มีเวลาน้อยในช่วงแรกในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และการดำเนินนโยบายส่วนใหญ่ก็เป็นการสานต่อนโยบายรัฐบาลเดิมและลบล้างทุกอย่างที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำไว้

ธปท.หน่อมแน้มแก้เงินเฟ้อ

     “เมื่อไม่มีจุดหมายที่ชัดเจนและไม่มีเวลาออกแบบระบบเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลก็ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ ขณะที่รัฐบาลก็เผชิญกับปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจไทย การทำงานของรัฐบาลก็เลยเหมือนกับรัฐบาลเลือกตั้งก่อนๆ คือ เป็นรัฐบาลปฏิกิริยา ไม่ได้มีนโยบายเชิงรุก แต่เป็นนโยบายเชิงรับ” เขากล่าว

     เขากล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของไทย เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เพราะปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เป็นปัญหาระดับมหภาค แต่คนที่เข้ามาแก้ไขปัญหาของไทยเป็นระดับจุลภาค ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแล กลายเป็นผู้พยากรณ์และสังเกตการณ์ และเมื่อครั้งที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีปัญหา ก็ตีฆ้องร้องป่าวว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท.ในการดูแล แต่ตอนนี้ มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ธปท.หายไปไหน เวลาสัมภาษณ์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ และบอกด้วยว่า ปีหน้าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเป็นเลขสองหลัก ทำให้ไม่เข้าใจในหน้าที่ของ ธปท. และเห็นว่า ธปท.หน่อมแน้มเกินไปในการเข้ามาดูแลอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้

รัฐบาลสอบตกแก้ปัญหาราคาข้าว

     ส่วนที่รัฐบาลมีบทบาทจริงๆ คือ นโยบายเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลได้บทเรียนมาจากรัฐบาลไทยรักไทย คือ การเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร และต้องใช้เวลากว่าจะล้างหนี้สินกันหมด ซึ่งก็ขอให้คะแนนในการทำงานด้านนี้ เป็น " B-" หรือพอใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เข้าใจในท่าทีของรัฐบาลเกี่ยวกับการที่ให้ ปตท.ลดราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่ากำลังขูดรีดผู้ถือหุ้นรายเล็ก ส่วนนโยบายข้าวนั้น ขอให้คะแนน "F" หรือสอบตก เพราะยังมีความสับสนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะเรื่องของการขายข้าวให้ต่างประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกไม่แน่ใจในนโยบาย แต่ก็มีข้อดีของนโยบายคือ ไม่มีการจำกัดการส่งออก

     เขากล่าวว่า ปัญหาโลกาภิวัตน์ได้กระทบถึงการกระจายรายได้ ส่วนนโยบายในการกระจายรายได้ของรัฐบาลนั้น ขอเสนอว่า เราคงต้องไปในแนวทางรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องทำในลักษณะที่ดีขึ้น โดยนโยบายการแจกคูปองของรัฐบาลที่กำลังจะทำในขณะนี้ ซึ่งมีเป้าหมายจะแจกในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีนั้น รัฐบาลทำเหมือนกับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว คนจนจะหายไปจากประเทศไทย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก สิ่งที่ควรทำคือ จะต้องพุ่งเป้าไปที่คนจนจริงๆ แต่ปัญหาขณะนี้ คือ คนจนคือคนกลุ่มไหน ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดกลุ่มคนจนให้ชัดเจน เช่น คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น คนสูงอายุ และคนพิการ เป็นต้น

     “ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่การประกาศเป็นนโยบาย แล้วหาเงินมาใช้ เราต้องสร้างระบบที่สามารถรู้ความต้องการจริงของประชาชน โดยเข้าถึงประชาชนจริงๆ เพราะเราไม่สามารถจ่ายเงินให้คนเป็นโหลๆ หรือเป็นล้านๆคนได้ เราต้องให้เป็นรายๆไป ขณะที่เราก็ต้องมีองค์กรที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะด้วย เพื่อดูว่าใครควรจะได้” เขากล่าวและว่า การจัดสรรคูปองแก่คนจนของรัฐบาล จะต้องผ่านกระบวนการทางการเมืองมากกว่าผ่านระบบที่ถูกต้อง

ชี้คลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

     ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวให้คะแนนการทำงานของกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ให้คะแนนกระทรวงคมนาคมดีที่สุด เพราะเห็นความคืบหน้าในการทำงานในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ และ เซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นต้น ซึ่งกระทรวงนี้ ทางนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาดูแลโดยตรง กระทรวงที่ได้รางวัลชมเชย คือ กระทรวงพลังงาน ซึ่งรัฐมนตรีที่กำกับได้เดินตามนโยบายได้ดีมาก และไม่มีปมด้อย นโยบายไหนที่ดีก็เดินหน้า นโยบายไหนที่ไม่ดีก็แก้ไข ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมดีกว่ารัฐบาลเดิม แต่ยังสงสัยกับการขึ้นราคาน้ำตาลถึง 5 บาท ขณะที่กระทรวงไอซีที ให้คะแนนใช้ได้ เพราะสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ กิจการโทรคมนาคมก็คึกคัก

     ส่วนกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะดี แต่เป๋ในช่วงหลัง โดยการดำเนินนโยบายช่วงแรกถือว่าดี สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่มาเจอกับ 2 นโยบายหลัง คือ เรื่องของการแจกคูปอง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และการให้กรมธนารักษ์นำที่ดินมาแจกคนจน ซึ่งไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์อะไร ถึงมือใครกันแน่ หรือถึงคนที่จะหาเสียงในอนาคต

     "กระทรวงพาณิชย์นั้น ถือว่าสอบตก โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาข้าว ซึ่งเข้าไปยุ่งจนเละ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ดูไม่ออก และไม่มีผลงาน"

     เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มีนิมิตหมายที่ดี คือ การที่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นในรอบนี้ แต่ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นมากกว่า ทำให้รายได้ภาคเกษตรปรับขึ้นมากกว่ารายได้ภาคแรงงาน คนในชนบทจะมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ปัญหาขณะนี้ คือ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรลงเร็ว ซึ่งเข้าไปแก้ไขอำนาจเอกชนในการดึงราคาลง ถ้าทำได้ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่น่าจะลงเร็ว นอกจากนี้ ภาคราชการจะต้องเข้าไปมีบทบาทไม่ให้ภาคธุรกิจในกรุงเทพมหานครเข้าไปกระทบภาคธุรกิจในชนบท เช่น การเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อาชีพของคนท้องถิ่นหายไป

     สำหรับการให้ความเห็นของ ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขยับสูงถึงเลขสองหลัก เขากล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวมากกว่า 3.5% อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ได้ซึมเข้าไปในสินค้าทุกอย่างแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องปรับขึ้น

ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.