www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รับจำนำข้าววันแรก"หงอย" ชาวนา"เก้อ"เข้าคิวรอโรงสี

      นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมจุดเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้เปิดรับจำนำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. เป็นต้นไป ว่า โครงการนี้ ธ.ก.ส.ร่วมกับ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ( อ.ต.ก.) ร่วมมือกันรับจำนำข้าว และวันนี้เป็นวันแรกอาจจะมีปัญหาขลุกขลักบ้าง และสามารถเปิดรับจำนำได้เพียง 5 จุด โดย 2 จุดอยู่ที่ จ.นครปฐม และอีก 3 จุด อยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย และพิจิตร สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดที่บริเวณโรงสีอยุธยาไรซ์มิล

     อย่างไรก็ตาม คาดว่า 1-2 วันนี้ จะมีเกษตรกรมาจำนำตามสถานที่ต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้หลายหมื่นตัน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนด ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 14,000 บาท หากความชื้นสูงกว่านี้ ราคาจำนำจะลดหลั่นลงมา แต่เท่าที่สอบถามเกษตรกร ส่วนใหญ่พบว่า แม้ความชื้นสูงแต่เกษตรกรก็พอใจ เพราะได้ราคาเกิน 10,000 บาท/ตันขึ้นไป

     “ช่วงแรกอาจมีปัญหาบ้างเพราะจุดรับจำนำยังน้อยแต่เชื่อว่า 1-2 สัปดาห์ปัญหาจะน้อยลง เกษตรกรจะจำนำมากขึ้น โดยขณะนี้โรงสีเสนอร่วมโครงการ 298 โรง แต่ผ่านเกณฑ์พิจารณา 186 โรง และได้รับการอนุมัติ 119 โรง มีการทำสัญญา วางเงินค้ำประกันเพียงร้อยละ 40 ของปริมาณการรับจำนำของแต่ละโรงสี โดยแต่ละโรงสีจะวางเงินค้ำประกัน 10-20 ล้านบาท” นายธีรพงษ์ กล่าว

ธ.ก.ส.มั่นใจป้องกันทุจริตจำนำข้าวได้

     นายธีรพงษ์ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายมองว่า แม้รัฐบาลจะให้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่หลักในการรับจำนำข้าวเปลือกแทน กระทรวงพาณิชย์ แต่โดยข้อเท็จจริงทั้ง 3 หน่วยงาน ทำงานร่วมกันและวางกรอบรับจำนำค่อนข้างรัดกุม ดังนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาการรับจำนำครั้งนี้ หากเกิดการทุจริต จะเกิดขึ้น 3 ทาง คือ เกิดจากชาวบ้าน ใช้แนวทางไม่ถูกต้อง มีการสวมสิทธิ เกิดจากโรงสี และเกิดจากพนักงาน ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นได้ยากหาก 3 หน่วยงานได้วางกรอบการทำงานที่ดี

     ส่วนรูปแบบการรับจำนำหลังจากที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาจำนำ ทางกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองผู้ปลูกข้าวนาปรังปี 2551 เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นหลักฐานในการนำข้าวเปลือกไปฝากไว้กับโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับ อคส. จากนั้น อคส. จะออกใบประทวนสินค้า ให้เกษตรกรนำไปจำนำกับ ธ.ก.ส. แล้ว ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีใน 3 วัน มีระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 120 วัน หากราคาตลาดสูงกว่าราคาจำนำ ชาวนาสามารถมาไถ่ถอน โดย ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยไถ่ถอนไม่เกิน 3% และเพื่อป้องกันการเวียนเทียนจำนำ ธ.ก.ส.ได้กำหนดชัดเจนว่า ให้แบ่งกองข้าวเปลือกใหม่และเก่าให้เห็นชัดเจน

ชาวนาตากผิดหวังโรงสีไม่พร้อมรับจำนำ

     ส่วนการรับจำนำข้าวที่ จ.ตากวานนี้ ปรากฏว่า มีชาวนามาเข้าคิวรอรับจำนำกับโรงสีข้าว ทั้งหมด 9 แห่ง แต่ต้องผิดหวัง เพราะ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ไม่มีความพร้อม และไม่ได้ว่าจะให้โรงสีใดเป็นสถานที่รับจำนำข้าวในพื้นที่ เนื่องจากยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ ว่าโรงสีใดที่มีประวัติการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และจะกำหนดให้เป็นสถานที่รับจำนำข้าวได้หรือไม่

     นายกิตติศักดิ์ ศรีสุนทร ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาตาก กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. สาขาตาก ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการรับจำนำข้าวนาปรังได้ เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องเรื่องเอกสารยืนยันจากกระทรวงพาณิชย์ว่าจะให้โรงสีใดในพื้นที่ จ.ตากทั้งหมด 9 แห่งเปิดรับจำนำข้าวจากเกษตรกรได้บ้าง เพราะต้องตรวจสอบประวัติ และรายละเอียดว่าโรงสีได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ คาดว่าจะวันนี้ (16 มิ.ย.) จึงจะเปิดให้เกษตรกรเข้ามาจำนำข้าวได้

     ส่วนราคาข้าวรับจำนำเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด โดยราคาข้าวเปลือกจ้าว ที่ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 14,000 บาท ส่วนข้าวที่มีความชื้นสูงอาจจะมีราคาลดลงมา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าข้าวนาปรังที่ชาวนามาจำนำไว้ ชาวนาอาจจะไม่มาไถ่ถอนตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะราคาสูงกว่าท้องตลาดที่เอกชนรับซื้อ

พิษณุโลกเริ่มรับจำนำวันแรก 17 มิ.ย.นี้

     นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จ.พิษณุโลกไม่สามารถเปิดจุดรับจำนำได้ทันวันแรกตามที่รัฐบาลประกาศเริ่มรับจำนำข้าววันที่ 15 มิ.ย. เพราะระยะเวลาเตรียมตัวค่อนข้างสั้น ธ.ก.ส. และคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัดมีเวลาเตรียมการวันเดียว และติดปัญหาโรงสีเข้าร่วมโครงการจำนวน 13 แห่ง แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสมาคมโรงสี จึงคาดว่าจะเปิดรับจำนำข้าวได้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

     นายสุรินทร์ อินจง ประธานกลุ่มเกษตรกรทำไร่ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ช่วงนี้เกษตรกรยังไม่เก็บเกี่ยวข้าว เพื่อรอดูการเปิดจุดรับจำนำข้าวของรัฐบาลก่อน หากเริ่มเปิดรับจำนำแล้วและราคาข้าวเปลือกทั่วไปขยับสูงขึ้น ชาวนาก็มีสิทธิเลือกว่าจะจำนำ หรือขายข้าวให้โรงสีไปเลย นอกจากนี้ ช่วงนี้ที่พิษณุโลกมีฝนตกชุกมากหากเกี่ยวช่วงนี้ข้าวจะมีความชื้นสูงมากอาจถึง 30% และคงไม่ได้ราคาจำนำตันละ 14,000 บาทแน่นอน

"ประดิษฐ์"ยันโครงการรับจำนำไม่เหลว

     วานนี้ (15 มิ.ย.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดจุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ณ โรงสีสิงโตทองไรซ์อินเตอร์เทรด เป็นวันแรก มีเกษตรกรใน จ.พิจิตรนำข้าวเปลือกมาจำนำกว่า 30 ราย จำนวนข้าวเปลือกกว่า 500 ตัน โดยมีรัฐมนตรี 10 คนคอยมาดูแลโครงการทุกจังหวัด เพื่อป้องกันการทุจริตต่างๆ หรือสวมสิทธิชาวนา

     ทั้งนี้มีจังหวัดเปิดโครงการรับจำนำข้าววันแรก 7 จังหวัดได้แก่ พิจิตร ชัยนาท สุโขทัย อยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี นครสวรรค์ โดยจะทยอยเปิดจุดรับจำนำข้าวให้ครบกว่า 100 จุดทั่วประเทศใน 2 อาทิตย์ ซึ่งโครงการรับจำนำจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกษตรกรได้ราคาข้าวเปลือกราคา 14,000 บาทต่อตันก่อนหักความชื้นตามที่รัฐบาลประกาศไว้

     "ต้องขอร้องทุกหน่วยงานให้ร่วมมือกัน และต้องเห็นใจทางโรงสีเพราะที่ผ่านมาถูกต่อว่า มีทั้งโรงสีที่ดีและไม่ดี แต่อยากให้ร่วมใจกันเพราะภาวะช่วงนี้ก็ต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย ดังนั้นโครงการรับจำนำข้าวนาปรังของรัฐบาลชุดนี้ ที่หลายฝ่ายออกมาตำหนิว่าเป็นโครงการล้มเหลว ไปไม่รอด ผมมั่นใจและเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน" นายประดิษฐ์ กล่าว

สั่งสกัดกลุ่มโรงสีที่มีปัญหาฉ้อโกง

     ส่วนโรงสีที่เคยใช้ชื่อชาวนาสวมสิทธิขายข้าวนั้น เรื่องนี้ได้สั่งให้จังหวัดจัดกลุ่มโรงสีที่มีปัญหาไม่ให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโรงสีที่มีปัญหามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาฉ้อโกงชาวนา ต้องดำเนินการตามกฎหมาย กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ไม่มีปัญหาฉ้อโกง แต่มีปัญหาข้าวไม่มีคุณภาพ โดยทั้ง 2 กลุ่มขณะนี้จังหวัดได้ประสานกระทรวงพาณิชย์ไม่ให้เข้าร่วมโครงการ แต่ถ้าจะเข้ามาร่วมก็ต้องตรวจสอบและจัดระบบงานให้ดี แต่โรงสีที่มีปัญหาฉ้อโกงมาก ก็คงไม่อนุมัติเข้าร่วมโครงการ

     "วันนี้นายกรัฐมนตรี จะเสนอ ครม.ให้รัฐมนตรีรับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวทุกพื้นที่ แบ่งจังหวัดรับผิดชอบ 10 กว่าท่าน เพื่อให้ถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"

ชาวนาสุโขทัยจำนำข้าวไม่กี่ราย

     ส่วน จ.สุโขทัย โรงสี 2 แห่ง ใน อ.กงไกรลาศ ที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่มาดูแล และตรวจสอบหลักฐานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนาปรัง ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ก่อนรับจำนำข้าว เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ ปรากฏว่ามีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำไม่กี่ราย และข้าวส่วนใหญ่มีความชื้นสูงเกิน 30% เนื่องจากเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยว เพราะเกรงว่าฝนตกชุกช่วงนี้จะทำให้ข้าวเสียหายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงสีจะให้ราคาตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด โดยความชื้นที่ 15% ราคาตันละ 14,000 บาท ส่วนความชื้น 30% ที่ตันละ 10,745 บาท ซึ่งชาวนาพอใจในราคาที่ได้รับ และคาดว่า เกษตรกรจะนำข้าวมาขายมากขึ้น หากไม่มีฝนตก

โรงสีกรุงเก่าเปิดรับจำนำแค่โรงเดียว

     วานนี้ นายณัฐพงษ์ ศักดิ์เจริญ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สาขาพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วันแรกมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำประมาณ 500-1,000 ตัน ส่วนราคาโรงสีพิจารณาตามสภาพความชื้นของข้าว เกษตรกรหลายคนอาจไม่พอใจกับราคาที่ต่างจากที่แจ้งไว้ที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโรงสีเข้าร่วมโครงการประมาณ 13 แห่ง แต่ในวันแรกมีเพียงแห่งเดียว เนื่องจากหลายแห่งยังลังเลในเรื่องของความชัดเจนในเรื่องของค่าแปรสภาพและเงินประกัน

     นายยงยุทธ ไตรศัพท์ นายกสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรับจำนำข้าวในวันแรกว่า เหตุที่มีโรงสีรับจำนำข้าวน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ยังลังเลในข้อกำหนดของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ำประกัน อัตราแปรสภาพ ระยะเวลาแปรสภาพ ซึ่งหากรัฐยังแก้ไม่ได้เดือนหน้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีข้าวเกี่ยวอีกนับแสนตัน จะต้องเกิดปัญหา เนื่องจากโรงสีไม่รับจำนำข้าว ก็จะทำให้เกษตรกรประสบความเดือดร้อน ส่วนเรื่องที่เกษตรกรได้เงินไม่เท่ากันนั้น เนื่องจากโรงสีพิจารณาตามสภาพความชื้น ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าข้าวที่เข้าโครงการมีความชื้นสูงมาก จึงทำให้เกษตรกรได้เงินไม่เป็นไปตามที่คิดเอาไว้

พาณิชย์เตือนพ่อค้าสวมสิทธิจำนำ

     รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หน่วยงานที่ดูแลโครงการดังกล่าวต้องระวังเรื่องตรวจสอบข้าวที่เข้าโครงการว่าเป็นข้าวชาวนาจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก่อนโครงการรับจำนำเปิดจะพบว่าชาวนาได้ขายข้าวส่วนใหญ่ ให้โรงสีและพ่อค้าไปแล้ว ทำให้ผู้ที่จะจำนำอาจเป็นกลุ่มพ่อค้าและโรงสี มากกว่าชาวนาจริง

     "ข้าวนาปรังทยอยออกมาตั้งแต่ เดือน เม.ย.จนถึงปลาย พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวค่อยๆ ลดลง และชาวนาได้ขายข้าวให้โรงสีหรือพ่อค้าไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นขณะนี้ข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้ามากกว่า จึงเป็นห่วงว่าคนที่จะนำข้าวมารับจำนำอาจเป็นโรงสี หรือพ่อค้าที่ซื้อข้าวราคาถูกไว้ก่อนหน้านี้ และนำมาเข้าโครงการที่ราคาสูงตันละ 1.4 หมื่นบาท ทำให้คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ชาวนา" แหล่งข่าวระบุ

"ยรรยง"ชี้ความชื้นน้อยสวมสิทธิแน่

     นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การตรวจสอบข้าวที่นำมาจำนำ เป็นของชาวนาหรือไม่ คงทำได้ยาก เพราะจะมีการจ้างชาวนาให้นำข้าวมาเข้าโครงการฯ หรือหากตรวจได้ว่า มีการสวมสิทธิ ก็จะอ้างว่าเป็นข้าวที่ฝากเก็บไว้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าชาวนาจะร่วมมือสวมสิทธิหรือไม่ ทั้งนี้แนวทางตรวจสอบเบื้องต้น คือ การตรวจความชื้นข้าว หากเป็นข้าวจากชาวนาจะมีความชื้นสูง แต่ถ้าเป็นข้าวของโรงสีและนำมาสวมสิทธิ จะมีความชื้นต่ำ เพราะเก็บรักษาในที่แห้ง หรือผ่านการอบมาแล้ว

     "ในความเป็นจริงตรวจสอบยากมาก ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่า ชาวนาจะสมยอมกับโรงสีหรือพ่อค้าให้มาสวมสิทธิหรือไม่ เพราะบางทีจับได้ถ้าชาวนาบอกว่า เป็นเจ้าของข้าวจริง แต่ที่อยู่กับโรงสีก็เพราะไปฝากเก็บไว้ก็ทำอะไรไม่ได้" นายยรรยง กล่าว

     ส่วนการตรวจสอบสต็อกข้าวรัฐยอมรับว่า ข้าวที่ฝากเก็บไว้กับโรงสี ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2551 ปริมาณ 50,303,691.170 กก. เป็นข้าวในกลุ่มที่เสี่ยงจะสูญหาย เพราะอยู่ในพื้นที่เอกชน แม้จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ อคส.เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง แต่เอกชน ผู้รับฝากข้าวก็มีสิทธิเข้า- ออก โกดังได้ตลอดเวลา ทำให้การเฝ้าระวังเป็นไปได้ยาก สำหรับข้าวในโกดัง อคส. จำนวน 1.9 ล้านตันนั้น รัฐสามารถเฝ้าระวังเต็มที่ จึงไม่น่าห่วงเรื่องข้าวหาย หากเกิดเหตุผิดปกติให้รายงานผู้บังคับบัญชาทันที และให้ อคส.ในฐานะคู่สัญญาการเช่าพื้นที่โกดังเก็บข้าว ขออำนาจศาลอายัดข้าวทั้งหมดจนกว่าจะตรวจสอบปริมาณข้าวที่มีอยู่

ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.