แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้โรงสีทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนกระสอบป่านเพื่อใช้บรรจุข้าวสารส่งมอบข้าวเข้าโกดังกลาง
ทั้งนี้เนื่องจากโครงการจำนำข้าวนาปรังรัฐบาลได้สั่งแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารพร้อมกันทั่วประเทศ และสั่งแปรทุกๆ สัปดาห์จึงทำให้โรงสีมีความจำเป็นต้องใช้กระสอบพร้อมกัน ขณะที่โรงงานผลิตซึ่งมีอยู่เพียง 3 แห่งคือโรงงานกระสอบปากช่อง โรงงานกระสอบแหลมทอง และโรงงานกระสอบสหธัญพืช ผลิตป้อนให้ไม่ทัน
นอกจากนี้ราคากระสอบยังได้ปรับสูงขึ้นจากใบละ 34 บาทเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ขึ้นมาเป็นใบละ 37 บาท อย่างไรก็ดีราคาที่แพงขึ้นไม่ถือว่าเป็นปัญหามาก หากแต่การสั่งซื้อแล้วได้รับมอบช้าเป็นปัญหามากกว่า เพราะทำให้โรงสีไม่มีกระสอบบรรจุข้าวหลังจากที่ได้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่าในเบื้องต้นผู้ประกอบการโรงสีได้มีการเจรจากับโรงงานผู้ผลิตกระสอบทั้ง 3 แห่ง หากผลิตให้ไม่ทันให้ดำเนินการนำเข้ากระสอบป่านจากต่างประเทศ เพราะว่าล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มปริมาณจำนำนาปรังอีก 1 ล้านตัน ถึงสิ้นเดือนกันยายน ขณะเดียวกันจะมีโครงการจำนำข้าวนาปีปีการผลิต 2551/52 ที่เริ่มในเวลาต่อเนื่องกันคือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ศกนี้เป็นต้นไป หากไม่มีการนำเข้ามาจะมีปัญหาการแปรสภาพข้าวอย่างแน่นอนเพราะโรงสีไม่มีกระสอบบรรจุ
“ปัญหาขาดแคลนกระสอบมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาหลายแนวทางด้วยกันอาทิ ให้ใช้กระสอบพลาสติกขนาดบรรจุ 1,000 กิโลกรัม แต่ข้อเสนอนี้จะมีปัญหาเวลาขนย้ายข้าวเข้าโกดังกลางจะไม่สะดวก
ส่วนกระสอบป่านที่จะนำเข้าจากต่างประเทศต้องดูอีกทีว่าคุณสมบัติเหมือนกับในประเทศและภาครัฐยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างผู้นำเข้าเจรจารายละเอียดกับต่างประเทศอยู่ หากมีข้อสรุปผลออกมาอย่างไรจะได้นำหารือกับภาครัฐอีกครั้งหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรเชื่อว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะมิฉะนั้นข้าวนาปรังและข้าวนาปีจะไม่มีกระสอบบรรจุ"
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้ในส่วนของผู้ส่งออกเริ่มมีการเคลื่อนไหวออกมาซื้อข้าวจากโรงสีบ้างแล้ว แต่ยังไม่คึกคักคาดว่าผู้ส่งออกจะดูท่าทีการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล เพราะจะต้องมีการระบายออกเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนรับจำนำข้าวนาปี เนื่องจากธ.ก.ส.เตรียมงบจำนำข้าวไว้เพียง 40,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายจำนำข้าวนาปีของรัฐบาล 8 ล้านตัน ต้องใช้งบสูงกว่า 100,000 แสนล้านบาท ส่วนที่เกินจาก 40,000 ล้านบาท รัฐบาลต้องจัดหา
ทั้งนี้การออกมาซื้อข้าวของผู้ส่งออกช่วงนี้ มีการเสนอซื้อกระสอบละ 2,100-2,200 บาท คาดว่าจะเป็นการซื้อเพื่อส่งมอบญี่ปุ่นที่มีเปิดประมูลซื้อเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนจำนวน 41,000 ตัน และจะมีการเปิดประมูลอีกครั้ง 25,000 ตัน วันที่ 17 กันยายน ศกนี้ ขณะเดียวกันมีโบรกเกอร์เจรจาซื้อข้าวจากภาคเอกชนไทยจำนวน 300,000 ตันเพื่อส่งมอบอิหร่าน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |