www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อียูพบข้าวไทยเปื้อนสารก่อมะเร็ง พาณิชย์จี้ผู้ส่งออกคุมเข้มคุณภาพ


      รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ตรวจสอบสารอฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในข้าวกล้องหอมมะลิของไทยที่ส่งออกไปยังสวีเดน ในระดับที่เกินกว่าค่าอนุโลมไว้สูงสุด จึงได้เรียกคืนสินค้าออกจากท้องตลาด อีกทั้งยังได้ออกประกาศเตือนในระบบเตือนภัยอาหารและอาหารสัตว์แล้ว ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญตลาดหนึ่งของข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ และปริมาณการส่งออกข้าวไทยในอนาคต กระทรวงพาณิชย์จึงขอให้ผู้ส่งออก ระมัดระวัง ไม่ให้มีสารปนเปื้อนในข้าวที่ส่งออกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกต่อไป

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า สมาคมยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้ว ข้าวไทยจะไม่มีสารอฟลาท็อกซินเลย กรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการขนส่ง จากเขตอากาศร้อนไปยังอากาศหนาว ทำให้ข้าวมีความชื้นเพิ่มขึ้น หรือมีเหงื่อออก หากจัดการไม่ดีปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นเชื้อราได้ หรืออีกกรณีหนึ่งอาจเป็นไปได้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ หรือเรือที่ใช้บรรทุกข้าวไม่สะอาดพอ

     “ผู้ส่งออกไทยระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน หรือสิ่งปลอมปนอยู่แล้ว เพราะหากเกิดอะไรขึ้นก็จะมีปัญหา และกระทบต่อการส่งออกได้ แต่กรณีนี้ต้องสอบถามข้อเท็จจริงจากสมาชิกก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นข้าวของบริษัทใด แต่ได้เตือนสมาชิกให้ระมัดระวังคุณภาพข้าวที่ส่งออกให้มากขึ้น เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นอีก” นายชูเกียรติ กล่าว

     นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า ขณะนี้ อียูพบสารปนเปื้อน และสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรที่ส่งออกจากไทยเป็นจำนวนมาก และพบแทบจะทุกสัปดาห์ ทั้งใบโหระพา ใบสะระแหน่ ใบกะเพรา ผักชี เป็นต้น จึงอยากเตือนให้ผู้ส่งออกปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการส่งออกได้

     “ปัจจุบันอียูนำเข้าสินค้าใบโหระพา ผักชี เป็นจำนวนมาก แต่ก็พบสารตกค้างจำนวนมากเช่นกัน จนต้องปฏิเสธการนำเข้า จึงอยากให้ผู้ส่งออกปรับปรุงคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก กรณีนี้จะโทษผู้ผลิต หรือเกษตรกรไม่ได้ เพราะเกษตรกรไม่ทราบว่า สินค้าที่ตนผลิตจะถูกนำไปส่งออก เพราะผู้ส่งออกจะซื้อสินค้าจากตามตลาดแล้วแพ็คส่งออก ไม่ใช่เป็นระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพให้ได้มาตรฐานของอียูเสียก่อน” นางศิรินารถ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.