นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกไปต่างประเทศ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เวียดนามเข้าร่วมเสนอราคาแข่งกับไทยในปริมาณ 200,000 ตัน ด้วยราคา C&F (รวมต้นทุนในการส่งออกและค่าระวาง) สูงถึง 715-745 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าไทยที่เสนอราคาประมูลข้าวไป 150,000 ตันในราคา C&F 680-690 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมสู้ราคา รับซื้อข้าวจากทั้งสองประเทศ ปริมาณ 350,000 ตัน ทั้งที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายที่ราคา FOB ที่ 530-540 เหรียญสหรัฐต่อตัน และฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลส่วนที่เหลืออีกครั้งเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าปีนี้ฟิลิปปินส์น่าจะประมูลข้าวทั้งหมด 1.6 ล้านตัน แต่ในจำนวนนี้จะซื้อจากสหรัฐในโครงการสินเชื่อประมาณ 2 แสนตันด้วย
ประมูลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เวียดนามชนะประมูลไปด้วยราคา 350-380 เหรียญสหรัฐ และขยับเป็น 470 เหรียญสหรัฐ แม้ว่าราคาจะขยับสูงขึ้น แต่เวียดนามยังขาดทุนเพราะไม่มีสินค้า ในการประมูลครั้งนี้ไทยและเวียดนามไม่ได้คุยกันเรื่องราคาเลย ราคาออกมาต่างกันมาก หากคิดเป็นราคา FOB แล้ว เท่ากับว่าเวียดนามเสนอขายข้าวในราคา 670-700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าตั้งราคาเผื่อไว้และชดเชยส่วนที่ประมูลไปก่อนแล้วขาดทุนไปถึง 4-5 แสนตัน ส่วนไทยเสนอขายข้าวในราคา FOB 640-650 เหรียญสหรัฐต่อตัน
การประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์ ทำให้ราคาข้าวในประเทศของไทยพุ่งขึ้นทันที หลังจากทราบข่าว โรงสีหลายแห่งรีบเดินทางเข้าไปในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตจังหวัดทางภาคกลาง เพื่อเร่ง "จองซื้อ" ข้าวนาปรังที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทั้งนี้คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะมีประมาณ 6 ล้านตันข้าวเปลือก (3 ล้านตันข้าวสาร) ซึ่งจะเพียงพอส่งออกแค่ 3 เดือนหากส่งออกเดือนละ 1 ล้านตันต่อเนื่องอย่างนี้ เพราะมีการส่งออกในปริมาณเฉลี่ย 1 ล้านตันติดต่อกันมา 5 เดือนแล้ว
"สถานการณ์สต๊อกข้าวในมือของผู้ส่งออกขณะนี้ลดลงมากน่าจะเหลือเพียง 1 ล้านตันเศษ เพราะการรับออร์เดอร์ส่วนใหญ่จะรับล่วงหน้า บางรายรับไม่กี่หมื่นตันก็ยังหาข้าวยาก เพราะเพียงแค่ 2 สัปดาห์ที่รับออร์เดอร์ล่วงหน้า ขาดทุนไป 30-40 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะนี้ผู้ส่งออกไม่กล้ากำหนดราคา เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาข้าวขาด หลังจากฟิลิปปินส์ยอมซื้อข้าวในราคาสูงลิบลิ่ว และการสั่งตรวจสอบสต๊อกข้าวรัฐบาล จะทำให้ซัพพลายข้าวในตลาดหายไปหมด เพราะข้าวในสต๊อกจำนวนหนึ่งหายไป ทำให้ต้องพยายามซื้อชดเชยกลับไป มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดวิกฤตข้าวถึงขนาดที่ประชาชนต้องยืนต่อแถวซื้อข้าว และภาครัฐอาจจะต้องใช้แนวทางกำหนดเพดานราคาส่งออก หรือโควตาส่งออกมาช่วย" แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีระบุ
สอดคล้องกับที่นายวิชัย ศรีประเสริฐ ประธาน บริษัท ไรซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่า ราคาข้าวจะสูงติดต่อกันหลายปี มีโอกาสถึง 1,000 เหรียญสหรัฐแน่นอน โดยเฉพาะราคาในประเทศต้องสูง เพราะหากราคาในประเทศปรับเพิ่มในสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาส่งออก จะทำให้ข้าวไหลออกต่างประเทศมากกว่า
สำหรับผู้ส่งออกข้าวไทยที่ชนะประมูลเพื่อส่งข้าว 25% ให้ฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย บริษัทไทยฟ้า 19,000 ตัน ราคา 685 เหรียญสหรัฐ, ข้าวไชยพร 45,000 ตัน ราคา 697.50 เหรียญสหรัฐ, เอเชีย โกลเด้น ไรซ์ 15,000 ราคา 683 เหรียญสหรัฐ, นครหลวงค้าข้าว (ผ่านบริษัท TOEFFER) 26,500 ตัน ราคา 703 เหรียญสหรัฐ, และแดวู ( เกาหลี) 20,000 ตัน ราคา 703 เหรียญสหรัฐต่อตัน คาดว่าจะใช้ข้าวจากบริษัทนครหลวง และเอเชียฯ ส่วนข้าว 5% มีที่ได้คือ บริษัท TOEFFER 10,000 ตัน ราคา 723 เหรียญสหรัฐ, แดวู 5,000 ตัน ราคา 705 เหรียญสหรัฐ
รายงานข่าวจากวงการค้าข้าว ระบุว่า ภายหลังจากอินเดียกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวที่ตันละ 650 เหรียญสหรัฐต่อตัน ได้ส่งผลให้ปริมาณความต้องการข้าวนึ่งจะพุ่งมาที่ไทยมากขึ้น เพราะโดยปกติอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ปริมาณเฉลี่ย 3 แสนตันต่อเดือน เฉพาะตลาดแอฟริกา แต่ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวนึ่งไทยกำลังประสบปัญหา เนื่องจากข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตข้าวนึ่งหาซื้อไม่ได้ โดยผู้ส่งออกรายหนึ่งต้องแย่งกำหนดราคาซื้อสูงถึง 1,880 บาทต่อกระสอบ แต่โรงสีไม่ยอมจำหน่ายให้
นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กมลกิจ จำกัด กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่รับออร์เดอร์ล่วงหน้าไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ขาดทุน 3,500 บาทต่อตัน เพราะแต่ละรายจะมีข้าวในสต๊อกก่อนรับออร์เดอร์ 60-70% ทำให้ต้องซื้อข้าวเพิ่ม แต่ราคาข้าวเดือนธันวาคม ถึงตอนนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1,200 เป็น 1,900 บาทต่อกระสอบ หรือ 7,000 บาทต่อตัน เมื่อต้องซื้อเพิ่มอีก 50% จากสต๊อก ทำให้ขาดทุน 3,500 บาทต่อตัน
ดังนั้น ในส่วนของผู้ส่งออกข้าวนึ่งคือมีเงินซื้อข้าวแต่ไม่มีข้าว แม้ว่าอินเดียจะงดส่งออก ก็ไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่มีสินค้า ตอนนี้ต้องเจรจาต่อรองกับลูกค้า เพื่อขอยกเลิกสัญญา หรือชดเชยเป็นเงินแทน หรือขอปรับราคาขายใหม่ ซึ่งต้องอยู่ที่การตัดสินใจของลูกค้า หากไม่ยอมหรือหาข้าวไม่ได้จริงๆ ต้องฟ้องร้องกันต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|