www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ตลาดตื่นประมูลข้าวราคาพุ่ง 900 ดอลล์/ตัน


      นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้ (17 เม.ย.) ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวขาว 5 แสนตัน โดยเป็นข้าวขาว 25% ปริมาณ 4 แสนตัน ข้าวขาว 5% ปริมาณ 5 หมื่นตัน ข้าวขาว 15% ปริมาณ 5 หมื่นตัน โดยผู้ส่งออกไทย 4-5 ราย เช่น บริษัทพงษ์ลาภ บริษัทไทยฟ้า บริษัทนครหลวงค้าข้าว บริษัท ไทยมาพันธุ์ บริษัทเอเชียโกลเด้น ไรซ์ เข้าร่วมประมูล

     “ราคาที่ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลวันนี้ คาดกันว่าอย่างน้อยจะสร้างฐานราคาข้าวขาวใหม่ที่ 900 ดอลลาร์ต่อตัน จากงวดก่อนในเดือนมี.ค.เวียดนามเสนอราคา 715 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ผู้ส่งออกไทยเสนอ 650 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเสนอราคาสูงกว่าไทย" นายชูเกียรติ กล่าว

ชี้อิหร่านเข้าตลาดเดือนพ.ค.ดันราคาพันดอลล์

     นอกจากนี้สถานการณ์ราคาข้าว โดยเฉพาะข้าวขาวจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในเดือนพ.ค.นี้ อิหร่านจะเข้ามาเล่นในตลาดข้าวมากขึ้น ทำให้ราคาจะพุ่งไปถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน แม้ข้าวนาปรังของไทยจะออกสู่ตลาดทำให้ราคาอ่อนตัวลงมาบ้าง แต่เชื่อว่าราคาจะไม่อ่อนตัวมาก

     นายชูเกียรติ กล่าวว่า ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นมากและต่อเนื่องนั้น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องปรับวิธีการค้าใหม่ จากเดิมรับออเดอร์ก่อนซื้อข้าวส่งออก ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมาก เพราะไปรับออเดอร์ราคาหนึ่ง แต่ต้องซื้อข้าวราคาสูงขึ้น ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องซื้อข้าวมาเก็บไว้ก่อนอย่างน้อย 40-50% จึงจะสามารถรับออเดอร์ได้เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

คาดเม.ย.นี้ส่งออกได้ 6-7 แสนตัน

     “แต่ก่อนรับออเดอร์ก่อนไล่ซื้อข้าว แต่ก็เจ็บตัวกันมากตั้งแต่เดือนก.พ.เป็นต้นมา ต้องปรับใหม่ซื้อข้าวก่อน ขายทีหลัง ผู้นำเข้าซื้อได้ก็ขายให้ ซึ่งสถานการณ์ที่ผู้ส่งออกไม่กล้าเข้าไปลุยตลาดข้าวเช่นนี้ทำให้การส่งออกชะลอตัวลงโดยอัตโนมัติ รัฐบาลไม่ต้องมีมาตรการออกมาจัดการแต่อย่างใด”

     นายชูเกียรติ ประเมินว่า การส่งออกข้าวในเดือนเม.ย.ของไทย จะอยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณการส่งออกปกติ ต่างจากไตรมาสแรกที่ส่งออกเดือนละ 1 ล้านตันต่อเนื่อง จากการที่ผู้ส่งออกปรับวิธีการในการค้าข้าวใหม่

คต.ยันราคาข้าวปรับฐานใหม่

     นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกข้าวในเดือนเม.ย.ช่วง 10 วันแรก มีปริมาณประมาณ 2 แสนตัน คาดว่าทั้งเดือนจะอยู่ระดับ 6-7 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการห้ามส่งออกมารองรับ เพราะสถานการณ์เข้าสู่ปกติ

     “เราดูแลตลอด จึงไม่ต้องห้ามส่งออก เพราะทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศผู้ส่งออกข้าว เสียความรู้สึกกับลูกค้า เมื่อก่อนต้องไปวิ่งขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่พอราคาแพง ข้าวไม่พอกิน เรากลับมาห้าม ก็ไม่สมควรทำ แค่ดูแลให้ในประเทศข้าวไม่ขาด ซึ่งประเมินแล้วไม่มีปัญหานี้แน่” นางอภิรดี กล่าว

     นางอภิรดี กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวภายหลังจากนี้ เชื่อว่าราคาจะไม่อ่อนตัวลงมา เหมือนกับในอดีต โดยเป็นการปรับฐานราคาข้าวครั้งใหญ่ หลังจากตลาดเป็นของผู้ซื้อมานาน กลับกลายเป็นตลาดของผู้ขาย

     “ก่อนหน้านี้ราคาข้าวถูกกดมาตลอด แต่ครั้งนี้กลับสูงขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ในอนาคตหากตัวแปรไม่เปลี่ยนมาก เชื่อว่าราคาจะไม่ลดลงมาก เพราะปัจจัยการผลิตต่างๆ ปรับขึ้นไปแล้ว" นางอภิรดี กล่าว

"มิ่งขวัญ" ชี้ราคาข้าวฟื้นเศรษฐกิจ

     นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ ไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะข้าว เพราะประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศที่แปรปรวน จนต้องห้ามการส่งออก ส่งผลให้ทั่วโลกต้องการข้าวไทยเป็นอย่างมาก และทำให้ราคาข้าวสารส่งออกไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะนี้ข้าวหอมมะลิตันละ 34,600-36,000 บาท ข้าวขาว 5% ตันละ 26,400-26,700 บาท ขณะที่เกษตรกรขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้ตันละ 17,500-18,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้าตันละ 11,500-15,000 บาท และเชื่อว่าราคาข้าวที่สูงขึ้นจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ได้

     ทั้งนี้ สหประชาชาติประกาศแล้วว่า โลกจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร โชคดีที่ไทยยังมีพื้นที่ปลูกอยู่ จึงเป็นโอกาสที่จะเป็นเศรษฐีจากการขายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะชาวนาทั้งประเทศ 17-20 ล้านคน เมื่อขายข้าวได้ราคาดีจะมีรายได้มากขึ้น เกิดความเชื่อมั่นจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าตามพื้นที่ปลูกข้าวขายดีมาก ซึ่งคาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจถึง 4 รอบ ถือว่าปีนี้ ราคาข้าว รวมถึงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่สูงขึ้นจะเป็นตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นได้

เผย 3 เดือนแรกส่งออก 3.26 ล้านตัน

     "ในฐานะดูแลเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่เริ่มนโยบายพักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล และฟื้นโอท็อปกลับมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ทั้งราคาข้าวและสินค้ารายการอื่นรวมทั้งผลไม้ที่จะเข้าสู่ตลาด ราคาจะสูงขึ้นทุกตัว ซึ่งผมกำลังทำแผนอยู่ เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาได้โดยเร็ว" นายมิ่งขวัญ กล่าว

     ส่วนการส่งออกไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้นั้น สามารถส่งออกได้แล้ว 3.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 66.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.96 ล้านตัน และยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่ห้ามการส่งออก ยังคงปล่อยให้ส่งออกได้โดยเสรี แต่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และในปีนี้ต้องการให้ส่งออกได้ประมาณ 9 ล้านตัน หรืออาจมากกว่านั้น แต่ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 9.55 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ต้องการส่งออกมากกว่านี้ เพราะต้องการให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

สั่งอภิรดี-ผู้ส่งออกเดินสายสร้างความเชื่อมั่นลูกค้า

     ทั้งนี้ ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ตนได้สั่งการให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นำคณะสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เดินทางไปฮ่องกง มาเก๊า จากนั้นจะไปสิงคโปร์ และจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ แต่ละปีนำเข้ารวมกันเกือบ 1 ล้านตัน เพื่อไปเยี่ยมลูกค้า และยืนยันสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่า ไทยจะยังคงส่งออกเหมือนเดิม ไม่ห้ามการส่งออกเหมือนอย่างที่ผู้นำเข้ากังวล รวมถึงจะสำรวจปริมาณความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยด้วย เพื่อทำให้การส่งออกเหมาะสมกับปริมาณข้าวที่ไทยมีอยู่

     “ที่เราจะไปต่างประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จะไปเยี่ยมลูกค้า ไปถามสารทุกข์สุกดิบ และบอกเขาว่า เราไม่ได้ห้ามส่งออก ยังส่งออกเหมือนเดิม ลูกค้าเก่าสบายใจได้ ถ้าเราห้ามการส่งออกจะลำบาก เพราะอาจเสียฐานลูกค้าไปได้ ซึ่งผมได้บอกผู้ส่งออกด้วยว่า เวลาราคาข้าวขึ้นก็อย่าขูดเลือดลูกค้ามากนัก เอากำไรแต่พอดี และสมเหตุสมผล อย่าฉวยโอกาส แต่เชื่อว่า ลูกค้าคงเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้” นายมิ่งขวัญกล่าว

ชี้ปีทองของชาวนาให้ทยอยขายข้าว

     นายมิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า สำหรับชาวนา ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.นี้ ที่ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2551 กำลังจะออกสู่ท้องตลาดอีกกว่า 4 ล้านตัน อาจทำให้ราคาผันผวนบ้าง แต่ขอเตือนว่า อย่าขายข้าวทั้งหมด ขอให้เก็บไว้กินเองบ้าง และการจะทำนาปรังครั้งต่อไป ขอให้สำรวจปริมาณน้ำให้ดี หากเกิดภาวะแล้งก็จะได้รับความเสียหาย ซึ่งปีนี้เป็นปีทองของชาวนา เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ออกมาให้ทยอยขายออกไปในราคาที่พอใจ

     ส่วนเรื่องปุ๋ย ตนต้องการให้ชาวนาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วย และกระทรวงพาณิชย์จัดปุ๋ยลดราคาให้ 200-1,000 บาทต่อตันในปริมาณ 1.4 แสนตัน ช่วยบรรเทาปัญหาให้กับชาวนาได้บ้าง

     ขณะที่ในส่วนของบริโภค ขอยืนยันว่า คนไทยมีข้าวกินอย่างเพียงพอแน่นอน แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นบ้าง ซึ่งไม่มากเพียง 3 บาทต่อหนึ่งอิ่ม ส่วนข้าวในสต็อกรัฐ 2.1 ล้านตันจะเก็บไว้เพื่อความมั่นคง และจะรอจนกว่าผลผลิตข้าวนาปีปี 2550/2551 จะออกสู่ท้องตลาด จึงจะเริ่มระบายข้าวในสต็อกรัฐ

     นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ติดตามกรณีที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ลดกำไรหลังร้าน ที่เรียกเก็บจากผู้ผลิตข้าวถุง และร่นระยะเวลาชำระเงินค่าข้าวถุงให้กับผู้ผลิตลงเหลือ 30 วันจากเดิม 60-180 วัน และตรวจสต็อกข้าวถุงของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ด้วยว่าเพียงพอ และผู้ผลิตส่งข้าวถุงให้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่

ราคาตลาดสิงคโปร์พุ่งขึ้น 2 เท่

     ราคาข้าวล่วงหน้า ตลาดชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรด (ซีบีโอที) ซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตลาดสิงคโปร์ วานนี้ (16 เม.ย.) ล่าสุดอยู่ที่ตันละประมาณ. 22.67 ดอลลาร์ต่อ 50.8 กก. แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยราคาสูงกว่าเมื่อ 6 เดือนก่อนถึง 2 เท่า จากการที่ฟิลิปปินส์ ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของโลก เล็งซื้อข้าวเพิ่มอีก 1 ล้านตัน และจากการที่พื้นที่เพาะปลูกในสหรัฐประสบภาวะน้ำท่วม โดยจะเปิดประมูลข้าว 5 แสนตันวันนี้ และเปิดประมูลอีก 5 แสนตันวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งสัญญาซื้อขายข้าวเดือนมี.ค. สามารถรองรับความต้องการได้เพียง 61% เท่านั้น

     นายลุค แชนด์เลอร์ นักวิเคราะห์โภคภัณฑ์อาวุโส จากราโบแบงก์ กรุ๊ป แสดงความเห็นว่า ราคาข้าวพุ่งขึ้นอย่างคาดไม่ถึง โดยสถานการณ์ในขณะนี้ เกือบจะเป็นเหมือนการขาดแคลนข้าวสำรอง เพราะประเทศต่างๆ ที่ต้องนำเข้าข้าว ไม่สามารถที่จะหาซื้อสินค้าที่มีอยู่ได้

     ขณะที่นายสัญชัย มาธูร์ และนายยูเบน พาราคูลเลส นักวิเคราะห์จากรอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ กรุ๊ป ระบุว่า ราคาข้าวในปี 2551 มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรือพุ่งขึ้นไปอีก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปัญหาด้านการเพาะปลูก

ฟิลิปปินส์จำกัดขายข้าวราคาถูก

     สำนักข่าวเอบีเอส-ซีบีเอ็น นิวส์ ของฟิลิปปินส์ รายงานว่า รัฐบาลกรุงมะนิลา จะจัดทำระบบจัดจำหน่ายแบบใหม่ขึ้นมาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อรับประกันว่า จะมีแต่ประชากรฐานะยากจนเท่านั้น ที่สามารถซื้อข้าวราคาถูก ที่ได้รับการอุดหนุนด้านราคาจากรัฐบาล

     ภายใต้ระบบใหม่ข้างต้น รัฐบาลจะนำข้าว จะดึงข้าวที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล และมีราคาขายที่กิโลกรัมละ 18.25 เปโซ หรือประมาณ 14 บาท ที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (เอ็นเอฟเอ) เป็นผู้จัดหน่ายออกจากตลาด เพื่อนำไปขายเฉพาะที่ส่วนเทศบาล หรือหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งผู้มีสิทธิซื้อนั้น ต้องได้รับการรับรองจากส่วนปกครองท้องถิ่น ทั้งยังจะจัดทำบัตรให้กับครอบครัวยากจน เพื่อรับประกันถึงสถานะการเงินที่ไม่มั่นคงด้วย

ยูเอ็นร้องสำรองอาหารเอง

     นางโจเซตเต ชีราน ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอาหารโลก หน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุต่อที่ประชุมอินเตอร์เนชั่นแนล ฟูด เอด ว่า ภูมิภาคยากจนต่างๆ ทั่วโลก ควรที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเชิงเกษตรกรรมได้น้อยลงราว 1 ใน 3 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อนำเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยได้ ทั้งยังมีอีกหลายประเทศ ที่เกษตรกรซึ่งอยู่ห่างไกล เข้าถึงตลาดไม่ได้ เพราะขาดแคลนถนน

     นางชีรานกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ควรที่จะเข้าไปลงทุนในภาคเกษตรกรรมท้องถิ่น ในช่วงเวลาที่โลกกำลังตกอยู่ในวิกฤติด้านอาหาร ตัวอย่างเช่นในลาว ที่เกษตรกรเพาะปลูกพืชผลไอบีโอที ทะยานขึ้นกว่า 2 เท่านับแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่ราคาข้าวในเอเชีย พุ่งขึ้นอย่างแรงตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จากการที่บรรดาผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ เร่งสำรองข้าว เพราะว่าจะเกิดการขาดตลาดขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตลดปริมาณการส่งออก

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.