www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

แล้งซ้ำฉุดผลผลิตข้าววูบ 30% "มิ่งขวัญ"กอดสต๊อก 2 ล.ตัน กลัวขาดตลาด


      ราคาข้าวส่งออกยังคงพุ่งทะยานต่อไปไม่หยุด โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิ (FOB) เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 1,130 เหรียญสหรัฐ, ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 956 เหรียญสหรัฐ, ข้าวขาว 100% ตันละ 854 เหรียญสหรัฐ, ข้าวขาว 25% ตันละ 790 เหรียญสหรัฐ และข้าวนึ่ง 100% ตันละ 870 เหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่ราคาข้าวยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก

     ผู้คนในวงการค้าข้าวต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวยังคงผันผวนต่อไป เป็นเพราะ "ความไม่ชัดเจน" ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีต่อ "สต๊อกข้าว" รัฐบาลจำนวน 2.1 ล้านตันจะถูกดำเนินการอย่างไร ระหว่างการระบายข้าวจำนวนหนึ่งออกมาทำข้าวถุง หรือการเก็บสต๊อกเพื่อความมั่นคงต่อไป

     ในขณะที่บรรดาโรงสีข้าวและผู้ส่งออกเองก็ยังตั้งความหวังว่า รัฐบาล "อาจจะ" ระบายข้าวในสต๊อกบางส่วนออกมาเพื่อลดความร้อนแรงของราคาข้าวในตลาด ประกอบกับช่วยบรรเทาปัญหาข้าวขาดแคลนจากการเก็บสต๊อกข้าวเปลือกเพื่อเก็งกำไรของพ่อค้าท้องถิ่น แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือขณะนี้ทุกคนกำลังจับตามองการเปิดประมูลข้าวลอตต่อไปในวันที่ 17 เมษายนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ จะออกมาซื้อข้าวในราคาที่เท่าไหร่

     เพราะหากรัฐบาลฟิลิปปินส์ซื้อข้าวประมูลในราคาสูงต่อไป ราคาข้าวในตลาดโลกจะไม่ลดลง แต่จะขยับตัวปรับราคาเพิ่มขึ้นไปอีก ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่ลดลง กลไกการค้าข้าวบิดเบือน และอาจนำมาซึ่งการขาดแคลนข้าวในประเทศได้

มิ่งขวัญเปลี่ยนใจกลัวข้าวขาด

     ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าล่าสุดหลังจากการประชุมยุทธศาสตร์สิ้นสุดลง โดยที่ประชุมมีมติ ไม่ให้นำข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมาทำข้าวถุงธงฟ้า ราคาถูก จำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งๆ ที่นายมิ่งขวัญพยายามผลักดันโครงการนี้มาโดยตลอด โดยที่ประชุมมีความเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลผลิตข้าวภายในประเทศจะลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำต้นทุนลดลง จากการโหมปล่อยน้ำออกมาให้กับพื้นที่ชลประทานปลูกพืช ฤดูแล้งอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

     "คุณมิ่งขวัญได้แสดงความกังวลถึงปัญหาข้าวขาดแคลนอย่างมากเพราะสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงในหลายจังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ ซึ่งเป็น "สัญญาณอันตราย" ที่ไม่ควรชะล่าใจ อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในครอปต่อไปลดลง ดังนั้นจำเป็นจะต้องกอดสต๊อกข้าวที่รัฐมีอยู่ 2.1 ล้านตันไว้จนถึงที่สุด" ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งกล่าวกับ " ประชาชาติธุรกิจ"

     โดยนายมิ่งขวัญถึงกับระบุออกมาว่า " ผมจะกอดสต๊อกข้าวไว้จนถึงที่สุดเพราะเมื่อถึงวินาทีหนึ่ง ชีวิตของคนไทยขึ้นอยู่กับข้าว ต้องรอข้าวนาปรังที่จะออกมา 6.5 ล้านตัน เป็น 4.29 ล้านตันข้าวสาร และนโยบายด้านข้าวของประเทศต่างๆ ที่ประกาศออกมา เช่น ฟิลิปปินส์ จะลงโทษคนกักตุนข้าวจำคุกตลอดชีวิต เกือบทุกประเทศในโลกก็เช่นกัน โดยการเก็บสต๊อกในครั้งนี้เพื่อนำมาบรรเทาปัญหา หากเกิดภัยแล้ง ผลผลิตข้าวลดลง"

     พร้อมกันนี้นายมิ่งขวัญได้เสนอความเห็นถึงการดำเนินนโยบายด้านข้าวต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งได้เดินทางพบกับผู้นำในต่างประเทศหลายประเทศ โดยแต่ละประเทศแสดงความสนใจที่จะขอซื้อข้าวจากไทย ทั้งในรูปแบบการทำบาร์เตอร์เทรดและยินดีแลกข้าวกับสินค้ามีค่าที่ไทยต้องการ เช่น แลกน้ำมัน

     แต่รัฐบาลไทยไม่ควรรับข้อเสนอของใครในขณะนี้ เพราะเกรงว่าหากยุทธศาสตร์นี้พลาดไป คนไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนข้าวอย่างไม่เคยมาก่อนเพราะสถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง ถึงตอนนั้นไม่ใช่แพงขึ้นเรื่อยๆ แต่จะไม่มีข้าว ให้ซื้อกิน

     ล่าสุดข้อมูลของกรมการข้าวระบุว่า ผลผลิตข้าวนาปรังปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 4.29 ล้านตันข้าวสาร ส่วนสต๊อกข้าวของ ผู้ส่งออกมีอยู่ 2 ล้านตัน พอสำหรับการส่งออก 1-1.5 เดือน นอกจากนี้ยังมีสต๊อกของรัฐบาลอีก 2.1 ล้านตัน รวมไทยมีข้าวสารถึง 8.39 ล้านตัน ยังไม่รวมผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี เท่ากับว่าไทยจะได้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย 31 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 20-20.5 ล้านตันข้าวสาร ใช้สำหรับบริโภคในประเทศ 6.6 ล้านตัน/ปี จากก่อนหน้านี้ที่เคยประมาณการบริโภคไว้ที่ 9 ล้านตัน เก็บเป็นพันธุ์ข้าว 900,000- 1 ล้านตัน/ปี และที่เหลือจะเป็นการส่งออก ซึ่งประมาณการอยู่ที่ 9 ล้านตัน "ไม่ควร ส่งออกเกินกว่านี้เพราะข้าวภายในประเทศจะขาด"

     ขณะที่กรมชลประทานเองก็ออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีการปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วรวมกันทั้งหมด 13.86 ล้านไร่ หรือเกินกว่าที่กรมชลประทานกำหนดไว้ให้ปลูกไม่เกิน 11.90 ล้านไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 9.23 ล้านไร่ พืชไร่/พืชผัก 0.74 ล้านไร่ และอื่นๆ อีก 3.89 ล้านไร่ นั้นหมายถึงกรมชลประทานต้องส่งน้ำเข้าเขตชลประทานมากขึ้น อาจจะกระทบต่อต้นทุนน้ำในการปลูกข้าวนาปีฤดูต่อไป

     ในอีกด้านหนึ่ง สมาคมโรงสีข้าวไทยเชื่อว่า ตัวเลขผลผลิตข้าวนาปรังของกรมการข้าวนั้น "สูงกว่าความเป็นจริง" ปริมาณผลผลิตข้าวน่าจะปรับลดลงมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากอากาศหนาวยาวนานจึงมีการประเมินกันว่าข้าวจะลดลง 30-40% ซึ่งมีโอกาสที่ราคาจะผันผวนแรงขึ้น "ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นายมิ่งขวัญไม่กล้าที่จะ ผลีผลามออกมาพูดจาปั่นราคาข้าวอีก เพราะทุกข้อมูลล้วนบ่งชี้ไปว่าประเทศไทยอาจจะประสบภาวะขาดแคลนข้าวในช่วงปลายปีได้"

ทูตเกษตรสหรัฐดอดขอข้อมูล

     ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ทูตเกษตรของสหรัฐประจำเทศไทยได้เข้ามาหารือเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ข้าวของไทยในปัจจุบัน โดยสอบถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่ระบายข้าวในสต๊อกของรัฐและการยกเลิกทำข้าวถุง รวมถึงนโยบายดูแลการส่งออกข้าวและผลกระทบต่อการผลิตข้าวจากปัญหาภัยแล้ง

     ในประเด็นด้านภัยแล้งนั้นทางสมาคมเห็นว่า การประเมินสถานการณ์ภัยแล้งควรจะรีบทำก่อนที่ไทยจะเริ่มทำนาปีในเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2551 ซึ่งจะมีปริมาณข้าว 23 ล้านตันข้าวเปลือก หากเกิดภาวะภัยแล้งในช่วงนั้นและส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต 50-10% ของปริมาณการผลิต "ก็ถือว่ามาก และอาจทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นได้อีก"

     แต่ถึงอย่างไรขณะนี้ ราคาข้าวก็ไม่น่าจะกลับไปอยู่ในราคาที่ต่ำเหมือนเดิมอีกแล้ว ทั้งนี้ทูตเกษตรสหรัฐแสดงความไม่เห็นด้วยกับปัญหาภัยแล้งและการเก็บสต๊อกของรัฐบาล เนื่องจากสหรัฐคาดว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่ประสบปัญหาภัยแล้งในปีนี้มากนัก

จับตาประมูลข้าวฟิลิปปินส์

     แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีการประเมินสถานการณ์ราคาข้าวมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น หากฟิลิปปินส์ยอมรับการเสนอ ราคาขายในการเปิดประมูลข้าวในวันที่ 17 เมษายนนี้ปริมาณ 500,000 ตัน โดยคาดการณ์ว่าราคาข้าวขาว 25% จะปรับสูงขึ้นไปถึง 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก ทำให้ผู้ส่งออกไทยส่วนหนึ่งตัดสินใจทิ้งออร์เดอร์ที่ทำไว้กับบริษัท เทรดเดอร์ต่างประเทศเพื่อนำข้าวมาขายในโครงการประมูลครั้งนี้ โดยคาดการณ์ว่าหากราคาข้าวของไทย "ต่ำกว่า" เวียดนามเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฟิลิปปินส์จะตัดสินใจซื้อข้าวที่เปิดประมูลทั้งหมด

     ในประเด็นนี้ นายชูเกียรติระบุเพิ่มเติมว่า ถ้าหากรัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมรับราคาประมูลครั้งนี้จะทำให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นอีก เพราะข้าว 25% ถือว่าเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ไม่เคยมีการปรับราคาสูงมากขนาดนี้ แต่หากรัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับราคา จะทำให้ราคาข้าวปรับลดลงอย่างน้อย 20-30 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไม่รุนแรงมากเพราะยังเหลือตลาดที่ยังไม่ได้ประมูลอีกทั้งอิหร่านและอินโดนีเซีย

     "โอกาสที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะรับราคาสูงถึง 900 เหรียญเกิดขึ้นได้ เพราะความต้องการข้าวของฟิลิปปินส์มีจำนวนมาก จากเดิมที่เคยจะประมูลเพียง 1.6 ล้านตัน แต่ขณะนี้ต้องการข้าวเพิ่มอีก 1 ล้านตัน เพราะประสบปัญหาด้านภัยธรรมชาติ และทางอิหร่านและอินโดนีเซียก็ต้องการข้าวนับล้านตัน" นายชูเกียรติกล่าว

     พร้อมกันนี้ไทยต้องติดตามดูปริมาณผลผลิตของประเทศคู่แข่งด้วยโดยเฉพาะเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาภัยธรรมชาติอากาศหนาว แต่มีการผลิตขึ้นมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด และเชื่อว่าเวียดนามจะมีสต๊อกข้าวเก็บไว้ หากเวียดนามเข้าร่วมการประมูลฟิลิปปินส์จะได้กำไร และเท่าที่ทราบจากการประมูลครั้งที่ผ่านมา เวียดนามได้กำไร 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน สามารถชดเชยตัวเลขการขาดทุนจากการประมูลช่วงแรกไปได้ทั้งหมด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.