คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการปราบคอร์รัปชัน" โดยมี ดร.เมธี ครองแก้ว กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ปาฐกถาพิเศษ วานนี้ (16 มิ.ย.)
ดร.เมธี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถาว่า ขณะนี้ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทาง การดำเนินนโยบายพืชผลทางการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยเชิญนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ด้านสินค้าเกษตรหลายคนเข้ามาเป็นคณะทำงาน อาทิเช่น ดร.อัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น
สาเหตุที่ ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพราะเห็นว่าสินค้าเกษตรมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทุกยุคสมัย จึงแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริต และทำเป็นรายงานเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา โดยในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานได้ประชุม เพื่อคัดเลือกสินค้าเกษตร 7 ชนิด ที่มีปัญหาการทุจริตมากที่สุดมาศึกษา ประกอบด้วย ข้าว ลำไย มันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาล และผลิตภัณฑ์นม
"ที่ผ่านมาได้มีการจัดระดมความเห็นโดยเชิญนักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ มาพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า รัฐบาลควรยกเลิกมาตรการรับจำนำข้าว ซึ่งเราก็คิดว่ารัฐบาลจะยกเลิกการรับจำนำข้าวแล้ว แต่สัปดาห์ถัดมารัฐบาลก็มีมาตรการรับจำนำออกมา” ดร.เมธีกล่าว
ดร.เมธี กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตในสินค้าเกษตรเกิดขึ้นทุกสมัย โดยเฉพาะการทุจริตรับจำนำข้าว เพราะมาตรการที่ออกมามีช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตมาก โดยปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมา คือ กรณีที่รัฐบาลจ่ายเงินให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไปใช้ในการรับจำนำข้าวแล้ว แต่ไม่มีข้าวกลับมา หรือกรณีข้าวที่รับจำนำหาย รวมถึงปัญหาการปลอมปนข้าว
แนะเร่งระบบประกันภัยพืชผล
ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นว่า ควรนำระบบประกันราคาข้าว โดยให้ชาวนาจ่ายค่าพรีเมียม มาใช้แทนการรับจำนำ เพราะวิธีนี้นอกจากจะป้องกันปัญหาการทุจริตแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วย โดยรูปแบบการดำเนินงาน คือ รัฐบาลควรให้หน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดราคาข้าวที่คาดการณ์ล่วงหน้าที่ชาวนาจะขายไว้ 3 ลำดับ เช่น ตันละ 1 หมื่นบาท ตันละ 1.2 หมื่นบาท และตันละ 1.4 หมื่นบาท เพื่อให้ชาวนามาซื้อประกันความเสี่ยงจาก ธ.ก.ส. โดยวงเงินค่าประกันความเสี่ยง จะขึ้นอยู่กับราคาที่ชาวนาจะขายข้าวได้ หากชาวนาคนใดซื้อประกันในราคา 1 หมื่นบาท ก็จะจ่ายเงินค่าประกันน้อยกว่าคนที่ทำประกันไว้ที่ตันละ 1.4 หมื่นบาท
จากนั้นเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากราคาข้าวที่ขายได้สูงกว่า หรือเท่ากับราคาประกันที่ทำไว้ ธ.ก.ส.ก็ไม่ต้องจ่ายเงินประกันคืนให้ชาวนา แต่หากชาวนาขายข้าวได้ต่ำกว่าราคาประกันที่ทำไว้ ธ.ก.ส.ก็จะจ่ายเงินประกัน เพื่อชดเชยส่วนต่างให้ชาวนา เช่น ทำประกันไว้ที่ตันละ 1.2 หมื่นบาท แต่ขายข้าวได้จริงตันละ 1 หมื่นบาท ธ.ก.ส.ก็จะเข้าไปชดเชยส่วนต่างจากราคาขายจริง กับราคาประกันจำนวน 2 พันบาทให้กับชาวนา ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้เหมือนกับการทำประกันความเสี่ยงทั่วไป
ชงป.ป.ช.ห้ามข้าราชการรับของกำนัลเกิน 3 พัน
ดร.เมธี กล่าวว่า นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว เร็วๆ นี้ ตนจะเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ นำมาตรา 103 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของกำนัลมูลค่าเกิน 3 พันบาท มาบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริต คือ ระดับการพัฒนาของประเทศและความเท่าเทียมด้านการพัฒนา แต่จากข้อมูลการวิจัยของต่างประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงประเทศหนึ่งในโลก เพราะจากการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำทางสังคมจาก 160 ประเทศทั่วโลกประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 100 จึงต้องช่วยกันหามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่ตนไม่เห็นด้วยในเรื่องของความเหลื่อมล้ำของรายได้ในองค์กรภาครัฐ ที่ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ และนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งน้อยกว่าผู้บริหารธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งถึง 10 เท่า โดยผู้บริหารธนาคารของรัฐแห่งนี้มีรายได้ถึงเดือนละ 1.75 ล้านบาท โดยอ้างว่าสาเหตุที่ผู้บริหารธนาคารรัฐได้รับเงินเดือนสูง เพราะเป็นธนาคารที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้จะมองว่าเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายได้หรือไม่
อคส.เร่งเปิดจุดรับจำนำเพิ่ม
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังวันแรก (15 มิ.ย.) ในส่วนองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดจุดรับจำนำจำนวน 6 จุด ได้แก่ ที่ จ.พิจิตร สุโขทัย อยุธยา ชัยนาท และนครปฐม 2 แห่ง ปริมาณรับจำนำรวม 1,000 ตัน มีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 60 ราย
วานนี้ (16 มิ.ย.) กำหนดจะเปิดจุดรับจำนำเพิ่มอีก 30 จุด กระจายทั่วไปในพื้นที่จังหวัดทางภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง เช่น นนทบุรี ลพบุรี และเพิ่มจุดรับจำนำในจังหวัดเดิมอีก ทั้งนี้ กำหนดให้ภายในสัปดาห์นี้ จะเพิ่มจุดรับจำนำให้มากขึ้น ได้แก่ ที่ จ.พิจิตร 18 จุด นครนายก 32 จุด สุโขทัย 7 จุด กำแพงเพชร 4 จุด พิษณุโลก 3 จุด ชัยนาท 5 จุด
"โรงสีและจุดรับจำนำทั้งหมดจะอยู่ในความดูแลของ อคส. ตามโครงการนี้ อคส.กำหนดจะรับจำนำข้าวเปลือก 1 ล้านตัน จากเป้าหมายรวมของโครงการ 2.5 ล้านตัน โดยแนวทางป้องกันทุจริตคือโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องมีกล้องวงจรปิด แต่ยอมรับว่าที่โรงสีเข้าร่วมโครงการน้อย เพราะมีรายละเอียดเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการมาก ขณะที่การตรวจสอบเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีหนังสือรับรองเป็นเกษตรกรที่ชัดเจน” นายยรรยงกล่าว
"วัฒนา"ให้ 5 หมื่นจับโกงโรงสี
นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมได้กำหนดให้เงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท แก่ผู้แจ้งเบาะแสโรงสีที่ทุจริตในโครงการรับจำนำ มายังสมาคม และหากกรณีดังกล่าวมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ก็จะชำระเงินทันที เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีโรงสีทุจริต ในโครงการรับจำนำ แม้ว่าสมาคมจะได้พิจารณาคัดเลือกโรงสีที่ดีมีคุณภาพให้เข้าร่วมโครงการแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการรับจำนำครั้งนี้ มีโรงสีเข้าร่วมโครงการน้อย เนื่องจากระยะเวลาการประกาศโครงการและการเปิดรับจำนำจริง เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้การเตรียมความพร้อมโรงสีน้อยมาก นอกจากนี้ เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ทำให้โรงสีที่จะตัดสินใจร่วมโครงการหรือไม่ต้องใช้เวลาและการเตรียมหลักฐานรับรองมาก
"ที่โรงสีเข้าโครงการน้อย ก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างฉุกละหุก แต่สมาคมก็พยายามคัดเลือกโรงสีที่ดีๆ พวกติดแบล็คลิสต์ไม่เอา แต่ก็ไม่วายโดนมองว่า ขี้โกง ก็เพื่อให้โปร่งใสกันไปก็ตั้งรางวัลนำจับ ถ้าแจ้งเบาะแสจะได้เงินรางวัล 50,000 บาททันทีที่คดีฟ้องร้องกัน แต่ชาวนาและสังคมต้องเข้าใจว่าข้าวที่จะได้เงินตันละ 14,000 บาท ความชื้นไม่เกิน 15% ถ้าความชื้นมากกว่านั้นก็ต้องได้น้อยกว่า อันนี้ต้องเข้าใจไม่ได้กดราคากัน” นายวัฒนา กล่าว
ศิริพลโต้แก้ปัญหาข้าวน่าได้เกรดเอ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดการสถานการณ์ราคาข้าว หากให้กระทรวงพาณิชย์ประเมินจากระดับราคาที่สูงขึ้น ถือว่าสอบผ่านและน่าจะได้เกรดเอ แต่ถ้าจะประเมินจากการแกว่งตัวของระดับราคา ก็น่าจะได้บีบวก เพราะเป็นเรื่องของกลไกตลาด ซึ่งการแสดงความเห็นขึ้นกับว่าใช้เกณฑ์ใดในการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ดูแลสถานการณ์อย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งชาวนา พ่อค้าและผู้บริโภค
ชาวนากาญจนบุรีกดดันเร่งเปิดจำนำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 มิ.ย.) กลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาจาก อ.พนมทวน และ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กว่า 300 คน ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในเขตพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ต่อนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
นายกระจ่าง ชูใจ ตัวแทนเกษตรกรผู้ทำนาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามโครงการจัดรับจำนำข้าวเปลือกในจังหวัดกาญจนบุรี เพราะขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างมาก หากไม่เร่งเปิดรับจำนำ จะทำให้ชาวนาจำนวนมากเสียโอกาส
นายเผอิญ แก่นจันทร์ กำนันตำบลดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้โรงสีข้าวเปิดรับจำนำข้าวทันทีในที่ 17 มิ.ย. โดยจุดรับจำนำต้องอยู่ใกล้ที่สุด เพื่อชาวนาจะได้ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช ให้อยู่ในราคาที่ถูกกว่าปัจจุบัน รวมทั้งสนับสนุนน้ำมันราคาถูก และเพิ่มวงเงินกู้ในการปลูกข้าว
นายอำนาจ ผการัตน์ ผวจ.กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จะเปิดให้มีการรับจำนำข้าวเปลือกได้ในวันศุกร์ที่ 20 มิ.ย.ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจ และแยกย้ายกันกลับ
ชัยภูมิโรงสีเข้าร่วมรายเดียว
นายขจรเกียรติ บัวศรี ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงสีตรงจิตร ต.บ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพียงรายเดียว ที่ติดต่อเข้าร่วมโครงการ ขณะที่การขึ้นทะเบียนชาวนาก็ยังไม่มีชาวนามาติดต่อ ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวชัยภูมิมีน้อย และส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อบริโภคในครอบครัว และที่ผ่านมาได้ขายไปแล้ว
ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการโรงสีเข้าโครงการน้อย เนื่องจากโรงสีที่เข้าโครงการต้องมีคุณภาพจริงๆ และต้องวางเงินค้ำประกันสูง ทำให้ส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความพร้อม ขณะเดียวกันต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะปริมาณสต็อก รวมทั้งทางจังหวัดช่วยดูแลไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายข้าวข้ามจังหวัด เพื่อป้องกันการทุจริตสวมสิทธิใบประทวน
ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|