นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในตลาดจีนว่า ขณะนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง นอกจากจีนชะลอรับมอบคำสั่งซื้อเก่าที่ซื้อในช่วงราคาสูงตันละ 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ออร์เดอร์ใหม่แทบจะไม่มีเข้ามาเลย ที่สำคัญเวลานี้จีนได้พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเมล็ดยาว มีความนิ่ม รสชาติดี ราคาขายในจีนหากเทียบราคาเอฟโอบี (ราคาสินค้าไม่รวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย) ส่งออกตกประมาณตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พ่อค้าจีนได้นำข้าวพันธุ์ใหม่มาผสมกับข้าวหอมปทุมของไทย ซึ่งคุณสมบัติมีความหอม ข้าวทั้งสองชนิดเมื่อผสมกันแล้วจะเป็นข้าวที่สวยและมีความหอม เพราะได้ความยาว ความนิ่ม และรสชาติดีของข้าวจีนและความหอมข้าวปทุมของไทย ทำให้มีคุณสมบัติเหมือนข้าวหอมมะลิไทย และพ่อค้าจีนขายข้าวดังกล่าวเพียงตันละประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวหอมมะลิตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้บริโภคคนจีนจึงหันไปซื้อข้าวดังกล่าว เป็นผลให้กระทบต่อข้าวหอมมะลิไทยในจีนในที่สุด
"ดูสถานการณ์ข้าวหอมมะลิในอนาคตยังมีความลำบากอยู่มาก ยิ่งหากราคาสูงมาก ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคข้าวชนิดอื่นแทน ลำพังหอมปทุมของไทยที่ออกมาแข่งก็ทำให้ข้าวหอมมะลิลำบากอยู่แล้ว ต่างประเทศอย่างจีนยังพัฒนาพันธุ์ข้าว และคิดวิธีผสมจนได้ข้าวที่ใกล้เคียงหอมมะลิอีก ในอนาคตหอมมะลิไทยจะต้องรักษาเสถียรภาพราคาคือไม่สูงเกินไปแต่คงไว้ซึ่งข้าวเกรดพรีเมียม"
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ กล่าวว่าข้าวพันธุ์ใหม่ของจีนที่ได้รับการพัฒนา กระทั่งพ่อค้าจีนนำมาผสมกับข้าวหอมปทุมแล้วได้คุณสมบัติเหมือนข้าวหอมมะลิ มีชื่อว่า "พันธุ์923" ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เมื่อผสมกับข้าวหอมปทุมแล้ว เป็นสัญญาณอันตรายกับข้าวหอมมะลิเป็นอย่างมาก เพราะข้าวหอมมะลิจะมีความหอมช่วงเก็บเกี่ยวใหม่ๆ เท่านั้นและปีหนึ่งมีการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียว พอเก็บไว้นานๆ ความหอมจะหมดไป แต่ข้าวหอมปทุมเป็นข้าวนาปรังเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปีจึงมีความหอมตลอดทั้งปีเมื่อนำไปผสมข้าวจีนที่มีความนิ่ม เมล็ดข้าวสวยแล้ว จึงมีความได้เปรียบข้าวหอมมะลิ ทั้งราคายังถูกกว่า
ทั้งนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานการส่งออกข้าวหอมมะลิปี 2550 มียอดส่งออกรวมทั้งสิ้น 2.9 ล้านตัน ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เซเนกัล 540,000 ตัน มูลค่า 5,400 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 345,545 ตัน มูลค่า 7,038 ล้านบาท 3.ไอวอรีโคสต์ 304,905 ตัน มูลค่า 4,088 ล้านบาท 4.จีน 246,694 ตัน มูลค่า 4,562 ล้านบาท 5.ฮ่องกง 229,209 ตัน มูลค่า 4,449 ล้านบาท
ส่วน 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2551) ซึ่งมีปริมาณการส่งออก 1.43 ล้านตัน ตลาดส่งออก สำคัญ 5 ตลาดแรก ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 228,252 ตัน มูลค่า 6,193 ล้านบาท 2.เซเนกัล 127,521 ตัน มูลค่า 1,700 ล้านบาท 3. ไอวอรีโคสต์ 127,427 ตัน มูลค่า 2,200 ล้านบาท 4.ฮ่องกง 115,985 ตัน มูลค่า 2,652 ล้านบาท 5.จีน 102,694 ตัน มูลค่า 2,165 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าปี 2550 ทั้งปีจีนนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยอยู่ในลำดับที่ 4 แต่ 6 เดือนแรกปีนี้ลดลงมาอยู่ลำดับที่ 5
แม้ว่าปริมาณนำเข้าครึ่งปีแรกจะส่งออกได้ 1.43 ล้านตัน แยกเป็นต้นข้าว 1,066,004 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ส่งออกได้ 888,052 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 20% ส่วนปลายข้าวลดลง 34% จาก 6 เดือนแรกปีที่ผ่านมาส่งออก 562,464 ตัน 6 เดือนแรกปีนี้ 366,282 ตัน เมื่อรวมทั้งต้นข้าวและปลายข้าวจะลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยคือ 6 เดือนแรกปีที่ผ่านมามียอดรวม 1.45 ล้านตัน อย่างไรก็ดีตัวเลขส่งออกข้าวหอมมะลิไปจีนยังต้องติดตามดูถึงสิ้นปีนี้ว่าจะมีประเทศอื่นนำเข้าแซงจีนหรือไม่ เพราะโดยภาพรวมคำสั่งซื้อ ณ เวลานี้ลดลงไปมาก เนื่องจากหันไปบริโภคข้าวผสมที่มีคุณสมบัติคล้ายข้าวหอมมะลิทดแทนเพราะมีราคาถูกกว่า ประกอบกับข้าวหอมมะลิราคาสูงเกินไป
สำหรับข้าวหอมปทุม ซึ่งจีนนำเข้าไปทั้งผสมและขายในรูปของข้าวหอมปทุม แต่ปริมาณนำเข้า 6 เดือนแรกปีนี้ 37,164 ตัน เทียบกับปี 2550 ทั้งปีที่นำเข้า 201,870 ตัน ถือว่านำเข้าไปไม่มาก เพราะข้าวหอมปทุมของไทยช่วงต้นปีราคาสูง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|