นายไชยา สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมครม. วานนี้ (16 ก.ย.) เห็นชอบให้ยุบเลิกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร รวมถึงคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการรับจำนำ คณะกรรมการแปรสภาพและจัดเก็บข้าว และคณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าว
พร้อมทั้งโอนอำนาจการบริหารจัดการและระบายข้าว ไปอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยมีองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นเจ้าภาพหลักเหมือนเดิม และเป็นเจ้าภาพหลักในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 เป็นต้นไป ทำหน้าที่ระบายข้าวในสต็อกเก่าของรัฐจำนวน 2.1 ล้านตัน และข้าวเปลือกนาปรังที่รับจำนำเข้ามาใหม่รวมกว่า 5 ล้านตัน
“หลังได้อำนาจการบริหารจัดการข้าวคืนมา กระทรวงพาณิชย์จะเร่งระบายข้าวในสต็อกเก่าของรัฐ และข้าวนาปรังที่จำนำมาใหม่รวม 5 ล้านตันออกโดยเร็วซึ่งจะระบายข้าวแบบจีทูจี เพื่อเตรียมสถานที่เก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/2552 ที่จะดำเนินการเร็วๆ นี้” นายไชยา กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการทั้ง 3 ชุดเกิดขึ้นสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันมีการรวบอำนาจดูแลโครงการรับจำนำข้าวไปให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนอคส.
นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติปรับเพิ่มเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ครั้งที่ 2 โดยปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวจาก 3.5 ล้านตันเป็น 4.5 ล้านตัน เนื่องจากคาดการณ์ว่ามีเกษตรกร 5 หมื่นราย ที่จะนำข้าวมาจำนำคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ซึ่งเหลือเวลารับจำนำอีก 15 วัน
การเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับ อคส. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นค่าใช้จ่ายรับฝากข้าวและออกใบประทวนสินค้า 86 ล้านบาท ค่าเช่าสถานที่จัดเก็บข้าวสาร และค่าตรวจสอบคุณภาพ ดูและรักษา 216 ล้านบาท ค่าการจัดการโครงการ 45 ล้านบาท รวมทั้งหมด 347 ล้านบาท
นอกจากนี้ ต้องปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับ ธ.ก.ส. ในการบริการจัดการโครงการอีก 27 ล้านบาท ค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 6.5% เป็นเวลา 7 เดือน ทำให้โครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 428 ล้านบาท
“การปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายของ อคส. อ.ต.ก.และ ธ.ก.ส. ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 829 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มเป็น 3,976.71 ล้านบาท จากเดิม 3,147.71 ล้านบาท” นางสาวศุภรัตน์ กล่าว
ด้าน นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่าตั้งแต่เปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-15 ก.ย.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการ 3.354 ล้านตัน ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปกติ 2 ล้านตัน เนื่องจากข้าว ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวนาปรังจำนวนมาก
“การเพิ่มเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังอีก 1 ล้านตัน ทำให้ ธ.ก.ส.ต้องสำรองเงินเพื่อใช้ในโครงการอีก 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ตลอดทั้งโครงการที่มีปริมาณข้าว 4.5 ล้านตัน ธ.ก.ส.ต้องมีภาระในปล่อยกู้ในโครงการนี้แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรัฐบาลยังมีหนี้สินค้างชำระกับ ธ.ก.ส. อยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท” นายเอ็นนู กล่าว
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/2552 ที่รัฐบาลตั้งเป้ารับจำนำข้าวเปลือก 8 ล้านตัน คาดว่าจะใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น นายเอ็นนู กล่าวว่า ธ.ก.ส.คงจะแบกรับภาระในการปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีได้เพียง 2 ล้านตัน หรือคิดเป็นเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ส่วนที่เหลือ ธ.ก.ส.จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแหล่งเงินอื่นในการสนับสนุนโครงการต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |