นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในช่วง 3 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 15-17 มิ.ย. 2551 เกษตรกรให้การตอบรับดี โดยเปิดจุดรับจำนำได้ 20 จุด เกษตรกรเข้าร่วม 359 ราย รับจำนำข้าวเปลือกได้ 4,564 ตัน วงเงิน 61.7 ล้านบาท และสมาคมโรงสีข้าวไทยได้คัดเลือกโรงสีที่มีคุณภาพ เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 223 โรง แยกเป็นโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 125 โรง และโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การตลาดเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (อ.ต.ก.) จำนวน 98 ราย
การทำสัญญาและการวางหลักประกันโครงการรับจำนำปีนี้ กำหนดให้วางหลักประกันอัตรา 40% และที่เหลือ 60% ให้เป็นการรับจำนำข้าวที่ต้องแปรสภาพให้แล้วเสร็จ ส่งเข้าโกดังกลางภายใน 7-15 วัน เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่กำหนดวางหลักประกันเพียง 20%
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหากรณีที่โรงสี ระบุว่า โครงการที่ผ่านให้เก็บข้าวเปลือกไว้นาน 7-8 เดือน ทำให้โรงสีไม่มีพื้นที่รับซื้อข้าวได้เอง อีกทั้งข้าวเปลือกที่ทิ้งไว้นาน สีจะเปลี่ยนไปไม่ตรงตามสเปคที่อคส. กำหนด โรงสีจึงจำเป็นต้องขายข้าวในโครงการออกไปก่อนแล้วรับซื้อใหม่ จนกลายเป็นปัญหาข้าวหาย
"การพิจารณาการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือแบงก์การันตีเหล่านี้ ต้องใช้เวลา ดังนั้น การเปิดจุดรับจำนำ จึงมีความล่าช้าไปบ้าง แต่คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ การเปิดจุดจะทำได้ครบ 60 จังหวัด" นายเอ็นนูกล่าว
เพิ่มเพดานจำนำให้ชาวนาเป็น 5 แสนจาก3.5 แสน
นอกจากนี้ จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเห็นชอบให้ปรับค่าแปรสภาพข้าวให้กับโรงสีเป็น 550 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 400 บาท รวมทั้งเพิ่มวงเงินการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกร จากรายละไม่เกิน 3.5 แสนบาท เป็นรายละไม่เกิน 5 แสนบาท ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าราคารับจำนำข้าวในปีนี้กำหนดไว้สูงถึงตันละ 1.4 หมื่นบาท หากกำหนดวงเงินไว้ต่ำ ชาวนาจะนำข้าวไปจำนำในโครงการได้น้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการสวมสิทธิของเกษตรกร โครงการรับจำนำในปีนี้ ได้วางระบบการตรวจสอบอย่างเข้มข้นซึ่งเกษตรกรทุกราย จะต้องมีใบรับรองเป็นผู้ทำนาปรังปี 2551 โดยศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับตำบล ระบุพื้นที่ทำนา ผลผลิตที่ชัดเจน หลังจากนั้น ให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรองความถูกต้อง ในขณะที่ธ.ก.ส. จะตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดจากข้อมูลลูกค้ารายคนที่ธ.ก.ส.มีฐานข้อมูลอยู่ หากพบความผิดปกติจะชะลอการรับเงินไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่เป็นการสวมสิทธิ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์
"ข้อสงสัยที่มีความเป็นไปได้ อาทิเช่น ผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะเช่าพื้นที่ปลูกเพิ่ม ดังนั้น ธ.ก.ส.จะเข้าไปตรวจสอบ ก่อนจะจ่ายเงินที่กำหนดให้จ่ายเข้าบัญชี แทนการจ่ายสด การตรวจสอบจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน จากนั้นเมื่อไม่มีปัญหาเกษตรกรจะสามารถเบิกเงินนำไปใช้ได้" นายเอ็นนูกล่าว
ธ.ก.ส.คุมเข้มทุจริตหวั่นงบบริหารบานปลาย
สำหรับการตรวจสอบเมื่อเกษตรกรขนข้าวเปลือกมาที่โรงสี จะมีผู้แทนเกษตรกร พนักงาน ธ.ก.ส. และพนักงาน อคส. หรือ อ.ต.ก. ควบคุมกำกับความถูกต้องในการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก การวัดความชื้น ที่ระหว่างนี้มีฝนตกหนักความชื้นของข้าวจะอยู่ที่ 25-30% ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบราคาหลังหักความชื้นได้ ทุกโรงสีจะมีราคาติดประกาศไว้ทุกวัน
ทั้งนี้ ข้าวที่รับจำนำและสีแปรสภาพเพื่อส่งเข้าโกดังกลางจะมีบริษัทเซอร์เวเยอร์กลางเข้าไปตรวจสอบซ้ำเซอร์เวเยอร์ของที่อคส.และ อ.ต.ก.จ้างไว้อีกครั้ง รวมทั้งจะมีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง และติดชิพที่กระสอบข้าวสารป้องกันการขนย้าย โดยทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จ ไม่ขาดทุนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
"เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ค่าบริหารจัดการเพิ่มสูงขึ้น จากที่กำหนดไว้เดิม 1,137 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเสนอของบประมาณเพิ่มจากคณะกรรมการข้าวแห่งชาติต่อไป แต่วงเงินการรับซื้อข้าว จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นจากที่กำหนด 3.5 หมื่นล้านบาท" นายเอ็นนูกล่าว
ประดิษฐ์รายงานครม.พอใจจำนำข้าว
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รายงานให้ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 โดยล่าสุด วันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการจำนำของรัฐจำนวน 360 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 5 พันตัน วงเงินที่จ่ายให้เกษตรกรจำนวน 100 ล้านบาท
นายประดิษฐ์ ยังระบุว่า มีความมั่นใจว่าหลังจากนี้จะมีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับรัฐเพิ่มขึ้น ส่วนการดำเนินการโครงการรับจำนำที่ผ่านมา พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) หน่วยงานระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างให้ความร่วมมือ และทำให้การดำเนินการโครงการทุกอย่างเป็นไปอย่างดี
พาณิชย์ห่วงสต็อกใหม่ปนสต็อกเก่า
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ประจำยังจุดรับจำนำข้าวทุกแห่ง ให้เข้มงวดกับการรับจำนำข้าว และเฝ้าระวังข้าวที่รับจำนำไว้แล้ว ไม่ให้มีการสูญหาย หรือเกิดการทุจริตได้ โดยปริมาณข้าวที่รับจำนำผ่าน อคส.จนถึงวานนี้ (17 มิ.ย.) รวม 1.5 พันตัน
ส่วนข้าวในสต็อกรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ก็ได้สั่งการให้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และกำหนดให้รายงานความคืบหน้ามายังอคส.ทุกวัน ผ่านข้อมูลและภาพถ่ายส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต มายังอคส.ทำให้สามารถรับรู้สต็อกข้าวรัฐที่ฝากเก็บในโกดังเอกชนได้ทั่วประเทศ
"ตอนนี้ เราห่วงเรื่องข้าวสต็อกเก่าและใหม่จะมาปนกันมากที่สุด และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่อคส.ที่รับจำนำดูเรื่องการแบ่งกองให้ดี แต่เท่าที่ดูปริมาณข้าวที่มารับจำนำถือว่าน้อยมาก ซึ่งน่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เกษตรกรทั่วประเทศเตรียมชุมนุมประท้วงกดดันให้รัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก แต่หลังเปิดโครงการแล้ว 2 วัน กลับมีข้าวเข้าร่วมโครงการกว่าพันตันเท่านั้น" นายยรรยง กล่าว
นอกจากนี้ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ที่มีการรับฝากเก็บข้าวในสต็อกรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ให้ติดตามดูแลข้าวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ส่วนข้าวในโรงสี จ.อยุธยา ที่หายไป 140 ตันข้าวสาร เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตของโรงสีรายนั้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีก และให้เข้มงวดกับการออกใบอนุญาตโรงสี ให้กับผู้ที่มีความสัมพันธ์กับโรงสีที่ถูกถอนใบอนุญาตไปแล้วด้วย
นายยรรยง กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะกรรมการสีแปรสภาพข้าว ซึ่งตนเป็นประธาน ตามการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอัตราการสีแปรสภาพข้าวเปลือกนาปรังจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ให้เป็นข้าวสาร ก่อนส่งมาเก็บในโกดังกลางที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากเอกชน โดยจะหารือถึงอัตราแปรสภาพที่โรงสีสมควรได้รับ
"ในโครงการรับจำนำที่ผ่านๆ มา ได้กำหนดให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว จะต้องส่งต้นข้าว หรือเมล็ดข้าวสารที่สีแปรสภาพแล้วให้กับรัฐในอัตรา 66% อาทิเช่น หากสีแปรข้าว 1,000 กิโลกรัม จะต้องส่งต้นข้าว 660 กิโลกรัมให้กับรัฐ ส่วนที่เหลือจากการสีแปร อาทิเช่น ปลายข้าว รำข้าว โรงสีจะได้ไปฟรีๆ และจะได้ค่าสีแปรอีกตันละ 400 บาท แต่ในปีนี้ ราคาข้าวสูงขึ้นมาก จะต้องพิจารณาอีกครั้ง ว่า โรงสีจะต้องส่งมอบให้รัฐในอัตราใด ส่วนปลายข้าว รำข้าว ยังจะได้ฟรีๆ อีกหรือไม่" นายยรรยงกล่าว
สศก.ชี้ผลผลิตนาปรังเพิ่ม 29%
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สศก.ได้ประมาณการผลผลิตข้าวนาปรังปี 2551 ทั้งประเทศ มีเนื้อที่ 12.80 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 27% มีผลผลิต 8.79 ล้านตัน ข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 29% เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่าราคาข้าวนาปรังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จึงตัดสินใจขยายพื้นที่เพาะปลูกตลอดเวลา มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ จากการที่กรมชลประทานปล่อยน้ำช่วยเหลือเต็มที่ มีการเตรียมดินอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้ที่นาว่าง รวมทั้งมีการเพาะปลูกนาปรังรอบสองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพ.ค.- มิ.ย.เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมากที่สุด คือ 46% ของผลผลิตทั้งหมด ทำให้ราคาลดลงบ้าง ประกอบกับเกษตรกรเก็บเกี่ยวในขณะที่ผลผลิตมีความชื้นสูง ผู้ซื้อจึงตัดราคา โดยราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ในเดือนก.พ.ราคาข้าวเจ้านาปรังตันละ 8,075 บาท เดือนมี.ค.ตันละ 9,497 บาท เดือนเม.ย.ตันละ 12,936 บาท ส่วนข้าวเหนียวนาปรังตันละ 9,843 บาท ในเดือนพ.ค.ราคาข้าวเจ้านาปรังตันละ 12,366 บาท ข้าวเหนียวนาปรัง 8,115 บาท ตามลำดับ
สำหรับเดือนมิ.ย. ราคาข้าวเจ้านาปรังตันละ 12,726 บาท ข้าวเหนียวนาปรังตันละ 7,421 บาท จะเห็นว่าราคาข้าวนาปรังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าบางสัปดาห์จะลดลงไปบ้าง ส่วนข้าวเหนียวนาปรังมีปัญหาเรื่องความชื้น และอยู่ในช่วงผลผลิตออกมามากตามฤดูกาล ทำให้ราคาลดต่ำลงบ้าง โดยเดือนมิ.ย.-ส.ค.จะมีผลผลิตออกมาประมาณ 2.37 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นปลายฤดูกาลแล้ว สำหรับภาคใต้ผลผลิตจะออกมาในช่วงส.ค.-ต.ค. แต่มีไม่มากนัก
"จุลยุทธ" ส่งสายตรวจสต็อกข้าวสัปดาห์หน้า
นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบสต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าตนจะสั่งการให้อนุกรรมการตรวจสอบสต็อกข้าวจำนวน 36 ชุด ลงพื้นที่ 34 จังหวัด เพื่อปูพรมตรวจสอบข้าวที่อยู่ในสต็อกขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 2.1 ล้านตัน และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อนเข้าไปตรวจสอบ
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ตรวจสอบสต็อกข้าวของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จะครอบคลุมถึงข้าวเปลือกที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย
ั้ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|