นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/2552 เป็นการด่วน เพื่อสรุปราคารับจำนำข้าวนาปีให้ได้ ก่อนนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันที่ 20 ต.ค. และเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 21 ต.ค.นี้ โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 2551/2552 จะต้องลดลงให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และราคาตลาดที่ลดลง
ทั้งนี้ คาดว่า ราคารับจำนำข้าวเปลือก ที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท จากเดิมกำหนดที่ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิยังคงราคาตันละ 16,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 8,000-9,000 บาท จากเดิมที่กำหนดตันละ 9,000-10,000 บาท พร้อมกันนั้น จะขยายระยะเวลาการไถ่ถอนจาก 90 วัน เป็น 120 วัน นับจากวันรับจำนำ โดยเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2551-28 ก.พ.2552 แต่เป้าหมายปริมาณรับจำนำยังคงเดิมที่ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนเงินที่จะใช้ในการรับจำนำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตรียมไว้แล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท
นายโนรี ศรีสมุทรนาค นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐบาลผลักดันราคารับจำนำข้าวไม่ให้ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท เพราะหากเหลือ 12,000 บาท ชาวนาจะอยู่ไม่ได้ เพราะชาวนาได้รับเงินจริง เมื่อหักความชื้นแล้วเหลือตันละไม่ถึง 10,000 บาท ต้นทุนขณะนี้ 6,500-7,000 บาทต่อไร่ ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาล จะเพิ่มส่วนต่างให้หากขายข้าวได้ราคาดี ถือเป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอยมาก และยากที่จะทำได้
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ทำให้นายไชยา ยอมลดราคารับจำนำลง จากเดิมยืนยันตันละ 14,000 บาท เป็นเพราะได้รับข้อมูลว่าหากรัฐยังยืนยันที่ราคา 14,000 บาท จะทำให้ชาวนานำข้าวเข้าโครงการรับจำนำ เพราะราคาตลาดขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละ 11,500 บาท และหอมมะลิอยู่ที่ 14,600 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคารับจำนำมาก อาจทำให้มีข้าวเข้าโครงการ 10-12 ล้านตัน จากเป้า 8 ล้านตัน ซึ่งรัฐไม่มีเงินเพียงพอ ไม่มีโกดังเก็บข้าว และไม่มีกระสอบบรรจุข้าว จึงต้องลดราคาลงมา ส่วนการขยายเวลาไถ่ถอน เพราะหวังว่ารัฐจะปั่นราคาข้าวขึ้นและให้ชาวนามาไถ่ถอนออกไปขายในตลาดแทน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|