www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

นายกส.ชาวนาเตือนรัฐผิดทาง ด่วนแทรกแซงราคา"รับซื้อข้าว"

     นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐจะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวและข้าวเปลือกเจ้า ว่า ภาพรวมเกษตรกรพอใจ โดยปริมาณข้าวเปลือกเหนียวที่จะออกสู่ตลาดกว่า 100,000 ตัน จะไม่ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ เพราะปริมาณรับซื้อของภาครัฐมีมากถึง 200,000 ตัน

     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ข้าวเปลือกเจ้าที่ภาครัฐประกาศว่าจะรับซื้อ 14,000 บาท/ตัน จากการหารือกับเกษตรกรและโรงสีข้าวส่วนใหญ่เห็นว่า ภาครัฐกำลังเดินทางผิด เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมและกลุ่มสมาคมโรงสีข้าวไทยได้มีการหารือกัน ทางกลุ่มโรงสียินดีรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าราคาตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาภาครัฐที่จะรับซื้อ

     ดังนั้น โดยหลักการไม่ขัดข้องที่ภาครัฐจะเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าจากเกษตรกร แต่ปลายฤดูข้าวนาปรังที่จะมีผลผลิตมากกว่า 2 ล้านตัน ขณะที่ภาครัฐจะรับซื้อเพียง 200,000 ตัน จะมีปัญหาแน่นอน ประกอบกับการที่ภาครัฐประกาศจะซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคา 14,000 บาท/ตัน และให้เกษตรกรนำมาขายที่โรงสีเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเกษตรกรไม่มีเครื่องมือเพียงพอที่จะขนข้าวมาขายให้โรงสี

     “ความจริงรัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากราคาข้าวเปลือกต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน รัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซง แต่ขณะนี้ราคาตลาดยังอยู่ในระดับ 14,000-15,000 บาท/ตัน จึงอยากให้ภาครัฐเป็นผู้ประสานงานและเน้นทำตลาดเพื่อการส่งออก โดยปล่อยให้โรงสีเข้ามารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคา 15,000 บาท/ตัน ในความชื้นไม่เกิน 15%” นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าว

     นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ราคาข้าวเปลือก 15,000 บาท/ตัน จะเป็นข้าวเปลือกแห้งที่มีความชื้นไม่เกิน 15% แต่โดยหลักการความชื้นที่สูงกว่า 15% การซื้อข้าวเปลือกของโรงสีที่เกษตรกรจะได้รับ จะมีสัดส่วนลดลงมาตามความชื้น เท่ากับเกษตรกรจะขายข้าวเปลือกโดยเฉพาะข้าวเปลือกความชื้นสูงจะอยู่ระดับ 12,500-14,000 บาท/ตัน หากภาครัฐกำหนดราคารับซื้อที่ 14,000 บาท ก็เท่ากับเกษตรกรจะถูกหักความชื้นและขายข้าวเปลือกเฉลี่ยระดับ 11,000 บาท/ตันเท่านั้น

     "หากรัฐยังจะเดินหน้าเป็นผู้รับซื้อข้าวจากเกษตรกร ภาครัฐจะต้องเสียเงินค่าฝาก ค่าขนส่ง ค่าอบข้าว และอื่นๆ ซึ่งเป็นเงินมหาศาล จึงเสนอภาครัฐควรเปิดโอกาสจัดประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐ สมาคมชาวนาไทย สมาคมโรงสีข้าวไทยและผู้ส่งออกข้าว เพื่อจัดระบบข้าวไทย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย" นายประสิทธิ์ระบุ

ชาวนาพิจิตรชี้รัฐแก้ราคาข้าวไม่ถูกจุด

     นายจุลดิษฐ์ สิทธิธารส ตัวแทนเกษตรกรชาวนาจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องราคาข้าวทุกวันนี้พูดกันว่าชาวนาได้ราคาข้าวดี และจะทำให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่จริงอย่างที่รัฐบาลออกมาพูด ถึงแม้ราคาข้าวดีแต่ราคาปุ๋ยและน้ำมันนั้นได้ขึ้นราคาเป็นเงาตามตัว สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ข้าวก็ลดลงเหลือเพียงตันละ 9,000 บาท อีกทั้งต้นทุนในการผลิตของชาวนาก็สูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวเกรงว่าจะกลับมาเหมือนเดิม

     นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะออกมาซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหาของรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลในเรื่องการประกันราคาข้าว มีการโกงกันมาเกือบทุกยุคทุกสมัย ยิ่งขณะนี้จะมีงบที่รัฐบาลจะนำมารับซื้อข้าวจากชาวนาเองถึง 7 หมื่นล้านบาท เห็นว่าควรจะทำในลักษณะให้เกษตรกรกลุ่มชาวนา เป็นผู้ที่ดำเนินการเองโดยไม่ให้โรงสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับมาเหมือนเดิมคือโกงกันได้ จึงอยากเสนอแนะถึงรัฐบาล ให้ชาวนาซื้อกันเองดีกว่าที่จะให้ธ.ก.ส.หรือโรงสีมาซื้อ เพราะเกษตรกรไม่มั่นใจตรงนี้

รัฐโบ้ยผู้ส่งออกกดราคาข้าวโรงสี

     นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาโรงสีกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ว่า กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบพบว่า เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากผู้ส่งออกกดราคารับซื้อจากโรงสี ทำให้โรงสีต้องกดราคารับซื้อจากชาวนาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไก และภาครัฐต้องเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ชี้เอเชียบริโภคข้าวลดลง

     รายงานการวิเคราะห์เรื่องข้าวในสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ราคาข้าวที่ทะยานขึ้นในปีนี้ เพราะปัจจัยหลากหลายประการ แต่ไม่ได้พุ่งขึ้นเพราะความต้องการในจีนและอินเดีย ถึงแม้ความต้องการในสองประเทศนี้ จะเป็นปัจจัยหนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ทะยานขึ้นก็ตาม

     ทั้งนี้ ชาวจีนและอินเดีย มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และประชากรของสองประเทศ ก็หันมาบริโภคนมและเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งหันมาทดลองอาหารใหม่ๆ เช่น พาสต้า และลดปริมาณการบริโภคข้าวลง ซึ่งถ้าหากความต้องการข้าวในจีนปรับตัวตามแนวโน้มการบริโภคในญี่ปุ่น อุปสงค์ข้าวในจีนก็อาจดิ่งลงครึ่งหนึ่งในเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้า และจะช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีต่อราคาข้าว หลังจากราคาข้าวเอเชียพุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่าในปีนี้

     "ประชาชนมีฐานะดีขึ้นและต้องการจะทดลองอาหารอร่อยแบบอื่นๆ ประชาชนจำนวนมากยิ่งขึ้นตระหนักว่าเนื้อสัตว์และผักมีคุณค่าทางโภชนาการและส่งผลดีต่อสุขภาพ ประกอบกับทางเลือกในการรับประทานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลลบต่อปริมาณการบริโภคข้าว" นายไช เว่ยจง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ความเห็น

     ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาข้าวคือปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาข้าวโพดและข้าวสาลี โดยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอาหารโปรตีนสูง ซึ่งรวมถึงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งขึ้น 2 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

     ราคาข้าวเคยไต่ขึ้นช้ากว่าราคาธัญพืชอื่นๆ แต่ราคาข้าวเริ่มพุ่งขึ้นไล่ตามธัญพืชอื่นๆ อย่างรวดเร็วในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากการที่เวียดนาม , อินเดีย และจีนควบคุมปริมาณการส่งออกเพื่อกดดันราคาข้าวในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ

     การพุ่งขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มระยะยาวของปริมาณข้าวสำรองในเอเชีย ในขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทำการเกษตร , ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นสร้างปัญหาให้กับเกษตรกร และภาวะอากาศที่แปรปรวน ก็เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก

     นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่น , เกาหลีใต้ และไต้หวันเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆในเอเชีย

     มหาวิทยาลัยกิวชิวในญี่ปุ่น ระบุว่า ปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวในจีนดิ่งลง 10% ในช่วงระหว่างปี 2544-50 โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคข้าวอันดับหนึ่งของโลก

     แม้จำนวนประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการบริโภคข้าวโดยรวมกลับลดลงสู่ 127 ล้านตัน จาก 135.5 ล้านตัน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงครองสัดส่วนเกือบถึง 1/3 ของปริมาณการบริโภคข้าวทั่วโลก โดยข้าวทั้งหมดที่บริโภคในจีนเป็นข้าวที่ปลูกในจีนเอง

     ขณะที่เจ้าหน้าที่ในวงการอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในอินเดีย ปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวดิ่งลง 7% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการพัฒนาที่ทวีความเร็วขึ้นอาจส่งผลให้ปริมาณการบริโภคข้าวทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม

     "ประชาชนใช้จ่ายเงินมากขึ้นในการกินอาหารนอกบ้าน และเราก็พบว่าปริมาณการบริโภคพิซซ่าและเบอร์เกอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตอนนี้ร้านอาหารมีจำนวนสูงมาก" นายวิจัย เซเธีย ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวอินเดีย กล่าว

     จีนและอินเดีย ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น โดยปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวในญี่ปุ่นลดลงครึ่งหนึ่งสู่ระดับ 60 กิโลกรัมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในจีน มีปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวอยู่ที่ 96.1 กิโลกรัมในปี 2550 และอยู่ที่ 81.1 กิโลกรัมในอินเดีย ส่วนไต้หวัน อยู่ที่ระดับเพียง 50 กิโลกรัมเท่านั้น

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.