www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ญี่ปุ่นโละสต๊อกข้าว WTO ผู้ส่งออกผวาสัญญาณราคาข้าวขาลง

     หลังจากราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 300 เหรียญสหรัฐขึ้นเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐ ในเวลา 3-4 เดือน ส่งผลให้เกิดภาวะ " วิกฤตราคา" ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับปัญหาราคาข้าว ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า มีแนวคิดจากองค์กรภาคเอกชนในสหรัฐสนับสนุนให้ "ญี่ปุ่น" นำข้าวในสต๊อกจำนวน 1.5 ล้านตัน ที่จำเป็นต้องซื้อจากพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) ออกมาขายใน "ราคาต่ำ" หรือบริจาคให้กับ "World Food Program" และประเทศยากจนในแอฟริกาที่มีความต้องการข้าว

     อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นยังไม่สามารถระบายสต๊อกข้าวตามพันธกรณี WTO ได้ เนื่องจากติดปัญหากฎหมายภายในสหรัฐ ที่ระบุให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากสหรัฐ หาก re-export ข้าว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐก่อน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลสหรัฐยังไม่มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ "จีน" ซึ่งมีสต๊อกข้าวในประเทศสูงหลายสิบล้านตัน อาจจะทำเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยการนำสต๊อกบางส่วนออกมาขายให้กับประเทศที่ยากจน ซึ่งหากทั้งสองประเทศตกลงที่จะนำสต๊อกข้าวออกมาขายอาจจะส่งผลกระทบกับราคาข้าวในตลาดโลก

     นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า หากญี่ปุ่นและจีนนำข้าวในสต๊อกออกมาขายในราคาต่ำ แม้จะอ้างว่าช่วยเหลือคนยากจน แต่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับราคาข้าวในตลาดโลกอย่างมาก แม้ในส่วนตัวจะมั่นใจว่าจีนและญี่ปุ่นจะไม่กล้าดัมพ์ข้าวเข้าสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก เพราะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น ไทย " แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ควรประมาทและควรจะจับตามองประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด หาก มีความเคลื่อนไหวในกรณีนี้ของจีนและญี่ปุ่น รัฐบาลไทยต้องออกมาคัดค้าน" นายวิชัยกล่าว

     นอกจากแนวโน้มราคาตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางราคาข้าวในช่วงนี้จนถึงปลายปีจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากซัพพลายข้าวที่เพิ่มขึ้น โดยหลังจากเดือนมิถุนายนจะเป็นช่วงข้าวนาปรังรอบ 2 ออกสู่ตลาด และคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และจากราคาข้าวปรับสูงขึ้น 100% จูงใจให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกและทำนาปรังเพิ่ม เท่ากับว่าจะมีข้าวออกสู่ตลาดอีกในเดือนกันยายน ส่วนข้าวนาปีจะเริ่มออกเดือนตุลาคม-มกราคม 2552 คาดว่าปีนี้ผลผลิตข้าวของไทยและประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นจะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในชิคาโกปรับลดลง

     ส่วนสถานการณ์การเร่งปลูกข้าวของชาวนาในขณะนี้ กำลังตกอยู่ใน " ภาวะที่น่าเป็นห่วงและมีความเสี่ยงสูง" เนื่องจากต้น ทุนการผลิตของชาวนาทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น 100% แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เท่าเดิม และวิธีการเพิ่มผลผลิตโดยการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจาก 10 ไร่เป็น 20 ไร่ และไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ อาจจะทำให้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวต่อไร่เพิ่มขึ้น เพราะอัตราค่าเช่ารถเกี่ยวข้าวคำนวณจากพื้นที่ แต่หากเกษตรกรหันมาใส่ใจปลูกน้อยเพิ่มคุณภาพผลผลิตต่อไร่แทน จะช่วยลดต้นทุนค่าเกี่ยวข้าวและวัสดุทางการเกษตรลง

     สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ออกมาระบุว่า แนวโน้มราคาข้าวจนถึงสิ้นปีจะปรับลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเสี่ยงที่ราคาข้าวจะปรับลดลง ส่วนสาเหตุที่ราคาจะปรับลดลงเพราะที่ผ่านมาราคาข้าวปรับสูงขึ้นอย่าง ผิดปกติ 100% เป็นผลสะท้อนหลังจาก ราคาข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้นนับจากปลาย ปี 2550 จนชนราคา ข้าว ส่งผลให้ผู้ผลิต ข้าว 2 รายใหญ่คือ จีน กับอินเดียชะลอการส่งออกทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกลดลง

     "รัฐบาลควรกำหนดแนวทางจัดการไว้ก่อนตั้งแต่วางแผนการผลิตว่าจะไปทางไหน กำหนดทางเลือกด้านราคา (option pricing) โดยกำหนดราคาประกันไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเลย หากราคาสูงกว่าไปขายที่อื่นได้ เสียค่าประกันอัตรา 400-500 บาทต่อตัน นโยบายรัฐบาลขณะนี้ผิดพลาด คือพยายามเข้าไปทำให้ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก ซึ่งไม่สำเร็จ เช่นเดียวกันนโยบายข้าวถุงธงฟ้ามหาชนก็มีผลให้ข้าวสารมี 2 ตลาด เป็นช่องทางให้คนอีกกลุ่มซื้อแล้วไปขาย" ศ.ดร.อัมมารกล่าว

     ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ " ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้ราคาข้าวจะดีและมีแนวโน้มราคาจะสูงต่อเนื่องไปยัง 3 ปี ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายเดียวของโลกเพราะ ประเทศอื่นห้ามส่งออกเพราะกลัวข้าวขาดแคลน

     "ตามปกติไทยจะมีผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศ 31 ล้านตัน สามารถสีเป็นข้าวสารได้ 20 ล้านตัน เดิมคาดการณ์กันว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะออกมาทั้งหมด 6.5 ล้านตันข้าวเปลือกและจะสามารถสีเป็นข้าวสารได้ 4.2 ล้านตัน แต่ล่าสุดผมทราบว่าผลผลิตข้าวนาปรังหายไป 1 ล้านตันเหลือเป็นข้าวสารแค่ 3 ล้านตันเศษเท่านั้น" นายมิ่งขวัญกล่าว

     นั้นหมายความว่า ราคาข้าวในประเทศยังคงปรับตัวอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น "ข้าวจะไม่ตกลง" ประกอบกับ ครม.เองได้มีมติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้ออกรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพื่อดันราคาข้าวไม่ให้ตกลง แบ่งเป็นราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 14,000 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 7,000 บาท(ความชื้น 25%), ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,000 บาท (ความชื้น 15%) และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 19,000-20,000 บาท โดยจะให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออก รับซื้อผ่านทางโรงสีข้าวที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื้อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.)

     ส่วนความคืบหน้าในการตั้งกลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกข้าว หรือ OREC นั้น หากเกิดตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว "ผมว่าคงจะไม่มีใครว่าอะไร" แต่จนถึงวันนี้ที่ทั่วโลกเริ่มออกมาพูดถึงวิกฤติราคาอาหารโลก หากไทยยังเป็นผู้นำในการตั้ง OREC อยู่ อาจจะถูกต่อต้านจากทั่วโลกว่าต้องการผูกขาดราคาข้าว ซึ่งสวนทางกับสภาวะที่คนยากจนอดอยาก ดังนั้นท่าทีของไทยในวันนี้คงจะต้อง "ชะลอ" การตั้ง OREC ออกไป อยากเน้นในเรื่องของ rice cartel ซึ่งคือการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศผู้ปลูกข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวมากกว่า

     การที่ราคาข้าวในประเทศพุ่งต้องยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะราคาข้าวส่งออกสูง และข้าวมาจากแหล่งเดียวกัน หากเราคุมราคาข้าวในประเทศ พ่อค้าจะหันไปส่งออกหมด ทางออกเดียวคือต้องห้ามส่งออก เหมือนที่เวียดนามและอินเดียทำ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเราหยุดส่งออกไม่ได้ หากผมตัดสินใจห้ามส่งออก เพื่อกดราคาข้าวภายในประเทศลง แน่นอนว่าเราจะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากทั่วโลก

ที่มา ประัชา่ชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.