www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

นายกฯยึด! ตั้งกก.4 ชุดคุมข้าวเบ็ดเสร็จ

     เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 146/2551 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1) และ (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการอำนวยการ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ อาทิ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเดิมทีกรรมการชุดนี้ไม่มีชื่อนายมิ่งขวัญร่วมเป็นกรรมการด้วย แต่ได้มีการเพิ่มชื่อในภายหลัง

     "คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการกำหนดมาตรการและแผนงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบ และดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการรับจำนำข้าว การแปรรูป การจัดเก็บไว้ในโกดัง และการจำหน่ายข้าว"

     2. คณะกรรมการรับจำนำ มีนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธาน ส่วนกรรมการ อาทิ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ร่วมเป็นกรรมการแต่อย่างใด ซึ่งเดิมนั้นคณะกรรมการรับจำนำข้าวจะมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน และผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นกรรมการอยู่ด้วย นอกจากนี้ การรับจำนำข้าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าเพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน

     3. คณะกรรมการแปรสภาพและจัดเก็บข้าว มีนายสุทัศน์ สุทันกิตระ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนกรรมการ อาทิ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง นายมนตรี รัตนอมร นักบริหาร 9 อคส. ขณะที่เดิมจะมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน

     4. คณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าว มีนายนัที เปรมรัศมี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง นายมนตรี พงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมพัฒนาสถาบันการค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นกรรมการและเลขานุการ และนายรณชัย แดดภู่ นักวิชาการ 8 ว. กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จากเดิมนั้นจะมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการระบายข้าว มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ 2 คน คือ นายมนตรี และนายรณชัย แต่ทั้ง 2 คนนั้นไม่มีความชำนาญเรื่องข้าวมาก่อน แต่เพราะรู้จักกับนักการเมืองบางคน จึงถูกดึงมาร่วมเป็นกรรมการเพื่อเป็นไม้ประดับเท่านั้น

     "อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ จัดจำหน่ายข้าวที่รับจำนำของ ธ.ก.ส. และข้าวที่อยู่ในสต๊อคอื่นๆ ของรัฐบาล พร้อมติดต่อเจรจาผู้ซื้อข้าวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยประสานงานกับคณะกรรมการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489 ตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนดด้านราคาและปริมาณการจำหน่าย"

     แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดดังกล่าวนั้น ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กขช.) ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเรื่องข้าวอย่างครบวงจรอยู่แล้ว ซึ่ง กขช.จะมีคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านการผลิต มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการตลาด ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

     "การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า เพื่อดึงอำนาจบริหารจัดการเรื่องข้าวออกจากมือของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่การรับจำนำข้าวที่ให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้กำกับดูแล ล่าสุดคือการจัดจำหน่ายและระบายข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลมาตลอด ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องข้าวครั้งนี้ เหมือนกระทรวงพาณิชย์ถูกปล้นอำนาจกลางแดด" แหล่งข่าวกล่าว

     แหล่งข่าวกล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าวชุดใหม่นี้ สอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า มีคนในทำเนียบรัฐบาลได้ไปเจรจาขายข้าวให้กับประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ไว้แล้ว และมีความพยายามที่หาผลประโยชน์จากการส่งออกข้าวครั้งนี้ แต่เนื่องจากอำนาจการเจรจาการขายและการระบายข้าวอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ และนายมิ่งขวัญไม่ยอมเล่นด้วย จึงต้องดึงอำนาจมาจัดการเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันให้นายมิ่งขวัญลาออกด้วย

     "คณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าวแต่ละคนนั้น ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการเจรจาและการจำหน่ายข่าวมาก่อน แต่มีนักการเมืองไปเจรจาติดต่อกับประเทศต่างๆ ไว้แล้ว ก่อนเสนอเรื่องให้คณะกรรมการชุดนี้รับรอง ซึ่งคงเป็นกรรมการตรายางให้นักการเมืองเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว

     นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ลาออกเด็ดขาด เพราะเห็นว่ายังสามารถทำงานให้กับประเทศชาติในหลายเรื่อง จึงจะขอทำงานต่อไป

     นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคพลังประชาชน และคนใกล้ชิดนายมิ่งขวัญ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายมิ่งขวัญมาโดยตลอด และยืนยันจะไม่ลาออกแน่นอน เพราะยังมีกำลังใจที่ดีในการทำงาน และ ส.ส.ของพรรคก็ยังให้การสนับสนุนอยู่ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ภายในพรรคอย่างที่เป็นข่าว ส่วนที่นายกฯดึงงานเรื่องข้าวในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเองนั้น เรื่องนี้นายมิ่งขวัญก็เห็นด้วย ไม่ได้คัดค้าน

     แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวว่า ขณะนี้เจ้าของโกดังข้าวกว่า 50 ราย กำลังแย่งชิงที่เข้าร่วมโครงการรับเก็บข้าวที่รับจำนำข้าว หลังจากที่ขาดรายได้จากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่ไม่เปิดโครงการรับจำนำและได้ระบายข้าวในสต๊อคไปกว่า 4 ล้านตัน บางรายได้ขอให้ ส.ส.และรัฐมนตรีในพื้นที่ช่วยผลักดัน และคัดค้านที่ อคส.จะเช่าโกดังเก็บข้าวโดยตรงกับเจ้าของโกดังเอง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อคส.เสนอนายมิ่งขวัญ ขอใช้หน่วยโลจิสติคส์ของ อคส.บริการจัดการเก็บข้าว แทนการให้โกดังบริการจัดการเอง เพราะที่ผ่านมามีการกินหัวคิว และมักมีปัญหาการทุจริต ซึ่งการเช่าโกดังโดยตรงกับเจ้าของโดยไม่ผ่านนายหน้าที่จะหักค่าเก็บกระสอบละ 1 บาท ซึ่งตามมติ กขช.กำหนดอัตราค่าเก็บกระสอบละ 2 บาท/เดือน แต่ อคส.จะให้เช่าพื้นที่ตามที่ใช้จริงและจ่ายค่าเช่าเป็นตารางเมตร โดยจะคัดเลือกโกดังที่ให้ค่าเช่าต่ำสุด หรือไม่เกิน 30-40 บาท/เดือน/ตารางเมตร ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มรายได้ให้ อคส.ด้วย

     ส่วนบรรยากาศการรับจำนำข้าวในพื้นที่ต่างๆ มีชาวนาจาก อ.เมืองพิจิตร และ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก กว่า 1,000 คน มี จ.ส.ต.สะท้าน อิ่มอยู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ย่านยาว และนายอารมณ์ มีหวัง กำนันตำบลย่านยาว อ.เมืองพิจิตร เป็นแกนนำ ชุมนุมที่หน้าสำนักงาน อบต.ย่านยาว เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดจุดรับจำนำข้าวเพิ่ม เนื่องจาก จ.พิจิตร เปิดจุดรับจำนำเพียง 2 แห่ง คือ โรงสีสิงห์ทอง และโรงสีศรีรัฒนา ไรซ์ ซึ่งมีระยะทางไกล ต้องเสียเงินค่าบรรทุกข้าวเกวียนละ 300 บาท โดยเสนอให้โรงสีรุ่งเรืองไพบูลย์ ที่ตั้งอยู่ ต.ย่านยาว เปิดจุดรับจำนำเพิ่มอีก 1 จุด จากนั้นกลุ่มชาวนาปิดถนนทางหลวงสาย 115 พิจิตร-สามง่าม หมู่ 9 บ้านคลองเนิน ต.คลองตะเชนค์ อ.เมืองพิจิตร ทำให้ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวเดือดร้อน

     ต่อมานายสุเมธ ชัยเลิศวนิชกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ไปเจรจา โดยชี้แจงว่าไม่สามารถให้โรงสีรุ่งเรืองไพบูลย์เปิดจุดรับจำนำได้ เนื่องจากถูก อคส.แจ้งความดำเนินคดีอยู่ และส่งข้าวให้กับ อคส.ไม่ครบนับหมื่นตัน แต่จะขอให้โรงสีร่วมเจริญ 2 มาเปิดจุดรับจำนำที่โรงสีเอกเกษตรคลังสินค้า ที่ ต.คลองคะเชนค์ ซึ่งใกล้กับพื้นที่ชาวนาขายข้าว หลังฟังคำชี้แจงกลุ่มชาวนาจึงยอมสลายตัว

     นายอาณัฐพงศ์ ศักดิ์เจริญ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีชาวนาประท้วงโรงสีเจริญสุขสมบูรณ์ ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ ที่ไม่ยอมจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาเกือบ 100 ราย วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท ว่า โรงสีดังกล่าวยักยอกสต๊อคข้าวตามโครงการรับจำนำไปกว่า 200 ตัน และทราบว่านายธเนศ สุขสมแดน เจ้าของโรงสีหลบหนีไปแล้ว ส่วนข้าวเปลือกในโรงสีอยู่ระหว่างการอายัดเพื่อตรวจสอบ ส่วนโรงสีเทพมงคล อ.บางซ้าย ที่ชาวนาอ้างว่านำข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำข้าวแต่ยังไม่ได้เงินนั้น ขอชี้แจงว่า โรงสีเทพมงคลเพิ่งเข้าร่วมโครงการรับจำนำเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน แต่ชาวนานำข้าวไปขายโรงสีแห่งนี้ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 40 ราย รวม 300 ตัน จึงเป็นการซื้อขายข้าวเปลือกกัน ไม่ใช่การจำนำข้าว

     นายวิเชียร พวงลำเจียก กรรมการสมาคมชาวนาไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาโรงสีเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวให้มากกว่านี้ เพราะชาวนาในหลายจังหวัดลำบาก ต้องขนข้าวเป็นระยะทางไกล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก

     นายเพิ่มศักดิ์ สีทองสุรภณา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัดเห็นว่ามีปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าวมาก โดยจะเสนอ กขช. และ ธ.ก.ส. มอบอำนาจให้จังหวัดตัดสินใจแปรสภาพ (สี) ข้าวเปลือก เพื่อให้โรงสีคล่องตัวในการรับจำนำ และมีเงินหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวต่อเนื่อง และขอให้จังหวัดเป็นผู้พิจารณาเปิดจุดรับจำนำข้าวนอกพื้นที่ เนื่องจากในปลายเดือนนี้จะมีข้าวเปลือกในพื้นที่ออกมา 82,049 ตัน

ั้ที่มา มติชน

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.