www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

โรงสีจี้รัฐบาลหาตลาดจีทูจี ระบายข้าวจำนำต้นทุนสูง

      แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสีข้าว เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2551 นั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือสั่งโรงสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 7-10 วัน และต้องเร่งหาตลาดข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เพราะหากเก็บสต๊อกข้าวสารไว้นานต้องมีค่าใช้จ่ายเก็บรักษาที่สำคัญคือต้นทุนข้าวสารของรัฐบาล ณ เวลานี้สูงกว่าราคาตลาดตันละประมาณ 4,500 บาท ( คำนวณจากราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 5% ที่ความชื้น 15% ตันละ 13,800 บาท ซึ่งเมื่อแปรเป็นข้าวสารจะตกตันละ 24,500 บาท ขณะที่ราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 20,000 บาท )

     "เวลานี้รัฐบาลเวียดนามตั้งราคาส่งออกข้าวสาร 5% ราคาเอฟโอบีขั้นต่ำที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลไทยเสนอขายข้าวจากโครงการจำนำในราคาใกล้เคียงกับราคาขั้นต่ำของเวียดนาม นอกจากจะเป็นราคาที่ทำให้แข่งขันกับเวียดนามได้แล้ว ยังเป็นราคาที่เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะขาดทุน ทั้งยังจะช่วยดันราคาข้าวทั้งในประเทศและตลาดโลกให้สูงสอดรับกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย"แหล่งข่าวกล่าวและว่า

     เนื่องจากข้าวสารที่ผู้ส่งออกรับซื้อจากโรงสีอยู่ที่ตันละประมาณ 20,000-21,000 บาทหากคำนวณเป็นข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 11,000-11,500 บาท เป็นราคาที่ใกล้เคียงต้นทุนการผลิตของชาวนามาก เพราะปัจจุบันปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นอย่างมาก ถ้ารัฐบาลไม่ดันราคาข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สูงขึ้น อาจต้องประสบปัญหาขาดทุนมากกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ โดยเฉพาะหากนำมาประมูลขายให้กับผู้ส่งออกที่ปัจจุบันมีการซื้อเพียงตันละ 20,000 บาท หรือหากราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น แต่รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บจะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งขาดทุน ทางออกที่ดีต้องรีบขายแบบจีทูจี

     แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าสำหรับปริมาณการรับจำนำ หลังจากเริ่มโครงการจนเข้าที่เข้าทางแล้วคาดว่าจะมีข้าวไหลเข้าสู่โครงการค่อนข้างมาก เพราะราคาที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารตันละ 20,000 บาท โรงสีจะซื้อข้าวเปลือกได้เพียงตันละ 11,000 บาท ต่ำกว่าราคาจำนำซึ่งหากเป็นข้าวความชื้นสูง 25% ราคาจำนำยังอยู่ที่ตันละ 11,730 บาท ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยังแจ้งว่าภาวะตลาดส่งออกยังซบเซาอยู่ การรับซื้อข้าวสารของผู้ส่งออกจากโรงสีจึงชะลอลงด้วย

     ด้านนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2 วันแรก (15-16 มิถุนายน 2551) ว่ามีเกษตรกรใน 6 จังหวัดคือพิจิตร สุโขทัย นครสวรรค์ อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และชัยนาท นำข้าวมาจำนำรวมทั้งสิ้น 359 ราย จำนวนข้าวเปลือก 4,560 ตัน จำนวนเงินรับจำนำ 61.7 ล้านบาท ทั้ง 6 จังหวัด มีจำนวนโรงสีเข้าร่วมโครงการ 8 โรง เหตุที่ยังมีปริมาณข้าวเปลือกเข้าโครงการไม่มาก เพราะโครงการเพิ่งเปิดเกษตรกรยังทราบข่าวไม่ทั่วถึง และบางพื้นที่ฝนตกหนักเกี่ยวข้าวไม่ได้ ประกอบกับจุดจำนำยังมีน้อย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสัญญากันอยู่ คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์จะสามารถเปิดจุดจำนำได้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด

     พร้อมกันนี้ธ.ก.ส.ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับโรงสี เช่นปรับค่าจ้างสีจากตันละ 400 บาทเป็นตันละ 550 บาท เพิ่มวงเงินรับจำนำให้กับชาวนาจากรายละ 350,000 บาท เป็น 500,000 บาท คาดว่าจะทำให้โรงสีที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

     รองผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าวว่าสำหรับมาตรการป้องกันการทุจริต ได้วางระบบตรวจสอบอย่างเข้มข้นตั้งแต่เกษตรกรต้องมีใบรับรองการเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรังปี 2551 โรงสีต้องผ่านการตรวจสอบจากชมรมโรงสีในพื้นที่และสมาคมโรงสีข้าวไทย เป็นต้น

     แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดนำเข้าข้าวตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องนำเข้าข้าวจากไทยตามปีงบประมาณของญี่ปุ่น(เมษายน 2550- เมษายน 2551) ปีละประมาณ 140,000 ตัน ถึงขณะนี้ซึ่งเลยเวลาปีงบประมาณมาแล้วแต่นำเข้าไปเพียงประมาณ 70,000 ตัน โดยอาจจะเห็นว่าราคาข้าวในตลาดโลกแพงจึงไม่จำเป็นต้องนำเข้า จึงต้องไปเจรจาเพื่อให้ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าตามพันธะส่วนที่เหลือดังกล่าว

     นอกจากนี้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยังจะได้เจรจาในกรณีที่ญี่ปุ่นจะระบายข้าวในสต๊อกซึ่งเป็นข้าวที่นำเข้าตามข้อตกลงดับบลิวทีโอ โดยขายให้กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ควรนำข้าวดังกล่าวมาระบายออกสู่ตลาด เพราะเป็นข้าวที่นำเข้าตามข้อตกลงดับบลิวทีโอ

ั้ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.