www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ศึกข้าวนาปรังปะทุ โรงสีข้าวนึ่งทุ่มซื้อ ราคาพุ่งตันละหมื่น


      โรงสี "ข้าวนึ่ง-ข้าวขาว" เปิดศึกแย่งซื้อข้าวเปลือกนาปรังฤดูใหม่ โรงสีข้าวนึ่งอัพราคาขึ้นจากราคาปกติอีกตันละ 300 บาท ดันราคาทะลุตันละ 10,000 บาทเป็นประวัติการณ์ ข้าวขาวหมดสิทธิ์เพราะขายข้าวสารได้ไม่คุ้มราคาข้าวเปลือก เผยตลาดโลกยังมีความต้องการข้าวอีกมาก ฟิลิปปินส์ปรับเป้านำเข้าเพิ่มเป็น 2.1 ล้านตัน อินโดนีเซียเริ่มขยับสอบถามราคาแล้ว ตั้งเป้านำเข้าปีนี้ 1.6 ล้านตัน

     ความร้อนแรงของสถานการณ์ค้าข้าวจนถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจะลดลง มีเหตุการณ์ให้ระทึกทุกสัปดาห์ ล่าสุดโรงสีข้าวนึ่งกับโรงสีข้าวขาวเปิดศึกแย่งซื้อข้าวจนดันราคาข้าวเปลือกนาปรังทะลุตันละ 10,000 บาท สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ด้านส่งออก ฟิลิปปินส์ปรับเป้าหมายนำเข้าข้าวปีนี้เป็น 2.1 ล้านตัน จากเดิมตั้งเป้า 1.9 ล้านตัน และอินโดนีเซียเริ่มขยับสอบถามราคาแล้ว

     แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2551 ซึ่งชาวนาเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวอยู่ในเวลานี้ว่า ราคาที่โรงสีเสนอซื้ออยู่ระหว่างตันละ 9,000-12,000 บาท กล่าวคือหากเป็นข้าวเปลือกนาปรังความชื้นสูง (25-27%) เฉลี่ยตันละ 9,000-10,000 บาท ข้าวเปลือกแห้งความชื้น (14-15%) เฉลี่ยตันละ 11,000-12,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ของข้าวเปลือกเจ้านาปรังที่ทะลุเกินตันละ 10,000 บาท

     สาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกนาปรังขึ้นทะลุตันละ 10,000 บาท เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแข่งขันกันรับซื้อระหว่างโรงสีข้าวนึ่งกับโรงสีข้าวขาว โดยโรงสีข้าวนึ่งเสนอซื้อสูงกว่าราคาปกติตันละ 300 บาท โดยปกติแล้วราคาข้าวเปลือกไม่สูงถึงขนาดนี้ แต่เนื่องจากโรงสีข้าวนึ่งให้ราคาสูงเพิ่มขึ้นมาอีกตันละ 300 บาท เพราะโรงสีข้าวนึ่งมีภาระต้องส่งมอบข้าวให้กับผู้ส่งออก อีกทั้งคำสั่งซื้อเก่าบางโรงยังค้างส่งมอบผู้ส่งออก

     ประกอบกับแนวโน้มความต้องการข้าวนึ่งยังสูงต่อเนื่อง หลังจากที่อินเดียได้ประกาศราคาเพดานส่งออกข้าวขึ้นไปถึงตันละ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าอินเดียต้องหยุดส่งออกข้าวโดยปริยายเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งข้าวที่อินเดียส่งออกคือข้าวนึ่ง เมื่ออินเดียส่งออกไม่ได้ออร์เดอร์จะมาลงที่ไทย ปกติอินเดียส่งออกข้าวนึ่งเดือนละ 200,000 ตัน

     "โรงสีข้าวนึ่งอาจจะประสบปัญหาขาดทุนบ้าง สำหรับออร์เดอร์เก่าที่รับผู้ส่งออกไว้ก่อนหน้านี้ เพราะวันนี้ต้องซื้อข้าวเปลือกราคาสูง แต่เนื่องจากแนวโน้มข้าวนึ่งยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อมีผลผลิตข้าวเปลือกออกสู่ตลาด จึงทำให้โรงสีข้าวนึ่งยอมทุ่มซื้อราคาสูงเพื่อเก็บสต๊อกไว้ ส่วนโรงสีข้าวขาว เวลานี้แทบจะทำไม่ได้เลย เพราะเวลานี้ข้าวขาวอยู่ที่กระสอบละ 1,700 บาท ราคานี้ซื้อข้าวเปลือกตันละเป็นหมื่นไม่ได้ แต่โรงสีข้าวนึ่งซื้อได้เพราะข้าวนึ่งอยู่ที่กระสอบละ 1,900 บาท"

     แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ส่งออกข้าวนึ่ง ยอมเสนอซื้อข้าวนึ่งจากโรงสีสูงกว่าราคาตลาดกระสอบละ 100 บาท แต่ขอเครดิตโรงสี 2 เดือน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ส่งออกรายดังกล่าวมีออร์เดอร์ข้าวนึ่งอยู่ในมือมาก แต่ไม่มีข้าวอยู่ในสต๊อก

     ทั้งนี้ปี ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งของไทยปี 2550 ส่งออกต้นข้าวนึ่ง 2,135,751 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีการส่งออก 1,661,487 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 28.5% ปลายข้าวนึ่ง 392 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีการส่งออก 190 ตันหรือเพิ่มขึ้น 106.6% ขณะที่เดือนมกราคม 2551 มีการส่งออก 209,066 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2550 ที่มีการส่งออก 130,004 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 60.8%

     แหล่งข่าวจากวงการส่งออก เปิดเผยเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ส่งออกว่า สำหรับข้าวขาว ซึ่งเป็นชนิดข้าวที่มีการส่งออกมากที่สุด และตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก มีอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่รายหนึ่ง โดยปี 2550 นำเข้า 1.9 ล้านตัน และปีนี้คาดว่าจะนำเข้า 1.6 ล้านตัน โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งองค์กรสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อก)หน่วยงานจัดซื้อข้าว ได้ติดต่อสอบถามราคาเข้ามาแต่ยังไม่มีการเปิดประมูลซื้อ

     ทั้งนี้อินโดนีเซียอาจจะตกใจกับราคาข้าวที่สูงมาก โดยเฉพาะการเปิดประมูลซื้อของประเทศฟิลิปปินส์ครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ และเวียดนามได้เสนอขายจำนวน 200,000 ตัน ราคาC&F (ราคาสินค้าบวกค่าระวางเรือ)ตันละ 715-745 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศไทยเสนอตันละ 680-690 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่ราคา FOB (ราคาสินค้า) อยู่ที่ตันละ 530-540 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ฟิลิปปินส์ได้ตัดสินใจซื้อทั้งหมด

     ส่วนฟิลิปปินส์ หลังจากที่เปิดประมูลซื้อไป 2 ครั้งแล้ว ฟิลิปปินส์เพิ่งได้ข้าวไปประมาณ 750,000 ตัน จากเป้าหมายที่ฟิลิปปินส์จะนำเข้าเดิมตั้งเป้าไว้ 1.6 ล้านตัน แต่ล่าสุดได้ปรับเป้าหมายนำเข้าเพิ่มเป็น 2.1 ล้านตันแล้ว เท่ากับว่าฟิลิปปินส์ยังต้องการข้าวอีกมาก

     "เฉพาะฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียสองประเทศรวมกันคิดว่าจะมีการนำเข้าข้าวอีกรวมเกือบ 3 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่สองประเทศนี้จำนำเข้าข้าวขาว ทิศทางค้าข้าวยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด" แหล่งข่าวสรุปตอนท้าย

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.