|
"มิ่ง"ไม่โกรธ"ข้าว"เปลี่ยนมือ "บรรยิน"ชงกรรมการชุดใหม่
|
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร 4 คณะ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการยึดอำนาจในการดูแลเรื่องข้าวเบ็ดเสร็จจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เชื่อว่านายกฯมีเป้าหมายเดียวกับตน คือต้องการทำให้ทุกอย่างชัดเจน โดยให้ชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด ตนพอใจแล้ว จะเป็นหน่วยไหนทำ ก็ไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทำงานกันเป็นทีมเวิร์ก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายกฯดึงเรื่องข้าวไปดำเนินการเองแสดงว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ไม่มีความสามารถหรือไม่ นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ไม่ทราบว่าคนอื่นมองอย่างไร แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ ที่นายกฯให้คนเข้ามาช่วยก็ดี ตนจะได้มีเวลาจัดการปัญหาอื่น ตนมีงานเยอะอยู่แล้ว ไม่เป็นอะไร และไม่ได้หมายความว่างานของตนไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ที่ถามกันว่าเสียใจหรือไม่ ขอตอบตรงๆ ว่าการที่มีคนเข้ามาช่วยเราทำงานหลายๆ คน เป็นสิ่งที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายกฯแต่งตั้งกรรมการตรวจสต๊อคข้าวรัฐบาล ดูเหมือนเป็นการจับผิดหรือไม่ นายมิ่งขวัญกล่าวว่า การตั้งคณะตรวจสอบเรื่องข้าวเป็นสิ่งที่ดีมาก และเห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นการทำเพื่อความละเอียดรอบคอบ ไม่มีอะไร
"หากตรวจเจอว่าข้าวหายไปก็ต้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาให้ถึงที่สุด แต่เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังและรับผิดชอบ ที่ผ่านมา ผมเป็นคนเริ่มสั่งให้ตรวจสอบเป็นคนแรก ตรวจซ้ำอีกทีก็ดี ประชาชนจะได้สบายใจ" นายมิ่งขวัญกล่าว
เมื่อถามว่า ยังสามารถทำงานร่วมกับนายกฯและรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนอื่นได้หรือไม่ นายมิ่งขวัญบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ พร้อมกับส่ายหน้าและพูดว่า อย่าถามอย่างนี้สิ ขณะนี้ยังทำงานร่วมกันเป็นทีมกับนายกฯ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนอื่นๆ
ด้าน พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลปัญหาข้าวทั้งระบบเป็นเรื่องดี และไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมเพราะใช้หน่วยงานเดิมร่วมมือกันอยู่แล้ว ในการประชุมครั้งแรกตนจะเสนอให้ระบายข้าวในสต๊อครัฐบาล ที่มี 2.1 ล้านตันออกบางส่วนก่อนประมาณ 1 ล้านตัน และควรดำเนินการในช่วง 2 เดือนนี้ก่อนที่ผลผลิตใหม่ของประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญจะออกสู่ตลาด และรองรับข้าวใหม่ที่กำลังรับจำนำอีก 2.5 ล้านตัน การขายตอนนี้น่าจะยังได้ราคาดี เพราะมีหลายประเทศสนใจที่จะซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย ทั้งวิธีรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หรือแลกเปลี่ยนสินค้า(บาร์เตอร์เทรด)
"ราคาระดับ 1 พันเหรียญน่าจะยังขายได้ในช่วงนี้ อย่างขายให้มาเลเซียยังได้ 940-950 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นราคาข้าวในประเทศตันละ 28,000 บาท ข้าวในสต๊อคมีต้นทุนไม่ถึง 10,000 บาท เท่ากับได้กำไรเท่าตัว หลังจากนี้หากราคาข้าวไม่ดีก็เก็บไว้ก่อน ดูเวลาที่เหมาะสมค่อยปล่อยขาย อย่างตุรกีก็แสดงความสนใจซื้อข้าวไทยประมาณ 100,000 ตัน เรื่องการระบายข้าวผมจะนำหารือในคณะกรรมการต่อไป" พ.ต.ท.บรรยินกล่าว
แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า หลังนายกฯตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้าวทั้งระบบ ทำให้เกิดความสับสนต่อหน่วยงานที่เคยดูแลเรื่องข้าวของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะรับนโยบายจากนายมิ่งขวัญ หรือต้องรับนโยบายจากนายกฯ ขณะที่ภาคเอกชนก็สอบถามว่าวิธีปฏิบัติว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และกังวลว่าจะกระทบต่อการส่งออกใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศอาจขอเข้าพบคณะกรรมการหรือนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความชัดเจนในทางปฏิบัติ และการเจรจาซื้อขายข้าวในประเทศและต่างประเทศ และในวันที่ 23 มิถุนายน คณะกรรมการตรวจสอบสต๊อคข้าวจะเริ่มเดินสายตรวจสอบสต๊อคข้าวรัฐบาล 2.1 ล้านตัน
ส่วนบรรยากาศการรับจำนำข้าวในจังหวัดต่างๆ นั้น ที่ จ.อ่างทอง นายสว่าง ฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.อ่างทอง กล่าวว่า ยอดรับจำนำข้าวเปลือกในจังหวัดระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน รวม 485 ตัน เป็นเงิน 6.3 ล้านบาท ขณะที่เกษตรกรส่วนหนึ่งนำข้าวเปลือกไปขายให้ท่าข้าวเอกชนและสหกรณ์การเกษตรอำเภอต่างๆ แม้ได้ราคาต่ำกว่ารับจำนำก็ตาม เพราะโรงสีที่รับจำนำมีน้อยและอยู่ห่างไกล ประกอบกับข้าวเปลือกเหลือน้อยเพราะเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้านี้จำนวนมาก คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะมีข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวจำนวนมาก และจากจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและจำนวนพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าถึงเดือนตุลาคม จ.อ่างทอง จะมีข้าวเปลือกออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 1 แสนตัน
นายศุทธนะ ธีวีรปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ได้อนุมัติโรงสีที่สมัครเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพิ่มอีก 3 โรง เนื่องจากโรงสี 2 แห่ง ที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้อยู่ในท้องที่ อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งอยู่ห่างไกล ทำให้เกษตรกรเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายอาณัฐพงษ์ ศักดิ์เจริญ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. จ.พระนครศรี อยุธยา กล่าวว่า ยอดรับจำนำข้าวเปลือกในจังหวัดระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายน รวม 1,714 ตัน วงเงิน 23.6 ล้านบาท
วันเดียวกัน ชาวนา 70 คนจาก จ.พระนคร ศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี ที่ขายข้าวให้กับโรงสีเจริญสุขสมบูรณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ 6 ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่ได้รับเงินจำนวน 15 ล้านบาท เดินทางไปที่โรงสีเพื่อขอรับเงิน หลังจากนายธเนศ สุขสมแดน เจ้าของโรงสีไม่ยอมจ่ายเงินมากว่า 2 เดือนแล้ว และยังนำข้าวเปลือกของชาวนาไปชดใช้ข้าวเปลือกนาปรังของโครงการรับจำนำข้าวปี 2550 ที่ยักยอกองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปก่อนหน้านี้
นายเรืองชัย อิทธิพล นายอำเภอผักไห่ พร้อมตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชาวนาเข้าเจรจาต่อรองกับนางแช่ม สุขสมแดน อายุ 70 ปี มารดานายธเนศ นานกว่า 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า เงินค้างจ่าย 15 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก 60% หรือ 9 ล้านบาท โรงสีพร้อมผ่อนจ่าย 2 งวด งวดแรก 6 ล้านบาท กำหนดจ่ายวันที่ 25 มิถุนายน และงวดที่ 2 จำนวน 3 ล้านบาท ผ่อนจ่ายทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนจนกว่าจะหมด ส่วนที่สองอีก 40% หรืออีก 6 ล้านบาท โรงสีอ้างไม่มีเงินจ่ายแล้ว ขอนำข้าวเปลือกในโกดังที่ถูกอายัดไปสีเพื่อแปรสภาพเป็นเงินมาชดใช้ชาวนาแทน ซึ่งอยู่ในระหว่างทำเรื่องเสนอ อคส.ที่ดูแลรับผิดชอบการจำนำข้าวปี 2550
นายวิศรุต ยอดสุข อายุ 24 ปี แกนนำชาวนากล่าวว่า แม้ชาวนาจะไม่พอใจแต่ต้องจำใจรับสภาพและขอให้เร่งจ่ายเงินให้ครบ 100% โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นชาวนาจะบุกปิดโกดังเอาข้าวเปลือกของตนเองในโกดังไปขายที่อื่น เพราะทราบดีว่าข้าวเปลือกในโกดังเป็นของชาวนา แต่โรงสีเอาไปกองสวมรอยเป็นสต๊อคข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำปี 2550 เพราะโรงสีนำข้าวที่รับจำนำไปสีขายก่อนหน้านี้แล้ว แต่ชาวนาก็ต้องมารับกรรม
ที่ จ.พิจิตร เกษตรกรชาวนา อ.เมืองพิจิตร อ.สามง่าม และ อ.วชิรบารมี ได้ปิดถนนทางหลวงหมายเลข 115 พิจิตร-สามง่าม เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายข้าว ระดับจังหวัดพิจิตร เปิดจุดรับจำนำข้าวจุดที่ใกล้ที่สุด เพราะจุดที่เปิดจำนำก่อนหน้านี้ ชาวนาต้องเดินทางไปจำนำข้าวไกล ทำให้เสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
นายสุเมธ ชัยเลิศวนิชกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ตรวจสอบความพร้อมของโรงสีพิจิตรพันธุ์ไรช์เพิร์ลลิ่ง หลังจากจังหวัดอนุมัติให้โรงสีร่วมเจริญ 2 อ.บางมูลนาก เปิดจุดรับจำนำย่อยที่ท่าข้าวโรงสีพิจิตรพันธุ์ไรช์เพิร์ล ลิ่ง พบว่า มีความพร้อมสูงทั้งสถานที่ ตาชั่ง และเจ้าหน้าที่รับจำนำข้าว
นายบรรจง วิจิตรวิไลเลิศ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวนาพิจิตร เผยว่า หลังรัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ตนรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนา เพราะขณะนี้ฝนตกชุกมาก ทำให้ความชื้นสูง ซึ่งรัฐบาลกำหนดราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 14,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15% แต่ขณะนี้ความชื้นของข้าวที่เก็บเกี่ยวเกินกว่า 30% ไปแล้ว ทำให้จำนำข้าวเหลือตันละไม่ถึงหมื่นบาท เท่ากับว่ารัฐไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย จึงอยากให้รัฐหาทางแก้ไข
ที่ จ.พิษณุโลก กลุ่มชาวนาตำบลชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ได้ขนข้าวเปลือกมาขายให้พ่อค้าคนกลาง ที่มาเช่าลานตากและตาชั่งน้ำหนัก ที่บริเวณลานตากข้าวสหกรณ์ผู้ใช้น้ำบ้านตระแบกงาม หมู่ 9 ต.ชุมแสงสงคราม
นายณรงค์ ชัยเอม ชาวนาหมู่ 2 บ้านชุมแสง ต.ชุมแสงสงคราม กล่าวว่า ชาวนาในเขต อ.บางระกำ ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีการเปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือก จะมีเพียงที่ อ.เมือง และอ.บางกระทุ่มเท่านั้น หากขนไปแล้วก็ไม่ได้ราคาอย่างที่กำหนดไว้ เนื่องจากข้าวมีความชื้น 25-30% พวกตนไม่มีทางเลือกจึงยอมขายพ่อค้าคนกลางในราคาตันละ 9,500-9,700 บาท
นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาตกเป็นเหยื่ออีกเช่นเดิม ถือเป็นกรรมของชาวนา ทำนาปลูกข้าวมาแล้วถูกเอาเปรียบอีก อยากขอเรียกร้องให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ปล่อยน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ทุกแห่งให้ชาวนาทราบทุกระยะ เนื่องจากชาวนาทั้งในและนอกเขตชลประทานจำนวนมากหันมาปลูกข้าวนาปรังเป็นอาชีพหลัก หากไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า อาจทำให้ผลผลิตถูกน้ำท่วมโดยไม่ทันตั้งตัว
ั้ที่มา มติชน
|
|
|
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|