นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอโครงการเปิดรับจำนำสินค้าเกษตร 3 สินค้า ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ ครม.อนุมัติวันที่ 21 ต.ค.นี้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า วงเงินที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติทั้ง 3 โครงการจะใช้งบประมาณรวมประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 วงเงิน 649 ล้านบาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง วงเงิน 1,573 ล้านบาท และโครงรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2551/2552 วงเงิน 90,000-100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะให้ ครม.พิจารณาหาแหล่งเงินทุน สำหรับการเปิดรับจำนำด้วย เพราะขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ยืนยันว่าไม่มีเงินเพียงพอ สำหรับการเปิดรับจำนำ โดยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรมีเงินสด 5,447 ล้านบาท แต่มีภาระผูกพันที่ทยอยเบิกจ่าย 4,825 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินกองทุน 622 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.เหลือเงินรับจำนำข้าว 50,000 ล้านบาท
“สาเหตุที่กระทรวงเร่งเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อต้องการให้โครงการเปิดได้ทันเดือน พ.ย.นี้ เพราะจะเริ่มมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด ที่สำคัญเกรงว่าในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน และหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะทำให้โครงการรับจำนำทั้งหมดต้องหยุดชะงัก เกิดความเสี่ยงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ” รายงานข่าวระบุ
โยน ครม.เคาะราคาจำนำมัน-ข้าวโพด
นอกจากนี้จะให้ที่ประชุม ครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจรายละเอียดของโครงการที่ยังไม่สามารถสรุปได้ โดยโครงการจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เสนอพิจารณา 2 ราคาคือ กิโลกรัมละ 8.20 บาทหรือ 8.50 บาท โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ที่เสนอให้พิจารณา 3 แนวทาง คือ รับจำนำที่ราคากิโลกรัมละ 1.90-2.20 บาท เพื่อให้เกษตรกรได้กำไร 30% หรือรับจำนำที่ราคากิโลกรัมละ 1.75-2.00 บาท กำไร 20% และรับจำนำราคากิโลกรัมละ 1.80-2.05 บาท กำไร 25% โดยจะเริ่มรับจำนำช่วงเดือนพ.ย.ปี 2551- เม.ย.2552
ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 จะให้รับรองราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 12,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงจากมติ ครม.ชุดนายสมัคร สุนทรเวช ที่กำหนดตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 8,000-9,000 บาท ลดจากเดิมที่ 9,000-10,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 16,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และราคาตลาดที่ลดลง โดยจะรับจำนำรับที่ 8 ล้านตัน ระหว่าง 1 พ.ย.2551-28 ก.พ.2552 พร้อมกับขยายระยะเวลาการไถ่ถอนจาก 90 วัน เป็น 120 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวนามีโอกาสเลือกไถ่ถอนได้มากขึ้น หากราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น
จับตาไชยาเสนอไซโลร้างร่วมจำนำข้าว
รายงานข่าวระบุอีกว่า ในการประชุม กขช. เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ ได้เสนอเปลี่ยนหลักเกณฑ์การสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และการฝากเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 โดยเสนอให้มีการสั่งสีแปรสภาพเพียง 50% ของปริมาณการรับจำนำข้าวของแต่ละโรงสี จากเดิมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 ที่สั่งให้สีแปรสภาพทั้ง 100%
ส่วนการฝากเก็บต้องการให้เก็บในไซโลปรับอุณหภูมิ แทนการเก็บในโกดัง หรือคลังสินค้าปกติ โดยอ้างว่าจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาข้าวไว้ได้นานขึ้นและสามารถบริหารจัดการสต็อกข้าวรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นเร่งรีบระบายข้าว จนเป็นสาเหตุให้ผู้ซื้อต่างชาติกดราคารับซื้อ และทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยลดลงได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กขช.ยังไม่เห็นชอบตามที่นายไชยาเสนอ เพราะเป็นห่วงว่า จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการไซโลบางราย ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาว่างงาน และต้นทุนค่าเช่าไซโล จะสูงกว่าโกดังเป็นเท่าตัว จนเป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะหากไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกได้เร็ว จะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินค่าเก็บรักษาในอัตราที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายของโกดัง เช่น ค่าเช่าโกดังอาจจะอยู่ที่ 184 บาทต่อตันต่อ 6 เดือน แต่ค่าเช่าไซโลอาจเพิ่มเป็น 246 บาทต่อตันต่อ 6 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้ กขช.จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการสีแปรสภาพข้าว ศึกษา และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ก่อน และจะนำผลสรุปเข้าสู่การพิจารณาของ กขช.ในการประชุมวันที่ 20 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า กขช.น่าจะอนุมัติตามที่นายไชยาเสนอ
รายงานจากวงการค้าข้าว ระบุว่าหลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า การฝากเก็บข้าวรัฐในไซโลนั้น รัฐจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดหรือไม่ เพราะขณะนี้ มีไซโลปรับอุณหภูมิในประเทศไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยหนึ่งในนั้นเป็นของบริษัทในเครือของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเคยเป็นอดีตบริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทยและอยู่ระหว่างการฟ้องร้องตามกฎหมายกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และกรมการค้าต่างประเทศ
ผู้ส่งออกชี้ราคาจำนำ 1.2 หมื่นลดแรงกดดันรัฐ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปี 2551/2552 อยู่ที่ตันละ 1.2 หมื่นบาทนั้น เมื่อคำนวณเป็นราคาเอฟโอบีจะอยู่ที่ตันละ 600 ดอลลาร์ แม้จะยังไม่สะท้อนระดับราคาจริงในท้องตลาด หรือจะช่วยให้การส่งออกง่ายขึ้น แต่ก็สามารถช่วยลดความกดดันให้แก่รัฐ ทั้งเรื่องปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่โครงการและภาระทางการเงิน รวมถึงเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับราคาข้าวในประเทศ ที่ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
สถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบัน สะท้อนทิศทางราคาในปีหน้าที่คาดว่าข้าวไทยในตลาดโลกราคาข้าวขาวเฉลี่ยตันละ 500-600 ดอลลาร์ (เอฟโอบี) จากปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยตันละ 700 ดอลลาร์ เนื่องจากทิศทางราคาข้าวมีโอกาสลดลงจากปัจจัยทิศทางราคาข้าวผู้ส่งออกรายอื่นๆ ลดลง โดยอินเดียเฉลี่ยตันละ 400 ดอลลาร์ เวียดนามตันละ 500 ดอลลาร์ ปากีสถานตันละกว่า 400 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสต็อกข้าวโลก และปริมาณผลผลิตปีหน้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงมาก อย่างไรก็ตามระดับราคาข้าวจะยังต้องขึ้นกับตัวแปรสำคัญอย่างอินเดียที่หากส่งออกข้าว จะทำให้ราคาได้รับผลกระทบโดยเฉพาะข้าวนึ่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|