|
ตั้งเป้าส่งออกข้าว 8.8 ล้านตัน ระวัง! ค่าเงินบาท และค่าระวางเรือ
|
"ข้าว" ถือเป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศ ในปี 2551 นับว่าเป็นอีกปีที่คาดว่าสินค้า "ข้าว" จะดีต่อเนื่องจากปี 2550 ที่การส่งออกข้าวสูงถึง 9.2 ล้านตัน สูงเกินเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ที่ 8.5 ล้านตัน ที่สำคัญไม่ได้เพิ่มเพียงแค่ปริมาณ แต่ยังเพิ่มทั้งในด้านมูลค่าอีกด้วย ดังนั้นปีหน้ายุทธศาสตร์ข้าวถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "วิจักร วิเศษน้อย" รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวในปี 2551
แนวโน้มราคาข้าวในปี 2551
ในเบื้องต้นมองว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะดีต่อเนื่องในปี 2551 อย่างไรก็ตามต้องประเมินสถานการณ์ทุก 3-4 เดือน เพราะมีสินค้าเกษตรที่เป็นทางเลือกอื่นและสามารถทดแทนกันได้ หากราคาข้าวขึ้นสูงเกินไป ผู้ซื้อก็รับไม่ได้ หันไปซื้อพืชเกษตรตัวอื่นทดแทน ในฐานะผู้ขายจึงต้องระวัง คอยดูแลราคาให้สมเหตุสมผล เพื่อไม่กระทบตลาดในระยะยาวเรายังต้องรักษาลูกค้าประจำ ที่ผ่านมาราคานับว่าสูงขึ้น โดยหลังระบายข้าว 5 แสนตัน ราคาขึ้นมา 4-5 เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้ยังไม่คิดระบายอีก
สำหรับราคาข้าวหอมมะลิ เอฟ.โอ.บี. ขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 618-620 เหรียญสหรัฐต่อตัน ฉุดราคาในประเทศสูงถึง 1,950-2,000 บาทต่อกระสอบ เป็นผลจากปริมาณข้าวหอมมะลิลดลง 20-30% เพราะเกษตรกรหันไปปลูกข้าวเหนียวซึ่งมีราคาดีในปี 2550 แม้ว่าราคาข้าวจะสูง แต่นโยบายรับจำนำยังต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องไม่กำหนดราคาสูงจนบิดเบือนกลไกตลาด ไม่เช่นนั้นจะกระทบผู้ส่งออกทำให้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนสูงขึ้น
เป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2551
เรามองเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 8.7-8.8 ล้านตัน หากถึง 9 ล้านตันคงหืดขึ้นคอแล้ว เพราะเราไม่มีสต๊อก carry over มา ส่วนที่ปี 2550 ส่งออกได้ถึง 9 ล้านตัน เพราะตอนต้นปีเรามี สต๊อกเกือบ 6 ล้านตัน ช่วงนั้นราคารับจำนำสูง ข้าวไหลเข้าสต๊อกมาก แต่ปีนี้สต๊อกที่เหลือไม่ถึง 2 ล้านตัน และเป็นข้าวใหม่ทั้งนั้น ส่วนข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2550/51 มีเพียง 30,000 ตันเท่านั้น ทั้งหมดต้องเก็บสำรองไว้สำหรับการบริโภคภายในประเทศเผื่อมีกรณีฉุกเฉิน เช่น ที่อินเดีย และเวียดนาม ห้ามส่งออก เพราะกลัวไม่มีบริโภค
สถานการณ์ผลผลิต-บริโภคข้าวโลกใน ปี 2551 ผมเชื่อว่าเทรนด์ยังเป็นของผู้ขาย ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้น บางประเทศดีขึ้น เช่น อินโดนีเซีย จีน แต่หลายประเทศยังมีปัญหา เช่น อินเดีย คนหันไปปลูกข้าวฟ่าง รัฐบาลจึงหันมาสนับสนุนให้ปลูกข้าวมากขึ้น เพราะกลัวไม่มีข้าวกิน เลยห้ามส่งออกข้าวขาว และขึ้นราคาประกันข้าว ทำให้ข้าวในตลาดโลกมีน้อย ทั้งนี้คาดว่าผลผลิตข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านตัน จาก 418 ล้านตัน เป็น 421 ล้านตัน แต่ความต้องการในตลาดโลก จาก 418 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6 ล้านตัน เพิ่มสูงกว่าปริมาณข้าวเป็นเท่าตัว ทำให้ตลาดยังเป็นของผู้ขายอยู่ ประกอบกับอินเดียยังหยุดส่งออกซึ่งจะส่งผลดีกับไทยตั้งแต่ต้นปี-กลางปี 2551 โดยเฉพาะตลาดข้าวนึ่งของอินเดีย คือ แอฟริกา ซึ่งมีความต้องการข้าวเกือบล้านตัน จะหันกลับมาซื้อจากไทย
ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกข้าว
ถึงแม้ว่าทุกอย่างยังมีทิศทางที่ดี แต่ยังประมาทปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินบาทและค่าระวางเรือไม่ได้ เพราะผู้ส่งออกจะต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น 30-40% ซึ่งในปี 2551 เราต้องคอยประเมินข้อมูลของเวียดนามว่าจะเป็นอย่างไร เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลคาดว่าจะส่งออก 4.5 ล้านตัน ผลผลิต 36 ล้านตันข้าวเปลือก กินประมาณครึ่งหนึ่ง คิดว่าอยู่ที่ 4.5 เหมือนปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังต้องดูว่ามีภัยธรรมชาติหรือไม่ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่เป็นเกาะมีมรสุมทุกปี หากมีภัยธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะนำเข้า
ตลาดหลักในปีหน้ายังเป็นแอฟริกา ก่อนหน้านี้ข้าวนึ่งที่ถูกอินเดียแย่งตลาดไปเมื่อ ปี 2548 แต่เราได้ตลาดข้าวนึ่งกลับมาในปีนี้ เพราะอินเดียไม่ส่งออก ส่วนตลาดข้าวขาวก็ยังเป็นตลาดตะวันออกกลาง เช่น อิรัก อิหร่าน ซึ่งยังคงมีปัญหาการแซงก์ชั่นจากความขัดแย้งทางด้านการเมือง และเราได้ตลาดใหม่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา คือ ตลาดสหภาพยุโรป จาก 3 แสนตันเพิ่มเป็น 4 แสนตัน เพราะสหภาพยุโรปยกเลิกนำเข้าจากสหรัฐ หลังตรวจสอบพบข้าวจีเอ็มโอ ส่วนตลาดเอเชียน่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 ล้านตัน จาก 2.7 ล้านตัน
ยุทธศาสตร์การทำตลาดข้าวไทยในปีหน้า
กรมจะเน้นการโปรโมตข้าวหอมมะลิและข้าวอินทรีย์ ในส่วนของข้าวกรมจะดำเนินการร่วมกับจังหวัด ในยกระดับแบรนด์ข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวอินทรีย์ก็มีแนวโน้มที่ดี แต่ขยายตัวช้ากว่า ในปีนี้ยังมีการส่งออกไม่ถึง 10,000 ตัน จึงต้องเพิ่มการโปรโมตในส่วนของคนผู้ผลิตให้เข้าใจถึงวิธีการผลิตข้าวอินทรีย์ แต่ในส่วนตลาดข้าวไม่มีปัญหา กรมจะประสานงานร่วมกับภาคเอกชน และกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรปและเอเชีย เพื่อจัดส่งวิทยากรมาประชุมเชิงวิชาการร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบว่ามาตรฐานข้าวอินทรีย์ที่ตลาดคู่ค้าต้องการควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ข้าวอินทรีย์เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม นิชมาร์เก็ตต่อไป
์ ที่มา ประชาชาตธุรกิจ
|
|
|
|
|
© The Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.
|
|
|