สถาบันศศิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาโต๊ะกลมเชิงกลยุทธ์ "ข้าวไทย ใครรู้จริง ?" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าวเข้าร่วมทุกองค์กร เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาข้าวให้กับสังคม
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาข้าวที่ผ่านมาขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลไม่ได้เตรียมวางแผนรับมือในการบริหารราคาข้าวที่เป็นขาขึ้น หรือข้าวราคาสูง เคยชินกับการแก้ปัญหาเดิมๆ โดยใช้เครื่องมือในการแทรกแซง หรือจำนำในช่วงที่ข้าวราคาตกต่ำ และการใช้นโยบายบริหารสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ยังเป็นการแก้ปัญหาแบบรายวันหรือ "พาราเซตามอล โพลิซี" หรือการใช้ยาชนิดเดียว แก้ปัญหาทั้งหมด
ในการพัฒนาข้าวจึงต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งผลผลิตไทยต่ำมากแค่ 430 กก.ต่อไร่ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของเวียดนามอยู่ที่ 740 กก.ต่อไร่ นอกจากนั้นยังต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งไทยมีสัดส่วน 19% ของจีดีพี ทั้งหมดต้องดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองการค้าข้าวของไทยในเวทีโลก
ในส่วนการบริหารราคานั้น จะต้องใช้กลไกตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรให้เป็นประโยชน์ โดยพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็ง แล้วเข้าไปซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านราคา
ดร.นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดฯ กำลังเข้าไปให้ความรู้กลุ่มเกษตรกร ให้เข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าฯ เพื่อลดความเสี่ยง โดยจะนำสหกรณ์การเกษตรรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรมาดำเนินการซื้อขาย เพื่อแสดงให้กลุ่มอื่นๆ ได้เห็นว่าตลาดฯสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยทุกฝ่ายจะทราบราคาล่วงหน้าและสามารถผลิตและซื้อขายให้สอดคล้องกับราคา
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.กำลังทำแผนเพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงภาคการเกษตร ซึ่งนอกจากความเสี่ยงของสภาพอากาศแล้ว ขณะนี้ยอมรับว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งพลังงานเป็นสัดส่วนต้นทุนการผลิตภาคเกษตรถึง 20% รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนกระทบเกษตรกรเช่นเดียวกัน
"ผมเคยทำวิจัยไว้ ถ้าราคาข้าวขึ้น 1 บาทเกษตรกรได้แค่ 70% ของราคาที่ขึ้น แต่หากค่าขนส่งขึ้น 1 บาท เกษตรกรต้องจ่ายเต็ม 100% และยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก รวมทั้งความเสี่ยงในการเข้าถึงแหล่งทุนอีก ซึ่งสศช.กำลังวิเคราะห์เพื่อทำแผนช่วยเหลือ ลดความเสี่ยงทั้งหมดให้กับชาวนารายย่อย" ดร.อำพน กล่าว
นางดารา เจตนะจิตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ศักยภาพของการผลิตขณะนี้ โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม 58 ล้านไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 8 ล้านต้นข้าวเปลือก โดยวางแผนการผลิตให้เหมาะสม การพ่นยาและการใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่พันธุ์ที่กรมฯกำลังพัฒนาอยู่นั้นจะเพิ่มผลผลิตได้มากกว่านี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะเตรียมวางแผนการตลาด เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมา หากผลผลิตเพิ่มขึ้น 8 ล้านตันจะต้องวางแผนใหม่ ขณะนี้ได้พยายามแยกส่วนตลาดข้าวออกมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งการผลิตจะต้องให้ได้คุณภาพที่จะสามารถแยกตลาดได้ โดยไทยไม่ควรมุ่งขายในตลาดที่เป็น "แมส มาร์เก็ต" แต่จะต้องพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าวหอมมะลิ และจะเร่งหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะในแอฟริกาที่บริโภคข้าวเพิ่มขึ้น
"ภายในปีนี้ราคาไม่น่าจะตกต่ำลง แต่ราคาอาจผันผวนบ้าง เพราะความต้องการซื้อยังมีอยู่มากในตลาดต่างประเทศ แม้เวียดนามจะกลับมาส่งออกอีกครั้ง แต่ราคาจะอ่อนไหวตามข่าวสารที่ออกมา แต่ดูความต้องการแล้ว ไม่น่าจะลดลงมาก" นางอภิรดีกล่าว
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในการพัฒนาข้าวและชาวนานั้นรัฐบาลต้องช่วยเหลือในการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนด้วยการช่วยจัดหาปุ๋ยให้ในราคาไม่แพง รวมทั้งการประกาศราคาล่วงหน้าให้กับชาวนาเพื่อจะได้วางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิต
ส่วนระยะกลางและระยะยาวนั้นจะต้องมีการวางแผนจัดโซนนิ่ง ในการปลูกข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตให้เหมาะสม สะดวกในการบริหารจัดการ เลิกใช้สารเคมี ทุ่มวิจัยและพัฒนาพันธุ์
นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯ วิตกว่าช่วงปลายปีราคาข้าวจะตกต่ำลง โดยเฉพาะข้าวนาปีที่จะเข้าสู่ตลาดประมาณ 20 ล้านตัน ซึ่งหากเวียดนามมีผลผลิตสูงขึ้น จะทำให้ข้าวล้นตลาด ซึ่งรัฐบาลต้องเริ่มวางแผนรองรับผลผลิตและการระบายข้าวให้ทันสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการปล่อยข้าวสู่ตลาดของสหรัฐและญี่ปุ่นที่จะเป็นแรงกดดันให้ข้าวราคาตกต่ำลง
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศ กล่าวว่า ราคาข้าวที่ขึ้นมาเกือบ 200% เชื่อมั่นว่าในปีนี้ราคาจะไม่ตกไปมากกว่านี้แม้จะมีราคาขึ้น-ลงบ้างแต่มีช่องว่างไม่มากนัก ชาวนาจะได้ราคาข้าวเปลือกที่หลักหมื่นแน่นอนและเชื่อว่าราคาข้าวเปลือกจะไม่กลับไปอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อเกวียนอีก เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาทั่วโลกแล้ว แต่สำหรับในปีต่อๆไปต้องดูแต่ละปี ไปเพราะสินค้าเกษตรไม่สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำ.
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |