นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านจัดซื้อข้าวโครงการพิเศษ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกนาปรังของแต่ละจังหวัดมีราคาแตกต่างกัน โดยราคาข้าวเปลือกความชื้น 25% ที่จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ที่ตันละ 11,500-11,800 บาท จังหวัดนครสวรรค์ ตันละ 12,200 บาท จังหวัดสุพรรณบุรี ตันละ 13,000 บาท และราคาข้าวสารขาว 5% ที่กรุงเทพมหานคร อยู่ที่ตันละ 25,500-26,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยปี 2550 ประมาณ 100% จากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกปีก่อนอยู่ที่ตันละ 6,000 บาท และข้าวสารตันละ 12,000 บาท
นายไตรรัตน์กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ จะทราบว่าฟิลิปปินส์จะรับซื้อข้าวที่เปิดประมูลไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหรือไม่ หากฟิลิปปินส์ซื้อข้าวตามราคาที่ผู้ส่งออกประมูลตันละ 1,000-1,200 ดอลลาร์ จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น เพราะราคาข้าวดังกล่าว เมื่อคำนวณเป็นราคาเอฟโอบีแล้ว จะอยู่ที่ตันละ 950-1,050 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาเอฟโอบีปัจจุบันที่มีราคาตันละ 750-800 ดอลลาร์ หรือสูงขึ้น 20 % โดยการประมูลครั้งนี้ มีโอกาสทำให้ราคาข้าวสารที่กรุงเทพมหานครและราคาข้าวเปลือกของชาวนาสูงขึ้นอีก 20% ตามไปด้วย
ปัจจุบันกำหนดได้ยากว่าราคาข้าวสูงสุดในประเทศจะอยู่ที่ราคาเท่าใด แต่มีโอกาสสูงกว่าราคาปัจจุบันอีก ตามความต้องการข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค. 2551 ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวอีกครั้ง รวมทั้งอิหร่านจะรับซื้อข้าว จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นอีก
เขาเชื่อว่า การนำเข้าข้าวช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการกักตุนของประเทศผู้นำเข้า แต่เป็นการสั่งซื้อตามความต้องการที่แท้จริง เพราะเมื่อพิจารณาจากปริมาณการส่งออกของไทยเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ต่างกันไม่มาก โดยช่วงต้นปี 2550 ไทยส่งออกข้าวเดือนละ 700,000-800,000 ตัน และช่วงต้นปีนี้ไทยส่งออกเดือนละ 1 ล้านตัน
คาด 10 ปีข้างหน้าราคานาปรังยืนพื้นหมื่นบาท
นายไตรรัตน์กล่าวว่า ราคาข้าวได้สูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2550 เพราะราคาน้ำมันสูงทำให้มีความต้องการพืชพลังงานสูงขึ้น จึงส่งผลต่อพืชคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นในอนาคต โดยจะทำให้ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า ราคาข้าวเปลือกนาปรังจะไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนาพอใจและทำให้ชาวนาไม่ต้องกังวลว่าราคาข้าวจะตกลง เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเหมือนในอดีต ที่บางช่วงตกลงมาอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท และจะทำให้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้ามารับจำนำข้าว เพราะกลไกตลาดในช่วงนี้เดินไปได้
นายวิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ เพราะขณะนี้ข้าวนาปรังมีการเก็บเกี่ยวทุกวัน ซึ่งบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน ก.พ. 2551 บางพื้นที่เก็บเกี่ยวเสร็จในเดือน ก.ค.2551 และในพื้นที่ชลประทานเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนใหญ่จะลงมือปลูกข้าวต่อทันที โดยในปีนี้คาดว่าจะมีข้าวนาปรังออกมาประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก และจะมีข้าวนาปีออกมาอีก 21-22 ล้านตันข้าวเปลือก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าข้าวจะไม่ขาดแคลน
การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างเนื่อง จะทำให้ราคาสินค้าคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น เพราะสินค้าเกษตรบางชนิดถูกนำไปผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สหรัฐนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอล ส่งผลให้ข้าวโพดหายไปจากตลาด 60 ล้านตัน จนเป็นการช็อกตลาด และอินเดียมีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอในการส่งออก ซึ่งส่งผลตามมาให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น จากราคาเฉลี่ยข้าวขาว 5% ปีที่แล้วอยู่ที่ตันละ 350 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ตันละ 750 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน
ประเมินนาปรังปีนี้เกวียนละ 1.5 หมื่น
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ซี.พี. รับซื้อข้าวเปลือกนาปรังที่จังหวัดกำแพงเพชร ในราคาประมาณตันละ 12,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย และการให้ราคาสูงกว่าเพราะตลาดมีความต้องการข้าวสูงขึ้น โดยต่อไปมีโอกาสที่ราคาข้าวจะสูงกว่าปัจจุบัน เพราะโลกกำลังมีปัญหาธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตออกมาไม่เต็มที่ ซึ่งทำให้ปีนี้มีโอกาสที่ข้าวเปลือกนาปรังราคาสูงกว่าตันละ 15,000 บาท
นายมนตรีกล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวที่มีแนวโน้มดีในอนาคต จำเป็นที่รัฐบาลควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อให้ข้าวได้ผลผลิตเต็มที่ โดยในพื้นที่สำหรับปลูกข้าว จะต้องมีการจัดระบบชลประทานให้ทั่วถึง ซึ่งในภาคกลางส่วนใหญ่จะมีระบบชลประทานเข้าถึง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งลงทุนระบบชลประทานเต็มรูปแบบ โดยจะต้องหาทางใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูล ชีและโขง ซึ่งไม่ว่าจะลงทุนมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุน เพราะลงทุนไปครั้งเดียวแล้วสามารถใช้งานได้มากกว่า 100 ปี
พงษ์ลาภชี้ราคาผันผวนทำระบบอัมพาต
นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการ บริษัทพงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ระบบการค้าข้าวช่วงนี้ อยู่ในภาวะราคาผันผวนต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ระบบการค้าข้าวเป็นอัมพาต เนื่องจากผู้ค้าข้าวมีสภาพคล่องตามวงเงินจำกัด การจะลงไปซื้อข้าวในราคาแพงและขายต่อในภาวะที่ไม่แน่ใจว่าผู้ซื้อจะสู้ราคามากน้อยเพียงใด ก็เป็นความเสี่ยง ขณะที่การเข้าไปซื้อสินค้าราคาแพง ต้องใช้วงเงินทำธุรกิจที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ตนอยู่ในวงการค้าข้าวมาสิบกว่าปี เดิมระบบการค้าจะรับคำสั่งซื้อก่อน จึงหาซื้อข้าวและส่งมอบ แต่ปัจจุบันการค้าเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องแน่ใจว่ามีข้าวในมือก่อนจะรับคำสั่งซื้อ แต่ภาวะตอนนี้ไม่มีใครกล้าซื้อขายข้าว เพราะราคาผันผวน ทำให้ระบบการซื้อขายไม่เป็นไปอย่างปกติ ต้องมีเม็ดเงินสำรองมากๆ ที่จะซื้อขายเงินสดได้ ซึ่งในความเป็นจริง ระบบค้าข้าวที่ผ่านมาจะใช้เงินเชื่อ หรือความไว้วางใจกัน ตอนนี้ถ้าเป็นพ่อค้ามือใหญ่ก็พอจะอยู่ได้
”พงษ์ลาภขายข้าวขาวเป็นหลักในตลาดมาเลเซีย แอฟริกา ฟิลิปปินส์ ขณะนี้กำลังส่งมอบข้าวตามคำสั่งซื้อเก่าที่มีอยู่ และต้องส่งมอบให้หมดภายในเดือน 6 ซึ่งการส่งข้าวไปในเดือนเม.ย.ที่จะผ่านไปนี้ ก็ส่งมอบในราคาตันละ 300 ดอลลาร์ (เอฟโอบี) คงไม่ต้องบอกว่าขาดทุนไปแล้วเท่าไหร่ และถ้าราคาข้าวยังผันผวนเช่นนี้ต่อไป พงษ์ลาภต้องปิดตัวเอง เพราะไม่กล้ารับออเดอร์ใหม่ เราก็ไม่กล้าเสี่ยงว่าราคาข้าวจะสูงอย่างนี้ตลอดไป ถ้าราคาลงมา โบรกเกอร์ที่ซื้อข้าวแล้วไม่มารับมอบ ใครจะรับผิดชอบ “ นายสมพงษ์กล่าว
ปัจจุบันสต็อกของผู้ส่งออกทั้งหมด ประมาณ 1.6 ล้านตัน ซึ่งถือว่าไม่มากเพียงพอต่อการส่งออกประมาณ 2 เดือน ขณะที่ผู้ส่งออกจะมีออเดอร์ที่ต้องส่งข้าวตามสัญญาที่มีไว้กับโบรกเกอร์ต่างประเทศไปจนถึงเดือน 6 ปีนี้
อัดรมว.พาณิชย์ปั่นราคาข้าว
นายสมพงษ์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกข้าวเดือน เม.ย. คาดว่าจะมีปริมาณ 7-8 แสนตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงมาจากการส่งออกช่วงที่ผ่านมา (ปลายปี 2550- ต้นปี 2551) ที่ส่งออกแล้วเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน และคาดว่าในอีก 2-3 เดือนจากนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวจะลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ยเดือนละ 7-8 แสนตัน ทำให้การส่งออกทั้งปีของไทยน่าจะอยู่ที่ 9 ล้านตันตามที่รัฐคาดหมาย เพราะปริมาณการส่งออกสูงก่อนหน้านี้ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกลดลงต่อเนื่อง มาจากปัญหาราคาผันผวน ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ ขณะที่ผู้ซื้อไม่กล้าสู้ราคา
ส่วนประเด็นว่าสถานการณ์ราคาจะผันผวนยาวนานเท่าใดนั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่คาดว่า หากรัฐไม่บริหารจัดการให้ดี ราคาข้าวที่สูงก็อาจตกลงได้ แต่รัฐต้องอย่าให้ตกต่ำมาก เพราะจะกระทบชาวนา โดยขณะนี้ชาวนากำลังเคยชินกับราคาข้าวที่สูง มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำนวนมากขึ้น และต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น
นอกจากนี้ ภาวะราคาที่อ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาดนั้น ในความจริง กลไกตลาดทำงานเพียงส่วนหนึ่ง ตามปริมาณความต้องการของตลาดกับปริมาณผลผลิตทั่วโลก แต่ยังมีอีกส่วนที่เกิดจากการปั่นราคา เช่นกรณีที่รมว.พาณิชย์ออกมาคาดการณ์ระดับราคาข้าวไปต่างๆ นานา
ชี้ประมูลข้าวฟิลิปปินส์ปั่นราคาเกิน
นายสมพงษ์กล่าวว่า คาดว่าราคาส่งออกเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณตันละ 1,000 ดอลลาร์ ( ข้าวสาร) ซึ่งจะเป็นราคาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ทั้งนี้ ข้าวที่ออกสู่ตลาดทุกวัน แต่กำลังซื้อผู้ส่งออกที่จะซื้อข้าวจากโรงสีหรือชาวนามีไม่มาก เพราะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากขึ้น ขณะที่ด้านผู้ซื้อต่างประเทศพบว่า ถ้าราคาสูงเกินไปก็จะชะลอซื้อ
นายสมพงษ์กล่าวว่า ปรากฏการณ์ประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์ เมื่อ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการเสนอราคาที่สูงมาก ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มีการตื่นตระหนกกับการประมูลดังกล่าว เพราะเป็นการประมูลนอกประเทศ ที่ไม่สามารถทราบภาวะและเหตุผลที่มาที่ไปของราคาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ขณะที่ไทยก็มีการร่วมประมูลเพียง 1.5 แสนตัน ซึ่งไม่ใช่ปริมาณสูงมากจนเกิดผลกระทบกับตลาดภายในประเทศ
”หากปล่อยให้ราคาข้าวสูงมากไป ก็จะกระทบกับวงจรการค้าข้าว ที่ขณะนี้กำลังช็อกกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โรงสีไม่ยอมปล่อยข้าว ผู้ส่งออกไม่กล้าขายและซื้อข้าว ทุกฝ่ายกั๊กกันไปมา ไม่เกิดการเคลื่อนไหว รัฐต้องเข้ามาดูแลให้สมดุล ก่อนหน้านี้ได้คุยกับรัฐให้เสนอราคาส่งออกขั้นต่ำ แต่ก็ไม่เห็นทำอะไร ผู้ส่งออกก็เผชิญกับความผันผวนไป ผมถามว่า ดูแลชาวนา แล้วไม่ดูแลผู้ส่งออก ถ้าผู้ส่งออกตายทั้งระบบ ก็ได้รับผลกระทบ“ นายสมพงษ์กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |