ราคาข้าวในตลาดโลกได้ปรับตัวทะยานขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NFA) ได้เปิดประมูลข้าวจำนวน 500,000 ตัน เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี 3 ประเทศร่วมยื่นซองประกวดราคา ประกอบด้วย เวียดนาม เสนอขายข้าวขาว 25% ปริมาณ 110,000 ตัน ในราคาส่งออกรวมค่าขนส่งและค่าระวางเรือ (CIF) ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ, ไทยเสนอขาย 200,000 ตัน ในราคาตันละ 1,070-1,150 เหรียญสหรัฐ และปากีสถานเสนอขาย 24,000 ตัน ราคาตันละ 870 เหรียญสหรัฐ รวมปริมาณข้าวที่ทั้ง 3 ประเทศเสนอขายเพียง 334,000 ตัน ซึ่งยังต่ำกว่าความต้องการข้าวของฟิลิปปินส์
อนาคตราคาข้าวโลกแขวนไว้กับ NFA
แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ตลาดข้าวทั้งในไทยและทั่วโลกกำลังจับตามองการตัดสินใจของ NFA ฟิลิปปินส์อยู่ โดยมีนัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1) หาก NFA ตัดสินใจ "ซื้อ" ข้าวลอตนี้ทั้งหมดเท่ากับว่า เป็นการส่งสัญญาณให้ราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะเวียดนามได้สร้าง "หมุดหมาย" ราคาไว้สูงถึง 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน สำหรับข้าว 5% 2) ในทางกลับกัน หาก NFA ตัดสินใจ "ไม่ซื้อ" หรือซื้อข้าวเพียงบางส่วน ก็จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ราคาข้าวใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ผู้ซื้อรับราคาสูงขนาดนี้ไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบหลังจาก NFA ฟิลิปปินส์เปิดซองประมูลข้าวเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ไทยได้รับทันทีก็คือ ข้าวสาร 5% ภายในประเทศเมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีก 100-200 บาท/ กระสอบ (100 ก.ก.) จากเดิม 2,500 บาท/กระสอบ ขึ้นเป็น 2,600-2,700 บาท/กระสอบ และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2-300 บาท หากฟิลิปปินส์ยอมซื้อข้าวทั้งหมด เท่ากับว่าราคาข้าว 5% ในไทยจะปรับขึ้นไปแตะ 3,000 บาท/กระสอบ
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าวิกฤตราคาอาหารในฟิลิปปินส์ส่งผลให้พ่อค้าท้องถิ่น-โรงสี และผู้ส่งออก ต่างมั่นใจว่าฟิลิปปินส์จะต้องยอมซื้อข้าวในราคาสูงขึ้นแน่ๆ ทำให้ทุกฝ่ายที่มีข้าวอยู่ในมือ "ไม่ยอมขายข้าว" ออกมาสู่ตลาด หวังจะรอให้ราคาสูงขึ้นกว่านี้จึงค่อยปล่อยข้าวออกสู่ตลาด และแน่นอนว่า "ชาวนา" ไม่ได้เป็นผู้ได้ประโยชน์จากราคาที่ทะยายขึ้นไป เพราะชาวนาได้ขายข้าวแทบทั้งหมดออกไปแล้วในราคาที่ไม่สูงมากนัก " การที่รองนายกฯมิ่งขวัญออกมาเรียกร้องให้ชาวนาขายข้าวได้แล้วจึงเป็นเรื่องตลกในวงการค้าข้าว"
โรงสีคาดแพ้ชนะราคาข้าวพุ่งต่อ
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ความเห็นว่า กระแสราคาข้าวแพงขณะนี้ถือเป็นความตื่นตระหนก จากราคาประมูลของ NFA ซึ่งถือเป็นราคาที่ "แพงเกินเหตุ" ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ฟิลิปปินส์อาจจะไม่ยอมรับราคานี้หากเขายังมีสต๊อกพอบริโภคในประเทศ เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อข้าวนาปรังเวียดนามเริ่มออกสู่ตลาด จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวิกฤตข้าวในฟิลิปปินส์ค่อนข้างรุนแรง ถึงฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับราคานี้ NFA ก็จะนำปริมาณข้าวที่ต้องการซื้อในครั้งนี้ไปรวมกับการประมูลข้าวรอบหน้าในวันที่ 5 พฤษภาคม เท่ากับว่าตั้งแต่เวลานี้ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ราคาข้าวทั้งในประเทศและตลาดโลกคงจะไม่ลดต่ำลงไปกว่านี้อีกแล้ว ขณะเดียวกันเชื่อว่าคนที่มีข้าวอยู่ในมือคงต้องรอดูการประมูลข้าวรอบใหม่ของ NFA และไม่ยอมปล่อยข้าวที่มีอยู่ในมือออกมาแน่
"จริงๆ แล้ว ผมคิดว่ากระทรวงพาณิชย์ควรจะเข้ามาทำอะไรบ้างแล้วเพราะราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกข้าวถึงเดือนละ 1 ล้านตันต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว ทั้งที่ผลผลิตข้าวในประเทศพอเพียงกับการส่งออกเพียงแค่ไม่เกิน 9 ล้านตัน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องคุมไม่ให้ผู้ส่งออกส่งข้าวออกเกินเป้าหมาย 9 ล้านตัน หากปล่อยให้ส่งออกไปถึง 12-13 ล้านตัน จะส่งผลกระทบทำให้ข้าวที่ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 9-10 ล้านตันหายไป แน่นอนว่าเมื่อถึงวันนั้น อาจจะได้เห็นคนไทยต้องเข้าคิวซื้อข้าวเหมือนฟิลิปปินส์แน่" นายปราโมทย์ระบุ
จับตาแนวต้านราคาข้าว 1,000 เหรียญ
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิ การสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ระบุว่า ราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นขณะนี้ไม่ได้เกิดจากการ "ปั่นราคา" ของผู้ส่งออกไทย แต่เนื่องจากราคาภายในประเทศสูง ผู้ส่งออกเสนอขายไป หากผู้ซื้อรับได้ ถือเป็นราคาจริงที่มีคนซื้อขาย
อย่างไรก็ตาม หากราคาที่ผู้ขายเสนอสูงเกินไป สุดท้ายเมื่อผู้ซื้อรับไม่ไหว อาจจะไม่ยอมซื้อ เช่น อินโดนีเซีย และอิหร่าน ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ตัดสินใจ "รอ" ไม่ยอมสั่งซื้อข้าวในช่วงนี้
"การประมูลข้าว NFA ของฟิลิปปินส์ถือเป็นตัวทดสอบราคาข้าวว่า สุดท้ายแล้วผู้ซื้อจะรับราคาสูงขนาดนี้ได้หรือไม่ หากรับได้ ราคาข้าวอาจจะพุ่งต่อไปอีก แต่หากรับไม่ได้ ราคาข้าวจะลดลงเองตามกลไกตลาด" นางสาวกอบสุขระบุ
ทางด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออก ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การประมูลข้าว NFA ที่มีผู้ส่งออกไทยเสนอขายข้าวรวมกันเพียง 200,000 ตัน ทั้งที่ฟิลิปปินส์ต้องการถึง 500,000 ตันนั้น เห็นได้ชัดว่าผู้ส่งออกไทยขณะนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน แม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวขึ้นไปสูง แต่ไม่กล้าขาย เพราะไม่แน่ใจว่าหากขายไปแล้วจะหาข้าวไปส่งออกได้หรือไม่
ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีหาซื้อข้าวและขนข้าวเข้ามาเก็บไว้ในโกดังก่อน อย่างน้อย 80% ของปริมาณที่คนซื้อต้องการแล้วจึงยอมขาย หรือบางรายถึงขนาดรวบรวมข้าวให้ได้ก่อนเป็นลอตเล็กๆ ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยตันถึงพันตันแล้วจึงเสนอขายกับผู้ซื้อ
"คำถามก็คือ ถ้าเสี่ยงแล้วทำไมผู้ส่งออกข้าวไทยทั้ง 5 ราย (พงษ์ลาภ+ไทยฟ้า-นครหลวงค้าข้าว-ข้าวไชยพร-เอเซีย โกลเด้นไรซ์) ถึงยอมเสนอราคาขายข้าวสูงถึงขนาดนั้น นั้นหมายความว่า ผู้ส่งออกข้าวทั้ง 5 รายมีข้าวส่วนหนึ่งอยู่ในมือที่ไล่ซื้อมาตั้งแต่ต้นฤดูในราคาที่รับออร์เดอร์ส่งออกข้าวได้อยู่แล้ว ดังนั้นในวิกฤตจึงยังมีโอกาสในการขายข้าวอยู่ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ส่งออกข้าวทุกคนจะขาดข้าวอยู่ในมือ หรือหาซื้อข้าวไม่ได้"
ซี.พี.ดิ้นออกรับซื้อข้าวถึงมือชาวนา
ในขณะเดียวกัน กลุ่มโรงสีข้าวกลับออกมาให้ข้อมูลที่แตกต่างจากผู้ส่งออกว่า จำนวนสต๊อกข้าวที่ผู้ส่งออกมีอยู่ในมือ ขณะนี้ถือว่า "สูงมากนับล้านตัน" เพราะ ผู้ส่งออกประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ยอมนำออกมา กลับพยายามบีบให้โรงสีขายข้าวออกมาอย่างเดียว ที่ผ่านมายอมรับว่าโรงสีและชาวนามีอำนาจต่อรองน้อย
"แต่ในสถานการณ์นี้ วันที่ชาวนามาขายข้าว โรงสีต้องเลี้ยงกาแฟให้ชาวนา และเมื่อรับข้าวเรียบร้อยแล้ว ต้องจ่ายเงินสดให้ชาวนาทันที ดังนั้นเมื่อผู้ส่งออกต้องการมาซื้อข้าวจากโรงสี ต้องปรับตัวเช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะเอาข้าวไปก่อนแล้วขอเครดิต 1-2 เดือน แต่เมื่อเอาข้าวไปแล้ว ต้องจ่ายเงินภายในไม่เกิน 7 วันให้กับโรงสีข้าว" แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านจัดซื้อข้าวโครงการพิเศษ บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกจึงปรับตัวหันมาซื้อข้าวโดยตรงกับเกษตรกรถึงท้องนา
ทาง ซี.พี.เองมีการซื้อข้าวกับเกษตรกรผ่านโรงสีเครือข่ายในจังหวัดกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ราคาข้าวเปลือก 10,500-10,800 บาท/เกวียน โดยให้โรงสีเครือข่ายสีข้าวและรับซื้อคืนข้าวสารในราคา 25,500-26,000 ต่อตัน
"ขณะนี้บริษัทมีการรับซื้อข้าวไม่จำกัดจำนวนเพื่อรับซื้อให้มากขึ้น จาก 3 แห่ง เพิ่มเป็น 10 แห่ง ในอนาคตเราจะสร้างโรงสีเครือข่าย ทุกๆ 100 กิโลเมตรในแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและรับซื้อผลผลิตข้าวให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" นายไตรรัตน์กล่าว
คน.ชี้ผู้ส่งออกกุมสต๊อก 1.6 ล.ตัน
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวในมือผู้ส่งออกมีประมาณ 1.6 ล้านตัน โดยเป็นข้าวที่มีในสต๊อกผู้ส่งออก 800,000 ตัน และอีก 800,000 ตันเป็นข้าวที่ประมูลได้จากสต๊อกรัฐบาลเมื่อปลายปีก่อน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มารับมอบ ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่ามหาศาล วันนี้ผู้ส่งออกไทยไม่ควรอ้างว่าราคาเสนอขายข้าวขาว 25% ที่เวียดนามเสนอที่ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ เป็นราคาที่สูงเกินจริง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |