www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

วิกฤติพันธุ์ข้าว ชาวนาแห่ขาย


      หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับสั่งว่าทรงเป็นห่วงเรื่องพันธุ์ข้าวที่จะใช้ปลูกในช่วงการทำนาฤดูกาลปี 2551/2552 จะไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากราคาข้าวที่สูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะนำพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ออกไปจำหน่าย จึงรับสั่งผ่าน นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษและรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์ข้าวเอาไว้ ไม่ควรเอามาจำหน่าย

     นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวกรมเคยเตือนเกษตรกรมาโดยตลอด ว่า จะต้องกันพันธุ์ข้าวส่วนหนึ่งไว้เป็นสายพันธุ์ในการเพาะปลูกข้าว เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นแนวโน้มราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ขณะนี้ มีเกษตรกรเกือบทุกพื้นที่ต่างเร่งขายข้าวออก โดยไม่คำนึงถึงการเก็บพันธุ์ข้าว

ราคาข้าวพุ่ง 6 สายพันธุ์ขาดแคลนหนัก

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เริ่มมีปัญหาที่เกษตรกรไม่มีสายพันธุ์ข้าวที่จะเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไปแล้ว โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวประเภทปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 ข้าวกข.31 กข.33 ซึ่งเป็นข้าวขาว 100% 25% และข้าวขาว 15% และข้าวขาวดอกมะลิ 105

     สาเหตุที่พันธุ์เหล่านี้เริ่มขาดแคลน เพราะเกษตรกรไม่ยอมกันพันธุ์ข้าวไว้ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาข้าวในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประกอบกับราคาที่สูงขึ้นเกษตรกรไม่เคยได้รับมาก่อน อย่างกรณีของข้าวขาวดอกมะลิ 105 เกษตรกรสามารถขายได้ถึงตันละ 16,000 บาท ขณะที่ข้าวชัยนาท 1 และปทุมธานี 1 มีการซื้อขายกันถึงตันละ 14,000 บาท เมื่อผลผลิตข้าวที่ออกมาเกษตรกรก็เลือกที่จะขายข้าวทั้งแปลง โดยไม่มีการเก็บพันธุ์ข้าว

     นายประเสริฐ กล่าวว่า ปกติกรมมีสายพันธุ์ข้าวสำรองเพียง 7 หมื่นตันเท่านั้น ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการ แต่ปีนี้ ถือเป็นปีที่ราคาข้าวสูงเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้ปริมาณสำรองของพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ขณะที่ความต้องการมีถึง 9 แสนตัน ในการเก็บพันธุ์ข้าวปกติชาวนาจะต้องกันพันธุ์ข้าวไว้เองส่วนหนึ่ง เพื่อรองรับการปลูกข้าวฤดูกาลถัดไปอย่างน้อย 3-5 ปี หากคุณภาพพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ไม่ดี เกษตรกรก็จะเปลี่ยนมาใช้พันธุ์ของกรม แต่จากสถานการณ์ที่ราคาข้าวแพง ทำให้เกษตรกรไม่สนใจที่จะเก็บพันธุ์ข้าว

โรงสีตัดหน้าส่งพ่อค้าซื้อถึงแปลงนา

     "สถานการณ์วันนี้เป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะราคาข้าวที่แพง กรมเองก็ต้องใช้วิธีการออกไปรับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกร แต่ก็ต้องทำภายใต้การแข่งขันรับซื้อกับโรงสีข้าว ที่เขาสามารถให้ราคาสูงๆ จนทำให้เกษตรกรเลือกที่จะยกแปลงนาข้าวทั้งหมดให้กับโรงสี แทนการขายพันธุ์ข้าวบางส่วนให้กับกรมถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ที่สำคัญ โรงสีใช้พ่อค้าคนกลางออกไปรับซื้อข้าวจากแปลงนาโดยตรงจากเกษตรกร โดยตั้งราคาสูงๆ บางแปลงตอนเช้าพ่อค้าคนกลางให้ราคาตันละ 10,200 บาท ตกบ่ายกลับมีพ่อค้าอีกกลุ่มเสนอให้ราคาสูงตันละ 12,000 บาท ดังนั้น ราคาข้าวที่หวือหวา ทำให้กรมไม่สามารถแข่งรับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรได้" นายประเสริฐกล่าว

     อธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมก็มีขีดจำกัดในการออกไปรับซื้อพันธุ์จากเกษตรกร เพราะไม่สามารถที่จะปรับราคารับซื้อแข่งกับโรงสีได้ การกำหนดราคารับซื้อข้าวในแต่ละสายพันธุ์กรมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการรับซื้อพันธุ์ข้าว ไม่สามารถจะไปตั้งราคารับซื้อได้เอง หรือตั้งราคาแข่งกับโรงสีได้ ถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง

     การรับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรที่ผ่านมา กรมได้ดำเนินการมาโดยตลอด ในอดีตกรมรับซื้อสูงกว่าราคาข้าวในตลาดประมาณ 15% เพื่อนำมาเก็บเป็นพันธุ์ หากราคาข้าวในตลาดตันละ 7,000 บาท แต่กรมจะรับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรถึงตันละ 8,500 บาท แต่ปัจจุบันราคาข้าวได้ปรับตัวสูงมาก ทำให้กรมไม่สามารถปรับราคารับซื้อได้ทัน

เกษตรกรแห่ขายพันธุ์ข้าวรับเปิดเทอม

     นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมได้ปรับราคารับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งกับโรงสีข้าวได้ จึงทำให้ได้พันธุ์ข้าวเก็บสต็อกไว้ไม่มาก ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่เคยจัดสรรสายพันธุ์ข้าวให้กับกรมยังตั้งเงื่อนไข อาทิเช่น พื้นที่ปลูกข้าว 50 ไร่ เขาสามารถแบ่งสายพันธุ์ให้กับกรมได้เพียง 20 ไร่ ส่วนที่เหลือจะต้องแบ่งขายให้กับโรงสีแบบยกแปลง วิธีการอย่างนี้เกษตรกรจะไม่เก็บสายพันธุ์ข้าวไว้เลย

     เมื่อเร็วๆ นี้ ตนไปตรวจสอบการปลูกข้าวในพื้นที่ภาคอีสาน พบจังหวัดร้อยเอ็ดมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้นำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เก็บไว้ออกมาจำหน่ายให้กับโรงสีแล้วตันละ 16,000 บาท เพราะเป็นช่วงที่ใกล้เปิดเทอม ประกอบกับราคาข้าวที่สูงขึ้น เกษตรกรกลุ่มนี้ก็นำพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ออกมาขายทั้งหมด จากนั้นก็ไปซื้อพันธุ์ข้าวจากกรมกิโลกรัมละ 15.50 บาท เพื่อใช้ในการเพาะปลูก จะเห็นว่าพันธุ์ข้าวที่ขายไปได้ราคาดีกว่า ซึ่งวิธีการดังกล่าวตนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากนี้ไป

     จากราคาข้าวที่สูงขึ้นส่งผลให้พันธุ์ข้าวปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาพันธุ์ข้าวที่ซื้อขายกันในท้องตลาดเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 17-22 บาท ขณะที่พันธุ์ข้าวของกรมเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 14-15 บาท ราคาของกรมที่ถูกกว่าท้องตลาด ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่ยอมเก็บพันธุ์ข้าวตัวเอง โดยคิดว่ากรมจะมีพันธุ์ข้าวสำรองราคาถูกให้

     "ผมอยากเตือนเกษตรกร ว่า ทุกส่วนจะต้องเก็บพันธุ์ข้าวของตัวเองไว้ส่วนหนึ่ง อย่าหวังแต่จะให้กรมช่วย เพราะสถานการณ์ขณะนี้พันธุ์ข้าวของกรมไม่เพียงพอที่จะให้กับเกษตรกรแล้ว" นายประเสริฐย้ำ

ประชุมด่วนจันทร์นี้รับมือพันธุ์ข้าวขาด

     นายประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์ข้าว วันที่ 21 เม.ย.นี้ ทางกรมจะประชุมด่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการจัดหาพันธุ์ข้าวเพิ่ม โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวนาปี คาดว่าจะต้องเพิ่มแปลงเพาะพันธุ์ข้าวจากศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งมีอยู่ 4,000 แห่ง เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวจำนวน 1 แสนตัน ซึ่งเป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับกับความต้องการของเกษตรกรที่ปลูกข้าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบมีพื้นที่นาร้างและบ่อเลี้ยงกุ้งจำนวนมาก เริ่มปรับสภาพหน้าดินมาเป็นนาข้าวแล้ว

     การประชุมวันที่ 21 เม.ย.นี้ หากจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในการดำเนินการ ตนก็จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อีกครั้ง ส่วนจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเท่าไรนั้น ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

ส.ชาวนาไทยร้องกรมชลฯ เตรียมน้ำให้พอ

     นายกสมาคมชาวนาไทย เรียกร้องกรมชลฯ เตรียมน้ำให้พอต่อการทำนาช่วงนี้ เพราะยอมรับจากผลพวงราคาข้าวสูงขึ้นมาก ทำให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวหลายรอบในแต่ละปี และการห้ามทำนาในช่วงราคาข้าวแพง ทำได้ยาก ระบุราคาข้าวปัจจุบันน่าพอใจ และขอให้รัฐบาลดูแลให้อยู่ระดับนี้ต่อไป

     นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ราคาข้าวสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวหลายรอบมากขึ้น จนแทบระบุไม่ได้แล้วว่า เป็นนาปีหรือนาปรัง เพราะชาวนาทำนาได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงเรียกร้องให้กรมชลประทานและผู้เกี่ยวข้องเร่งเตรียมการเรื่องน้ำให้เพียงพอต่อการทำนาด้วย เนื่องจากไม่สามารถห้ามชาวนาทำนาได้ ในช่วงราคาข้าวแพงเช่นปัจจุบัน

     อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า น้ำจะเพียงพอต่อการทำนา โดยอาจมีบางพื้นที่ที่ขาดน้ำแต่ชาวนาก็ใช้น้ำบาดาลที่ขุดเจาะจากใต้ดินแทน เพราะถือเป็นโอกาสที่ชาวนาจะมีรายได้จากราคาข้าวที่สูงขึ้น

     ส่วนราคาข้าวที่ปัจจุบันสูงถึง 14,500 บาทต่อตัน นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ถือเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้ และขอให้รัฐบาลดูแลราคาระดับนี้ต่อไป เพราะหากราคาข้าวตกลงไปเหลือตันละ 8,000 บาท เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ชาวนาจะเลิกทำนาทันที เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน ขณะที่ราคาปุ๋ย และยาฆ่าแมลงถีบตัวสูงขึ้นถึงเท่าตัว

     นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐจัดระบบสวัสดิการให้แก่ชาวนา เช่นเดียวกับอาชีพในภาคอุตสาหกรรม เพื่อดูแลประชากรชาวนาที่มีถึง 3.7 ล้านครอบครัว หรือ 20 ล้านคน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.