นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับสั่งว่า ทรงเป็นห่วงเรื่องพันธุ์ข้าวที่จะใช้ปลูกในช่วงการทำนาฤดูกาลปี 2551/2552 จะไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากราคาข้าวที่สูงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะนำพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ออกไปจำหน่าย ดังนั้นจึงรับสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษและรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์ข้าวเอาไว้ ไม่ควรเอามาจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบในเบื้องต้นไปแล้ว เพราะโดยศักยภาพการผลิตพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวและศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน มีเพียง 7 หมื่นตันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีมากถึง 9 แสนตัน ดังนั้นหากเกิดการขาดแคลนและเกษตรกรหันไปใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ จะส่งผลกระทบปัญหาผลผลิตที่ไม่ดีและให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ระบุว่าจากภาวะอาหารของโลกที่แพงขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะขาดแคลนในกลุ่มประเทศยากจน ปัญหาดังกล่าวในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้อได้เปรียบเรื่องสภาพภูมิอากาศสามารถในการผลิตอาหารได้มาก และเหลือพอที่จะส่งออก ประเมินสถานการณ์ได้ว่าความขาดแคลนอาหารจะไม่เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างแน่นอน
ชง ครม.แผนรับมือวิกฤติอาหารโลก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสสำหรับไทย ในการจะผลิตอาหารป้อนตลาดโลก เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีข้อสรุปตรงกันที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณากำหนดแผนการผลิตอาหารเป็นวาระแห่งชาติ โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างร่างแผนดำเนินการ คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ทันภายในวันที่ 22 เม.ย.นี้
ในเบื้องต้นวาระแห่งชาติเรื่องอาหาร ได้กำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 130 ล้านไร่เต็มศักยภาพ ด้วยการจัดโซนนิ่งแบ่งแยกโซนอาหารและพืชพลังงานที่ชัดเจน และมีความสัมพันธ์กับระบบการขนส่งอย่างบูรณาการ โดยในส่วนของโซนอาหารจะแยกเป็นพืช สัตว์ และประมง เป็นการผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศก่อน หลังจากนี้เมื่อสินค้าเหลือจึงคิดเรื่องส่งออก โดยประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาตลาดคู่ค้าที่สำคัญต่อไป ในส่วนของพืชพลังงานจะใช้ระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งเข้าไปส่งเสริม โดยเฉพาะการปลูกปาล์มน้ำมัน จะสนับสนุนเงินลงทุนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4%
จีนครองผู้ผลิตอาหารโลกสูงสุด 3 กลุ่ม
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรอาหารที่สำคัญของโลกว่า ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มธัญพืช เป็นกลุ่มที่ผลิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านตัน โดยจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนการผลิต 21.25% ของผลผลิตโลก รองลงมาคืออินเดีย 5.53% และสหรัฐ 2.91% ส่วนไทยมีผลผลิตในกลุ่มนี้ประมาณ 0.47% 2. กลุ่มผักและผลไม้มีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านตัน จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 18.20% ของผลผลิตโลก รองลงมาเป็นสหรัฐ 17.41% และอินเดีย 10.23% โดยไทยมีสัดส่วนการผลิต 1.24% และ 3. กลุ่มเนื้อสัตว์ มีผลผลิตเฉลี่ยปีละ 200 ล้านตัน จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 28.57% ของผลผลิตโลก รองลงมาเป็นสหรัฐ 14.95% และบราซิล 7.66% ในขณะที่ไทยมีสัดส่วนการผลิต 0.70%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ แต่เนื่องจากความต้องการในประเทศมีจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งออก ต่างจากไทยแม้ว่ามีสัดส่วนการผลิตที่น้อยกว่าแต่มีสินค้าเหลือส่งออกทุกปี และผลผลิตที่ได้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นจากการปรับปรุงสายพันธุ์ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร
โยน อบต.สร้างไซโลสินค้าเกษตร
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา ตามวาระแห่งชาติ เรื่องการผลิตอาหาร ได้กำหนดให้มีการสร้างไซโล ตามโซนนิ่งสินค้าเกษตร เรื่องนี้จะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งตามความเหมาะสมของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด คาดเบื้องต้นจะสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) เป็นผู้ดำเนินการรวมทั้งจะส่งเสริมให้เกษตรกรมียุ้งฉางเป็นของตัวเอง
นายอภิชาต กล่าวว่า การสร้างไซโลเพื่อเก็บสต็อกสินค้าเกษตร ส่วนหนึ่งเป็นการสำรองความมั่นคงด้านอาหารของไทย โดยเฉพาะข้าว ซึ่งไทยมีข้อตกลงกับประเทศสมาชิกอาเซียนจะสำรองข้าวรวมกันมากถึง 337,000 ตัน เพื่อใช้ทั้งกรณีปกติและฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากภาวะการผลิตที่เปลี่ยนแปลง
เตือนผู้ส่งออกอย่าอ้างข้าวประมูลแพง
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงการประมูลซื้อข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ 5 แสนตัน ซึ่งไทย เวียดนาม และปากีสถาน เข้าร่วมประมูลด้วยว่า ผู้ส่งออกไทยไม่ควรอ้างว่าราคาเสนอขายข้าวขาว 25% ที่เวียดนามเสนอตันละ 1,200 ดอลลาร์ เป็นราคาที่สูงเกินจริงเพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ตัดสินว่าจะซื้อจากประเทศใด หรือล้มประมูล
เชื่อว่าราคาที่เวียดนามเสนอเป็นราคาตามกลไกตลาดที่แท้จริง เพราะฟิลิปปินส์เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเวียดนาม ซื้อขายกันเป็นประจำ ย่อมรู้ราคาตลาดดี ผู้ส่งออกไทยไม่ควรเสนอราคาต่ำเกินไป เพื่อมุ่งหวังแต่จะส่งออกโดยไม่คำนึงถึงว่า หากเสนอราคาต่ำมาก จะส่งผลกระทบราคาภายในได้
นายยรรยง กล่าวว่า ไม่ต้องการให้นำราคาซื้อขายข้าวของฟิลิปปินส์ มาเป็นข้ออ้าง เพราะตลาดข้าวที่สำคัญๆ ในส่วนข้าวขาวคือ จีน อินโดนีเซีย อิหร่าน อินเดีย ข้าวหอมมะลิ คือ จีน ฮ่องกง ไอเวอรีโคสต์ เซเนกัล ส่วนข้าวนึ่ง คือแอฟริกา ข้าวเหนียว คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ข้าวปีนี้ปัญหาอยู่ที่ราคาไม่ใช่ตลาด ทำให้รัฐต้องเข้ามาดูว่าจะทำอย่างไรราคามีเสถียรภาพ ก่อนหน้านี้เคยหารือการออกไปประมูลข้าวในต่างประเทศบางล็อตว่า ควรให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักที่จะเสนอราคา หลังการหารือกับผู้ส่งออกแล้วเพื่อป้องกันการตัดราคาของผู้ส่งออกไทยกันเอง รัฐและเอกชนควรจะร่วมมือกันเพื่อให้การค้ากับต่างประเทศเป็นประโยชน์ และไม่ส่งผลกระทบต่อชาวนา
ปูดผู้ส่งออกยังมีข้าวในสต็อกรัฐ 8 แสนตัน
ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยไม่ควรกังวลว่าจะไม่มีตลาดส่งออกจนต้องขายตัดราคากัน ตนยืนยันว่าขณะนี้ข้าวในมือผู้ส่งออกมีประมาณ 1.6 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีในสต็อกผู้ส่งออก 8 แสนตัน และอีก 8 แสนตัน เป็นข้าวที่ประมูลได้จากสต็อกรัฐบาลเมื่อปลายปีก่อน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มารับ ทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายเก็บรักษาข้าว
“ผมไม่เชื่อว่าผู้ส่งออกไม่มีข้าวจะส่งออกเท่าที่ทราบ ผู้ส่งออกมีสต็อกในมืออยู่แล้ว 8 แสนตัน ยังไม่มารับมอบข้าวที่ประมูลได้จากรัฐอีก 8 แสนตัน ที่อ้างแบบนี้เป็นการยึกยักกันระหว่างผู้ส่งออกกับโรงสี ผู้ส่งออกก็อยากเก็บข้าวเอาไว้เพื่อปล่อยขายในช่วงที่ได้ราคาสูงสุด ผู้ส่งออกไม่ควรกังวลกับตลาดแต่ควรกังวลว่า จะทำอย่างไรให้ราคาส่งออกมีเสถียรภาพ สร้างกลไกการค้าระหว่างประเทศอย่างไร รัฐบาลจะดูแลราคาในประเทศอย่างไร” นายยรรยง กล่าว
ทั้งน ี้รัฐได้ดำเนินการเร่งรัดไปยังผู้ส่งออกที่ประมูลข้าวได้แล้วให้มารับแม้จะอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่รับมอบตามสัญญาแต่ไม่เข้าใจทำไมผู้ส่งออกไม่มารับมอบทั้งที่ออกมากล่าวอ้างว่าไม่มีข้าวจะส่งออก
นายยรรยง กล่าวถึงการตรวจสต็อกข้าวของรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ว่า ได้ร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกตรวจสอบสต็อกข้าวรัฐในพื้นที่ 13 จังหวัดของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ซึ่งเก็บข้าวรัฐจำนวนมาก โดยตรวจสอบในโกดังกลาง 185 แห่งและโรงสี 25 แห่ง ในโกดังกลางมีข้าวครบตามจำนวนที่รับฝากเก็บไว้ 1.99 ล้านตัน รวมทั้งโรงสีก็มีอยู่ครบ โดยมีข้าวสาร 23,479 ตัน และข้าวเปลือกอีก 32,949 ตัน
ส่วนราคาข้าวในประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาข้าวสารตลาดกรุงเทพมหานคร ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ตันละ 33,300-33,400 บาท ข้าวขาว 5% ตันละ 25,000-25,050 บาท ข้าวขาว 100% ตันละ 26,000-26,050 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 18,500-19,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,900-14,000 บาท ขณะที่ข้าวสารบรรจุถุง 5 กก. ข้าวหอมมะลิ 100% ถุงละ 134-179 บาท ข้าวขาว 5% ถุงละ 80-90 บาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |