www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

รัฐหว่านแสนล.แทรกแซงข้าว จำนำนาปรังขาดทุน 6 หมื่นล้าน


ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (20 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบราคาข้าวเปลือกนาปีที่ระดับความชื้น 15% ที่ชาวนาควรจะขายได้ประจำปี 2551/2552 ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานีนาปี ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 12,500 บาท โดยเริ่มจำนำ 1 พ.ย.นี้ สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ.ปีหน้า

การกำหนดราคาข้าวขั้นต่ำที่ชาวนาจะขายได้ ประจำปี 2551/2552 ที่ประชุม กขช. ได้พิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมของการผลิตข้าวของชาวนาแล้ว มีมติเห็นชอบราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาควรจะขายได้ในระดับดังกล่าว โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ภาคเอกชน คือ โรงสี ชาวนา พ่อค้า ผู้ส่งออก ซื้อขายข้าวกันเอง ในราคาขั้นต่ำตามกลไกการตลาด

อย่างไรก็ตาม สภาพรอบข้างขณะนี้ อาจทำให้ราคาซื้อขายข้าวตามกลไกการตลาดผิด จากที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายขั้นต่ำไว้ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะเข้าไปแทรกแซงตลาด เพื่อให้ราคาข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเปิดทางเลือกให้ชาวนาสามารถใช้สิทธิผ่าน 2 ทางเลือก คือ 1.ผ่านกลไกการรับจำนำข้าวตามกระบวนการปกติ เริ่ม 1 พ.ย.นี้ ถึง 31 พ.ค. 2552 และ 2.ให้สิทธิชาวนาในการขายข้าวล่วงหน้า กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2551 ถึง 30 เม.ย. 2552

"การให้สิทธิชาวนาในการขายข้าวล่วงหน้า เป็นมาตรการเสริม นอกจากกระบวนการรับจำนำตามปกติ เพื่อให้แน่ใจว่าราคาข้าวที่ชาวนาจะขายได้มีราคาไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด" ดร.โอฬารกล่าว

เผยขาดทุนจำนำนาปรัง 6 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กขช. กล่าวว่า การประกันราคาข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรับจำนำสูงสุดไว้ที่จำนวน 8 ล้านตัน ใช้วงเงินสูงสุด จำนวน 100,135 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าวเปลือกนาปี จำนวน 5 ล้านตัน งบประมาณ 60,000 ล้านบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ จำนวน 1.5 ล้านตัน งบประมาณ 25,000 ล้านบาท ข้าวเปลือกเหนียว จำนวน 1.5 ล้านตัน จำนวน 13,500 ล้านบาท ค่าเช่าโกดังโรงสีจำนวน 1,000 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะนำมาใช้รับจำนำ อัตรา 6.5% อีกจำนวน 3,153 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กขช.ทราบว่า จากราคาข้าวในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนจากการเข้าไปดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูกาลผลิตปี 2551 ปริมาณ 4 ล้านตันแล้ว ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้วิเคราะห์ว่า หากรัฐบาลให้ ธ.ก.ส. เข้ามาซื้อข้าวจากชาวนาล่วงหน้า แล้วนำไปซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย อาจจะทำให้ ธ.ก.ส.ขาดทุนเพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น เพราะกลไกดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ชาวนาเข้ามาซื้อใบจองสิทธิที่จะขายข้าวให้กับ ธ.ก.ส.ในราคาชาวนาต้องการ หากราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงกว่าราคาที่ชาวนาตกลงไว้กับ ธ.ก.ส. ชาวนาก็สามารถนำข้าวไปขายในตลาดได้ แต่ถ้าราคาต่ำกว่าที่ตกลงไว้ ชาวนาก็นำข้าวไปขายให้กับ ธ.ก.ส.

ตั้ง 8 อนุกก.เกาะติดจำนำข้าว

ดร.โอฬาร ระบุว่า ที่ประชุม กขช. ยังได้แต่งตั้งอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อศึกษาและพิจารณาแนวทางในการหาข้อยุติด้านต่างๆ จำนวน 8 คณะ ประกอบด้วย อนุกรรมการหาข้อยุติในด้านนโยบาย 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการผลิต มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน คณะกรรมการด้านการตลาด มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการ ด้านงบประมาณ และการเงินมี รมว.คลัง เป็นประธาน

ส่วนที่เหลืออีก 5 คณะ เป็นอนุกรรมการด้านปฏิบัติการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการระบายข้าว มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการพิจารณาจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลประมาณ 4.1 ล้านตัน ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการดำเนินการรับจำนำ มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการให้สิทธิการขายข้าวเปลือกล่วงหน้าแก่เกษตรกร มี รมว.คลัง เป็นประธาน

ดร.โอฬาร ระบุว่า เนื่องจากลักษณะความชื้นระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว ยุ้งฉาง ไซโล และโกดังที่เก็บข้าวแตกต่างกันไปตามภูมิภาค คณะกรรมการ กขช. จึงมอบหมายให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด วิธีการและขั้นตอน เพื่อให้ชาวนาสามารถขายข้าวได้อย่างน้อยในราคาขั้นต่ำ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยกระทรวงเกษตรฯ ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ จะจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกร และปริมาณข้าวที่เกษตรกรแต่ละครอบครัวผลิตได้ เพื่อรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือให้เกษตรกรเหล่านี้ ขายข้าวได้ในราคาและปริมาณที่เป็นจริง

"ที่ประชุม กขช.ยังมอบหมายให้อนุกรรมการ ทุกคณะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสม ขั้นตอนและรายละเอียดในการปฏิบัติงาน และนำเสนอ กขช. พิจารณาอีกครั้งภายในวันที่ 30 ต.ค.นี้ โดยให้รายงานความคืบหน้าทุกวันต่อผม" ดร.โอฬารกล่าว

ไชยาเรียก5เสือผู้ส่งออกระบายข้าว

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลที่มีอยู่ทั้งหมด ประมาณ 6 ล้านตันทันที หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 โดยจะสั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกประกาศถึงเรื่องการประมูลข้าวให้เอกชนผู้ส่งออกทราบ พร้อมทั้งทำหนังสือแจ้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อหารือและรับทราบถึงระเบียบและวิธีการประมูลข้าวรวมถึงเงื่อนไขในการประมูล (TOR) ด้วย เบื้องต้นต้องการให้ผู้ส่งออกข้าวที่สนใจ จะต้องประมูลข้าวแบบยกล็อต และต้องประมูลข้าวแบบผสมกันทั้งข้าวเก่า 2.1 ล้านตันข้าวสาร และข้าวใหม่ 4.1 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนราคาในการประมูลจะมีการศึกษารายละเอียด เพื่อกำหนดราคาประมูลเบื้องต้นอีกครั้ง

"การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมา เราขายข้าวแบบขาดทุนมาตลอด ครั้งนี้ ผมจะเรียกผู้ส่งออกทั้งหมดมาคุย รวมทั้ง 5 ยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกข้าวมาคุยด้วย เพื่อให้รับรู้ถึงเงื่อนไขการประมูลที่ผมต้องการให้ประมูลแบบยกล็อตรวมกัน ทั้งข้าวเก่าข้าวใหม่ ซึ่งการระบายข้าวครั้งนี้ถือว่าจะช่วยผู้ส่งออกที่ได้ข้าวเก่าในราคาถูก และประมูลข้าวใหม่ไปบ้าง เพื่อไม่ให้รัฐขาดทุนมากนัก ไม่ใช่ต้องการประมูลข้าวเก่าราคาถูกอย่างเดียว"

เข้มป้องกันนายทุนตกเขียวสวมสิทธิ

นายไชยา กล่าวอีกว่า ตนจะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. ให้จัดทำข้อมูลการรับจำนำข้าว ทั้งในส่วนผลผลิตประจำนาปี ปริมาณข้าวในมือชาวนา และพันธุ์ข้าวที่ปลูกให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตกเขียว หรือการถูกกลุ่มนายทุนซื้อข้าวจากชาวนาไว้ล่วงหน้า แล้วสวมสิทธินำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำของรัฐ เพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจำนำ กับราคาที่กดรับซื้อชาวนา

ทั้งนี้ เมื่อนายทุนหรือโรงสีรู้ว่ารัฐกำลังเปิดรับจำนำข้าวนาปี จะสั่งกว้านซื้อข้าวล่วงหน้า ตั้งแต่ตอนยังไม่เก็บเกี่ยว โดยให้ราคาชาวนาที่ไม่สูงนัก เพราะอ้างว่ามีความเสี่ยงก่อนการเก็บเกี่ยว และเมื่อข้าวเริ่มออกฤดูซึ่งตรงกับช่วงรัฐบาลเปิดรับจำนำ กลุ่มนายทุนเหล่านี้จะว่าจ้างชาวนาครั้งละ 200-300 บาท ให้นำข้าวกองที่ซื้อไปสวมสิทธิเข้าโครงการรับจำนำ ส่งผลให้ประโยชน์ที่แท้จริงไม่ตกกับชาวนา แต่ไปตกอยู่กลุ่มนายทุนแทน
ชาวนายอมรับราคาจำนำลดลง

นายประสิทธิ์ บุญเฉย รักษาการนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า สมาคมคงต้องยอมรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี หลังจากได้รับการชี้แจงจากรัฐบาลถึงเหตุผลในการปรับลดราคารับจำนำลงตันละ 2,000 บาท เนื่องจากเกรงว่าหากมีการกำหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก จะทำให้เกษตรกรแห่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำอย่างเดียว และจะไม่มีข้าวเข้าไปในกลไกตลาด

"เราคงต้องยอมไปก่อน เพราะเกรงว่าหากยิ่งยื้อเรื่องไว้นาน จะยิ่งทำให้โครงการรับจำนำนาปีเปิดช้าลง ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เพราะข้าวเจ้าขณะนี้ขายได้ในตลาดราคาเหลือเพียง 9,000 บาทเท่านั้น และยิ่งมีข่าวว่ารัฐบาลอาจเหลือระยะเวลาทำงานอีกไม่นาน จึงต้องการให้โครงการรับจำนำเกิดขึ้นโดยเร็ว" นายประสิทธิ์กล่าว

ผู้ส่งออกชี้จังหวะไม่เหมาะระบายข้าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึง วิธีการระบายข้าวบางส่วนผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (กสล.) ปริมาณ 4.6 แสนตันข้าวสารนั้น ต้องขึ้นกับคุณภาพข้าวว่า เป็นข้าวชนิดใด เพราะราคาในตลาดล่วงหน้า ขณะนี้ ราคาเฉลี่ยที่กิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท ส่วนปริมาณข้าวที่กำหนดไว้หลายแสนตันนั้น จะทำให้ราคาซื้อขายมีโอกาสลดลงต่ำลงไปอีก จึงถือว่าเป็นจังหวะที่ไม่ดีมากๆ ในการระบายข้าว

นอกจากนี้ การระบายข้าวทั่วไป ก็ยังไม่มีความเหมาะสมเช่นกัน แต่หากรัฐมีความจำเป็นต้องระบายข้าว ควรดำเนินการเฉพาะในส่วนข้าวเก่า 2.1 ล้านตันเท่านั้น และให้ระบายในราคาเฉลี่ยที่ตันละ 8 พันบาท ซึ่งจะเท่ากับราคาส่งออก (เอฟโอบี) ตันละ 500 ดอลลาร์ แม้จะยังเป็นราคาที่แข่งขันได้ยาก แต่ก็มีโอกาสที่จะมีผู้สนใจซื้อ ส่วนข้าวนาปรัง หากจะระบายในราคาที่รับจำนำตันละ 1.4 หมื่นบาท หรือคิดเป็นราคาส่งออกตันละ 700 ดอลลาร์ จะไม่มีโอกาสระบายได้และไม่เห็นด้วยหากรัฐจะขายขาดทุน เพราะจะเป็นภาพที่ดูไม่ดี

"ตอนนี้การระบายข้าวไม่เหมาะสม เพราะตลาดเงียบมาก ขนาดผู้ส่งออกรายใหญ่ ยังไม่มีคำสั่งซื้อในมือขณะนี้เลย รวมถึงผู้ส่งออกรายอื่นๆ ด้วย ทำให้การส่งออกข้าว ต.ค.นี้ ปริมาณรวมลดลงไปแล้ว 45% จากที่เคยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนตันเหลือเพียง 2 แสนตันเศษ และเป็นห่วงว่าทั้งปีการส่งออกอาจไม่ถึง 10 ล้านตัน ตามที่คาดการณ์ไว้" นายชูเกียรติกล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.