ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "นโยบายข้าวไทยจะไปทางไหน" ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ (20 พ.ย.) ว่า นโยบายข้าวของรัฐบาลที่ช่วยเหลือชาวนาด้วยการรับซื้อข้าวไปเก็บไว้ในคลังนั้น เป็นนโยบายที่ทำให้คุณภาพข้าวของไทยลดลงในระยะยาว
สำหรับสาเหตุที่มองว่ารัฐบาลรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไปเก็บไว้ในคลังข้าวของรัฐบาล มีผลทำให้คุณภาพข้าวไทยลดลงนั้น เนื่องจาก นโยบายดังกล่าว ทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะรับซื้อข้าวไปเก็บไว้เสมอ แม้ว่าคุณภาพข้าวที่ผลิตจะไม่ดี เกษตรกรจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพดีขึ้น ในที่สุดข้าวไทยก็ไม่สามารถแข่งกับประเทศอื่นได้
"นโยบายข้าวไทยที่ผ่านมาเป็นนโยบายที่ใช้การสต๊อกข้าวของรัฐบาล เพื่อดึงให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น แต่เราก็ดึงได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะสู้คู่แข่งไม่ได้ และยังส่งผลระยะยาวด้วย เพราะการผลิตข้าวเพื่อเก็บในสต็อก ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการดูแลคุณภาพข้าว ข้าวที่ส่งให้รัฐจะแย่แค่ไหน รัฐบาลก็รับซื้อ...ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในปีนี้ และปีหน้า ก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณภาพข้าวไทยเริ่มลดต่ำลงอีก" ดร.อัมมาร กล่าว
ส่วนวิธีแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่เหมาะสมนั้น ดร.อัมมาร กล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้าใจว่าโจทย์ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น แต่อยู่ที่การบริหารความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเผชิญจากการลงทุนในการผลิต ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเน้นที่การลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ข้าวถูกนำมาขายในตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นข้าวที่ผลิตจากชาวนายากจน ดังนั้นการทำให้ราคาข้าวดีขึ้นจึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือคนจนแต่อย่างใด
ดร.อัมมาร เสนอว่า นโยบายข้าวที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือการลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ด้วยการขายสัญญาออปชั่น (OPTION) ให้กับเกษตรกร ซึ่งสัญญาดังกล่าว จะประกันให้เกษตรกรได้ราคาข้าวตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยหากราคาตลาดต่ำกว่าราคาตามสัญญา รัฐบาลก็จ่ายเงินให้เกษตรกรเฉพาะส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาที่ระบุไว้ในสัญญา ขณะที่เกษตรกรก็ยังคงขายข้าวในราคาตลาดได้
“ปริมาณข้าวส่วนใหญ่ในตลาดมาจากคนที่ไม่ยากจนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าทำให้ราคาข้าวดีขึ้น ด้วยเหตุผลว่าต้องการช่วยเหลือคนจน ถ้าต้องการช่วยเหลือคนจน นโยบายที่ถูกต้องคือต้องให้การแทรกแซงราคาลดลง การยกราคาข้าวให้สูงเป็นการเสียเวลาและควรเลิกได้แล้ว การช่วยเหลือชาวนาต้องคิดเชิงพาณิชย์ โดยลดความเสี่ยงด้วยการที่รัฐบาลขายออปชั่นให้กับเกษตรกร” ดร.อัมมาร กล่าว
ทั้งนี้การขายออปชั่นให้กับเกษตรกร จะช่วยทำให้ลดปัญหาการซื้อขายข้าว และทำให้ข้าวที่เก็บในคลังสินค้ามีไม่มีปริมาณมากเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติรัฐบาลจะต้องกำหนดราคาสัญญาออปชั่น ให้สอดคล้องกับราคาข้าวที่กำหนดในสัญญาที่เกษตรกรไปทำไว้
ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า นโยบายข้าวของไทยที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาล เป็นนโยบายที่สะเปะสะปะ ไม่มีทิศทาง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามสถานการณ์การเมือง ที่รัฐบาลมองว่าหากทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเป็นผลงานของรัฐบาลอย่างหนึ่ง
นโยบายข้าวที่ไม่มีทิศทางเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป และจะส่งผลร้ายต่อเกษตรกรเอง เพราะทำให้เกษตรกรมองว่าราคาสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องผลักดันให้สูงขึ้น แทนที่จะให้ความสำคัญกับการปรับตัวเอง
ด้าน ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การอุดหนุนภาคเกษตร ไม่มีทางที่จะหมดไปจากโลกนี้ได้ เพราะนักการเมืองถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง แต่การอุดหนุนสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีคือ การอุดหนุนด้านราคาซึ่งเป็นการบิดเบือนการค้า กับการอุดหนุนทางอื่นที่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาน้อย และทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
การอุดหนุนเกษตรกรในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การอุดหนุนด้านราคานั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การอุดหนุนภาคเกษตรของสหภาพยุโรป ที่เป็นการอุดหนุนในรูปแบบของ Green Subsidy ซึ่งเน้นการวิจัย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรแทนการอุดหนุนด้านราคา ซึ่งประเทศไทยก็น่าจะคิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการอุดหนุนภาคเกษตร จากการอุดหนุนด้านราคามาเป็นการอุดหนุนที่ช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
“การอุดหนุนที่ไม่ใช่การบิดเบือนราคาของประเทศไทย ส่วนใหญ่ลงในชลประทาน แต่รูปแบบอื่น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบเกษตรอย่างยั่งยืน ยังไม่เห็นชัดเจน ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนจากระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่ รวมทั้งไม่มีการช่วยพยุงต้นทุนในช่วงของการเปลี่ยนแปลง จากระบบเก่าไประบบใหม่” ดร.ภาวิญญ์ กล่าว
ด้าน นางสาวภคอร ทิพยธนเดชา ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การที่เกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญของนักการเมือง ทำให้นักการเมืองไม่มีทางจะยกเลิกการจำนำข้าว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณานโยบายข้าว จะเห็นได้ว่ามีสองด้าน คือนโยบายด้านการผลิตกับนโยบายด้านตลาด โดยในด้านการผลิตถือเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน ทั้งปัญหาการขาดการจัดการด้านการผลิต และการขาดการจัดการบริหารดินและน้ำ ดังนั้นรัฐบาลควรเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แล้วยกเลิกมาตรการรับจำนำข้าว เพื่อไม่ให้เป็นนโยบายประจำที่เกษตรกรรอคอยให้รัฐบาลดำเนินการ เพราะเป็นการบิดเบือนตลาด
“มาตรการข้าวเป็นการบิดเบือนตลาด แต่คำถามคือถ้ายกเลิกจำนำข้าวแล้วให้ชาวนาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ชาวนาจะเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนและทันเหตุการณ์หรือไม่ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือชาวนานั้น อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องไม่ปล่อยให้เป็นมาตรการประจำที่ชาวนารอคอย เพราะต้องมีคนแบกรับราคาที่สูงขึ้น” นางสาวภคอร กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|