นาย ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศของไทยและเวียดนาม จะประชุมความร่วมมือการค้าข้าวระหว่างกันที่กรุงเทพฯ โดยจะวิเคราะห์สถานการณ์ค้าข้าวในปัจจุบันและอนาคต จัดทำความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เช่น การแบ่งโควตาการขายในประเทศเป้าหมาย ลดปัญหาการแข่งขันด้านราคาและแย่งตลาดกันเอง เพื่อทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ และสะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปี 51 ที่ทั้ง 2 ประเทศจะออกสู่ตลาดในเวลาใกล้เคียงกันหรือตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป ซึ่งไทยจะมีผลผลิตไม่น้อยกว่า 4-5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ 2 ประเทศได้จัดประชุมมาแล้วหลายครั้ง แต่ต้องหยุดชั่วคราวหลังการปฏิรูปการปกครองของไทย การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นการฟื้นความร่วมมือของผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของโลก ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่ง “ขณะนี้สถานการณ์ค้าข้าวตึงตัว ตลาดส่งออกต้องการสูง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ต้องการซื้อ 1.6 ล้านตัน แต่เพิ่งเปิดประมูลไป 700,000 ตัน อินโดนีเซียเตรียมเปิดประมูลนำเข้า 1.5 ล้านตัน และอิหร่านต้องการไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน แต่ในด้านราคาค่อนข้างผันผวน หากความร่วมมือเกิดขึ้น ผู้ส่งออกไม่แย่งกันขายตัดราคา และแยกประเภทข้าว หรือประเทศที่จะเข้าประมูลที่ชัดเจน ก็จะเกิดผลดีต่อการส่งออกของประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างไทย และเวียดนาม รัฐบาลก็น่าจะส่งเสริมความร่วมมือค้าข้าวของโลกอย่างจริงจังเสียที” นายชูเกียรติกล่าว
นายชูเกียรติกล่าวต่อว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ ราคาข้าวของไทยผันผวนมาก และขยับขึ้นลงอย่างรวดเร็ววันละ 50-60 บาท/กระสอบ ( 50 กิโลกรัม ) ข้าวเปลือกหอมมะลิเดือน ม.ค.ตันละ 11,000 บาท ก็เพิ่มเป็น 12,300 บาทในเดือน ก.พ. ซึ่งสูงกว่าราคารับจำนำที่ตันละ 9,300 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเดือน ก.พ.ตันละ 8,200 บาท เพิ่มขึ้น 1,200 บาทจากเดือน ม.ค. ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการส่งออกในแต่ละเดือนลดลงเหลือประมาณ 700,000 ตัน จากปกติเกือบ 1 ล้านตัน จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด และตรวจสอบว่าราคาที่สูงขึ้นนั้นเป็นการปั่นราคาเพื่อเก็งกำไรหรือไม่ เพราะผู้ส่งออกขนาดกลางและเล็กไม่สามารถส่งออกได้ เพราะข้าวมีราคาแพง
“หลังตรุษจีนราคาตกลงเพียง 2 วัน หลังจากนั้นราคาก็เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่ภาวะส่งออกเริ่มนิ่งและข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ ปกติราคาน่าจะอ่อนตัวลงแล้ว แต่ปีนี้ราคากลับสูงขึ้น ตอนนี้ราคาข้าวเท่าราคาทองแล้วตันละกว่า 14,000 บาท” นายชูเกียรติกล่าว
สำหรับปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาทนั้น จะกระทบต่อการวางแผนในการกำหนดราคา และรับคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งต้องขายกันแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ หรือไม่เกินเดือน เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลเสียต่อธุรกิจและเกษตรกร.
ที่มา ไทยรัฐ
|