นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ น้อมรับกระแสความห่วงใยของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สนองกระแสพระราชดำรัสในเรื่องการสำรองพันธุ์ข้าวของเกษตรกร โดยได้เร่งประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจให้กับเกษตรกรเก็บสำรองพันธุ์ข้าวไว้ใช้ในฤดูกาลต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาสถานการณ์ขาดแคลนพันธุ์ข้าว
“คาดว่าปีนี้ความต้องการพันธุ์ข้าวจะเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวไปขายโดยไม่เก็บสำรองไว้ใช้ ขณะเดียวกันยังมีเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ทำนาข้าวมากขึ้น โดยนำนาร้างและพื้นที่ที่ปลูกพืชผลไม้ประเภทอื่นมาใช้ปลูกข้าวแทน รวมทั้งเกษตรกรยังใช้ปริมาณพันธุ์ข้าวเกินความจำเป็น คือ ใช้ปริมาณพันธุ์ข้าวถึง 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่ความเป็นจริงใช้พันธุ์ข้าวไม่เกิน 15 กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าวเร่งเพิ่มปริมาณพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการ คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนตัน จากเดิมที่มีสำรองไว้ที่ 7 หมื่นตัน รวมทั้งเร่งให้กรมการข้าวเร่งศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ ที่ใช้พื้นที่น้อยผลผลิตมาก ทนต่อศัตรูพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตให้กับเกษตรกร
ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาที่ดินจะต้องให้ความรู้กับเกษตรกรที่นำนาร้าง หรือพื้นที่ที่ปลูกพืชพักผลไม้อื่นมาใช้ปลูกข้าว ให้ตรวจสอบสภาพดินให้มีความเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว เพื่อป้องกันปัญหาขาดทุน จากการที่ผลผลิตน้อยไม่คุ้มเงินลงทุน
“กระทรวงเกษตรฯ เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยพันธุ์ข้าว และพันธุ์พืชอื่นๆ และต้องการสนับสนุนการวิจัยดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมการข้าวตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยพันธุ์ข้าว โดยเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ของบประมาณรวม 1 แสนล้านบาท” นายสมศักดิ์ กล่าว
ชงครม.พิจารณายุทธศาสตร์อาหารวันนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าในการประชุมครม.วันนี้ (22 เม.ย.) กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอวิกฤติอาหารโลกเป็นวาระแห่งชาติ และยุทธศาสตร์พืชพลังงานและอาหาร ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งต้องปรับโครงสร้างการผลิตอาหารใหม่ โดยให้ 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม มีส่วนร่วมในการดำเนินตามยุทธศาสตร์ แต่ในการดำเนินการจากนี้ไปทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมดำเนินการ
การเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะที่ผ่านมาการบริหารจัดการภาคเกษตรยังไม่ดีพอ จำเป็นต้องให้ทุกกระทรวงเข้ามามีส่วนร่วม และรู้ภาระหน้าที่ของตัวเอง เพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ ส่วนการใช้พื้นที่จะกำหนดพื้นที่ไว้ชัดเจน จากปัจจุบันพื้นที่การเกษตรมีอยู่ประมาณ 130 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทน 16.4 ล้านไร่ เช่น พื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ต่อไปจะแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7.4 ล้านไร่ อ้อย 6 ล้านไร่ และปาล์ม 3 ล้านไร่ และจะเพิ่มเป็น 5.5 ล้านไร่ โดยใช้พื้นที่นาร้างในภาคใต้ ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม จะต้องแบ่งโซนพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจน
"การแบ่งโซนพื้นที่เพาะปลูก จะทำให้กำหนดพื้นที่ปลูกพืชแต่ละชนิดได้ตามความต้องการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีตัวเลขแสดงให้กระทรวงเกษตรฯ รู้ว่าต้องการเท่าไร" นายสมศักดิ์ระบุ
เกษตรฯชงครม.วางกรอบพืชพลังงาน-อาหาร
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (22 เม.ย.) นี้กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ครม.พิจารณาใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. กำหนดให้สถานการณ์วิกฤติอาหารโลกเป็นวาระแห่งชาติ 2. ตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันวางแผนรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างบูรณาการ และ 3. กรอบยุทธศาสตร์การผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์จะมีการระบุนโยบายพืชพลังงานและอาหารไว้ชัดเจน ในส่วนของมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตภายในประเทศปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ นโยบายพืชเหล่านี้จะเน้นการรักษาระดับพื้นที่ปลูกแต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้วยการใช้พันธุ์ที่ดี และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี กำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างน้อย 10%
นายอภิชาต กล่าวว่าในส่วนของมันสำปะหลังจะยังคงพื้นที่ไว้เพาะปลูกเพียง 7.4 ล้านไร่ แต่จะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.7 ตัน เป็น 4.7 ตัน ในส่วนนี้ 8.4% ของพื้นที่เพาะปลูกหรือประมาณ 6.2 แสนไร่ จะใช้สำหรับพืชพลังงาน อ้อยโรงงาน คงพื้นที่เพาะปลูก 6 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 11 ตันเป็น 12 ตัน ในจำนวนนี้จะต้องกัน 2.5% ของพื้นที่เพาะปลูกหรือประมาณ 1.5 แสนไร่ เพื่อใช้ด้านพลังงาน
สำหรับปาล์มน้ำมัน จะต้องขยายพื้นที่จาก 3 ล้านไร่ เป็น 5.5 ล้านไร่ ในเขตพื้นที่นาร้าง ไร่ร้าง และพื้นที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3 ตัน เป็น 3.5 ตัน ในส่วนนี้ 30% ของพื้นที่ปลูก หรือ 1.65 ล้านไร่ จะต้องกันไว้สำหรับพืชพลังงาน
ทั้งนี้นโยบายพลังงานทดแทน จะให้ความสำคัญกับกลุ่มพืชพลังงานเป็นอันดับแรก ส่วนที่เหลือจึงส่งออกและใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน เช่นปัจจุบันได้กำหนดน้ำตาลโควตา ก. เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศปีละ 1.9 ล้านตัน และการส่งเสริมและติดตามการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนต้องสอดคล้องกับผลผลิตส่วนเกินที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะกรณีปาล์มน้ำมัน ควรลดเป้าหมายทดแทนจาก 10% เหลือ 2%
เล็งงัดก.ม.เล่นงานเจ้าของนา
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี้ได้รับร้องเรียนจากเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง ถึงกรณีการถูกเอาเปรียบจากนายทุนให้เช่าที่นา มีการปรับค่าเช่าจากเดิมที่จัดเก็บเป็นรายปี เป็นจัดเก็บรายครั้ง โดยราคาเช่าที่นาทั่วไปคิดอัตราข้าว 15-16 ถังต่อไร่ต่อปี ปัญหาดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปตรวจสอบโดยอาศัยพ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อการเกษตร หากพบความผิดจริง คือ มีการปรับค่าเช่าที่นาอย่างไม่เป็นธรรม จะถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแนวคิดที่จะกำหนดพื้นที่สำหรับการเกษตร ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 130 ล้านไร่ทั่วประเทศ เพื่อกันไว้สำหรับการเพาะปลูกข้าวสำหรับบริโภคภายในประเทศและส่งขายต่างประเทศ เบื้องต้นอาจจะออกกฎหมายควบคุมการโอนย้ายที่ดินเพื่อใช้ในกิจการอื่น แต่การดำเนินงานดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล คาดว่าจะเสนอครม.พิจารณาแนวทางดังกล่าววันนี้ (22 เม.ย.)
หวั่นพันธุ์ไม่พอ ใช้โควตาขายชาวนา
ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวจะงบเพิ่มเป็น 1,970 ล้านบาท จากเดิม 1,050 ล้านบาท ใช้สำหรับการวิจัย และการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ส่วนแผนการเพิ่มปริมาณพันธุ์ข้าวปีนี้ กรมฯ ได้ปรับวิธีการผลิตพันธุ์ข้าว โดยเน้นผลิตพันธุ์หลัก และพันธุ์คัด เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นตัน และจะเพิ่มพื้นที่การผลิตพันธุ์ข้าวเป็น 2 แสนไร่ จากเดิม 1.4 แสนไร่ และจะทยอยรับซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรอีกส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันมีเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวไปขายพ่อค้า แล้วมาซื้อพันธุ์ข้าวจากกรมฯ เพราะราคาค่อนข้างต่ำ ทำให้กรมฯ ต้องกำหนดปริมาณซื้อพันธุ์ข้าวใหม่ เช่น นาหว่าน 1 ไร่ ต่อพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัม จากเดิมที่เกษตรกรขอซื้อ 30-35 กิโลกรัม เพื่อกระจายพันธุ์ข้าวให้ทั่วถึง แต่คาดว่าจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ดังนั้นเกษตรกรจะต้องสำรองเก็บพันธุ์ข้าวด้วย
คาดส่งออกข้าวไตรมาส 2-3 ชะลอตัว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้จะชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามวงจรการส่งออกข้าวที่ช่วงต้นปีจะส่งออกมากและลดลงช่วงกลางปี ก่อนจะส่งออกเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงไตรมาสสุดท้าย สาเหตุที่การส่งออกกลางปีลดลง มาจากภาวะอากาศที่ปริมาณฝนมากผลผลิตยังไม่ออกสู่ตลาด ไม่ใช่เกิดจากราคาข้าวแพง จนทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศไม่กล้าสั่งซื้อข้าว
อย่างไรก็ตาม จากการนำคณะผู้ส่งออกข้าวเดินทางไปฮ่องกง เพื่อพบปะลูกค้าและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ข้าวของไทย และนโยบายการส่งออกข้าวไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางฮ่องกงยืนยันว่าปีนี้ต้องการซื้อข้าวหอมมะลิ 3 แสนตัน เช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าข้าวจากไทยอีก คือ อิหร่าน เคยนำเข้าข้าวจากไทยปีละ 5 แสนตัน และประเทศอื่นๆ อีกปีละ 1 ล้านตัน แม้ว่าอิหร่านจะยังไม่มีสัญญาณเปิดประมูลซื้อข้าว สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการปรับระบบการประมูลภายในของอิหร่าน แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีการเปิดประมูล ส่วนอินโดนีเซียล่าสุดประกาศว่าปีนี้จะไม่ซื้อข้าวนั้น คงต้องรอดูว่าจะจริงหรือไม่
นางอภิรดี กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณการส่งออกมากผิดปกติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใดๆ มาดูแลการส่งออกข้าว ซึ่งกรมฯมีแผนจะบริหารการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายส่งออกปีนี้ 8.75-9 ล้านตัน
โดยการส่งออกเดือนม.ค.- เม.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณ 3,743,036 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 2,368,373 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 58.04% มูลค่า 1,683 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 911 ล้านดอลลาร์ หรือ 84.80% โดยการส่งออกรูปเงินบาทมูลค่า 56,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 31,273 ล้านบาท หรือ 81.79% โดยราคาส่งออกเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 450 ดอลลาร์ จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ตันละ 385 ดอลลาร์ หรือ 16.93%
นางอภิรดี กล่าวว่าปริมาณการส่งออกช่วงต้นปีที่สูงมากเมื่อรวมกับการส่งออกช่วงกลางปีที่จะชะลอตัวลง ส่งออกเดือนละไม่ถึง 1 ล้านตัน หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 6-7 แสนตัน และกลับมาส่งออกมากขึ้นช่วงปลายปีทำให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน
ดึงผู้ส่งออกพาทัวร์พบลูกค้าต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากฮ่องกงแล้ว มีกำหนดจะนำคณะผู้ส่งออกข้าว เดินทางไปยังจีน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ เพื่อพบลูกค้าและทำความเข้าใจสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าประจำว่าไทยมีปริมาณข้าวเพียงพอที่จะขายให้
“ไทยยืนยันไปว่าจะไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆ ที่จะจำกัดการส่งออกข้าวและสามารถส่งข้าวมายังฮ่องกงได้เพียงพอกับความต้องการ ส่วนราคาข้าวจะให้เป็นไปตามกลไกการตลาด เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น และย้ำอีกว่าไทยไม่ได้เป็นผู้ทำให้ราคาข้าวมีความผันผวนแต่เป็นไปตามตลาดโลก ซึ่งเหมือนกับน้ำมันที่ไม่มีใครรู้ว่าราคาจะขึ้นไปเป็นเท่าใด” นางอภิรดี กล่าว
ฟิลิปปินส์พิจารณาเพิ่มประมูลข้าว
นายคอนราด อิบาเนซ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เอ็นเอฟเอ) เปิดเผยวานนี้ (21 เม.ย.) ว่า ฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาเพิ่มปริมาณข้าวในการประมูลวันที่ 5 พ.ค. โดยการตัดสินใจจะมีขึ้นในการประชุมวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.)
การประมูลในเดือนพ.ค.มีกำหนดปริมาณข้าวไว้ที่ 500,000 ตัน แต่ในการประมูลข้าว 400,000 ตันเมื่อวันที่ 17 เม.ย. เทรดเดอร์เสนอขายข้าวเพียง 325,750 ตันเท่านั้น ขณะที่ราคาประมูลอยู่ระหว่าง 872.50-1,220 ดอลลาร์ต่อตัน
การประมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนับเป็นการประมูลซื้อข้าว 3 ครั้งติดต่อกันที่ฟิลิปปินส์ไม่สามารถประมูลได้ข้าวเต็มจำนวนที่ต้องการ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวราว 10% ของจำนวนข้าวที่ต้องการ โดยการนำเข้าในปีนี้อาจสูงถึง 2.2 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดว่า ราคาข้าวที่พุ่งขึ้นในตลาดโลกน่าจะเริ่มชะลอตัวในเดือนหน้า เมื่อผลผลิตข้าวใหม่เข้าสู่ตลาด แต่ราคาจะไม่กลับลงไปอยู่ที่ระดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นและอุปสงค์ทะยานขึ้น
ฟิลิปปินส์ตั้งแง่รัฐค้ำประกันผู้ส่งออกข้าว
นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ประกาศเปิดประมูลซื้อข้าวขาวอีก 5 แสนตัน ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ และออกหลักเกณฑ์ใหม่ โดยบริษัทผู้เข้าประมูล ต้องได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการจัดหาเงินวางค้ำประกันยืนยันการเข้าร่วมประมูลต่อรัฐบาล
“เงื่อนไขให้รัฐบาลค้ำประกันเอกชน ไม่มีใครเขาทำกัน เราไม่เหมือนเวียดนาม ที่การขายข้าวโดยรัฐ แต่ไทยขายโดยเอกชน ยิ่งทำให้ส่งออกข้าวไทยวุ่นวายมากขึ้น แต่ก็ได้เสนอให้กรมการค้าต่างประเทศได้เข้าดูแลและเสนอให้รัฐออกหน้าในการเข้าประมูลข้าวในครั้งต่อไป เมื่อชนะการประมูลก็ให้เอกชนจัดสรรดูแล"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |