นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ทิศทางสินค้าอาหารหลายรายการของไทยจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาวิกฤติอาหารโลก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารรวมของประเทศไทยปีนี้ จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% มูลค่า 550,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 500,000 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกข้าวไทย แม้ราคาจะสูงขึ้นมาก แต่ปริมาณการส่งออกยังไม่ได้ลดลง เพราะความต้องการยังมีอีกมาก ตัวอย่างจากการหารือกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศบาห์เรน ได้แจ้งความจำนง ว่า ต้องการเป็นตัวแทนขายข้าวไทยให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (จีซีซี) ซึ่งมีสมาชิกเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ บาห์เรน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบื้องต้นต้องการนำเข้าข้าวจากไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน หรือมากกว่า แต่ไทยยังไม่ได้ตกลง เพราะต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป
"ราคาข้าวที่สูงขึ้น แม้จะทำให้ผู้นำเข้าบางประเทศ ชะลอการสั่งซื้อไปบ้าง แต่ปริมาณการส่งออกก็ยังเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีอีกหลายประเทศที่ต้องการซื้อข้าวไทย เช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ ของไทย ที่แม้ราคาแพง แต่ก็ยังส่งออกเพิ่มขึ้น จากปัญหาวิกฤติอาหารโลก" นายราเชนทร์กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกข้าวเดือนเม.ย. มีปริมาณ 1,055,874 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 62.1% มูลค่า 565 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 137.6% การส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ปริมาณ 4,135,947 ตัน เพิ่มขึ้น 76.9% มูลค่า 1,886 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 116.1% โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี 2551 ปริมาณ 8,750,000 ตัน ลดลงจากปีก่อน 4.9% มูลค่า 3,325 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.2%
ราคาข้าวพุงต่อหลังนาปรังเสียหาย
นายวรพล ดาราพงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล ริชชี่ ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวภายใต้แบรนด์ "เรด ซัน" กล่าวว่า ภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ ราคาจะปรับสูงขึ้นอีก ทั้งราคาในประเทศ และส่งออก เพราะเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง อาทิเช่น อยุธยา พิจิตร ทำให้ผลผลิตที่จะออกมาใน 2 เดือนข้างหน้าเสียหาย โดยปัจจุบันข้าวขาว 5% ราคาตันละ 25,500 บาท หรือคิดเป็นราคาข้าวเปลือกจะอยู่ที่ตันละ 11,000-12,000 บาท
นอกจากนี้ การที่เวียดนาม และอินเดียชะลอการส่งออก ทำให้บริษัทได้รับออเดอร์ข้าวขาว 5% และข้าวนึ่งจากตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้มากขึ้น จากเดิมที่ส่งออกเฉพาะข้าวหอมมะลิ และปทุมธานีเท่านั้น
รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมสมาคมเพื่อกำหนดราคาส่งออกข้าววานนี้ (21 พ.ค.) ราคาข้าวเอฟโอบี (ณ ท่าเรือกรุงเทพ) เพิ่มขึ้นทุกชนิดของข้าว โดยข้าวขาว 100% ราคา 1,074 ดอลลาร์ต่อตันจากราคา 1,054 ดอลลาร์ต่อตันในสัปดาห์ก่อน ข้าวขาว 5% ราคา 1,022 จากราคา 1,003 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวขาว 10% ราคา 1,018 จากราคา 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวขาว 25% ราคา 916 จากราคา 900 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวหอมมะลิเก่าราคา 1,220 จากราคา 1,198 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวหอมมะลิใหม่ 1,238 จาก 1,214 ดอลลาร์ต่อตัน
"มิ่งขวัญ" ยันทำข้าวถุงธงฟ้าถึงสิ้นปี
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ประชาชนจะสามารถซื้อข้าวถุงธงฟ้าในราคา 120 บาทต่อถุงไปจนถึงสิ้นปี 2551 แน่นอน แม้รัฐบาลจะประกาศรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าในราคา 1.4 หมื่นบาทต่อตันก็ตาม เนื่องจากต้นทุนข้าวสารที่อยู่ในสต็อกรัฐบาล 2.1 ล้านตันนั้น มีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 6.5 พันบาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งเมื่อเฉลี่ยราคาแล้วข้าวถุง จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 120 บาทต่อถุง
"นโยบายเกี่ยวกับเรื่องข้าวที่ผมได้ทำมานั้น ผมมั่นใจว่าได้ทำให้ชาวนากว่า 90% มีความสุข ผู้บริโภคก็ได้กินข้าวราคาที่ไม่แพงมากนัก และผมรับประกันได้เลยว่า คนไทยจะได้กินข้าวในราคาถุงละ 120 บาทไปจนถึงสิ้นปีนี้แน่ แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุดก็ตาม ขณะที่ผู้ส่งออกก็มีออเดอร์ข้าวให้ส่งออกเต็มไปหมด" นายมิ่งขวัญกล่าว
ส่วนปัญหาการกระจายข้าวถุงธงฟ้านั้น นายมิ่งขวัญ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้า ที่ต้องปรับปรุงวิธีการการดำเนินให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
ฟิลิปปินส์รอคำตอบไทยส่งข้าว
นายอาเธอร์ แยพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ เผยว่า รัฐบาลกรุงมะนิลาได้แจ้งต่อทางการไทย เพื่อให้มีการจัดส่งข้าวจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียด พร้อมระบุว่า ฟิลิปปินส์กำลังรอคอยคำตอบจากไทย โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (20 พ.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (เอ็นเอฟเอ) ของฟิลิปปินส์ ระบุว่า ฟิลิปปินส์กำลังศึกษาข้อเสนอในการซื้อข้าว 300,000 ตันจากไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ แต่ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องการผ่านข้อเสนอ และระยะเวลา
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ในวันนี้ (22 พ.ค.) ยังไม่ยืนยันว่า วาระการประชุมกับผู้นำฟิลิปปินส์ จะรวมถึงการเจรจาเรื่องข้าวหรือไม่ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มีกำหนดจัดการประมูลข้าวในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อให้ผู้นำเข้าเอกชนประมูลสิทธิในการนำเข้าข้าว โดยมีการระบุประเทศจำนวน 141,440 ตัน
เทรดเดอร์และกลุ่มผู้ส่งออกข้าว เปิดเผยว่า ไนจีเรียได้ซื้อข้าวนึ่งจำนวน 100,000 ตันจากผู้ส่งออกของไทย และมีแนวโน้มที่จะซื้อข้าวมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยผู้ส่งออกรายหนึ่ง ระบุว่า มีการทำสัญญาซื้อขายที่ระดับราคา 950-1,040 ดอลลาร์ต่อตันในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และทั้งหมดเป็นข้าวนึ่ง ซึ่งจะมีการส่งมอบในเดือนพ.ค.และมิ.ย.นี้ ทั้งนี้ ราคาข้าวนึ่ง 100% ของไทย อยู่ที่ 1,050 ดอลลาร์ต่อตัน
ไอบีเอ็มช่วยวิจัยข้าวลดวิกฤติอาหาร
นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็ม และคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ร่วมทำโครงการเวิลด์ คอมมูนิตี้ กริด และแตกออกมาสร้างโครงการใหม่ " Nutritious Rice for the World" ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการรับบริจาคช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้งาน เพื่อมาช่วยให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงรวดเร็วขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และผู้ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร
โครงการนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากพลังการประมวลผลที่ไม่ได้ใช้ และที่ได้รับบริจาคจากเครื่องพีซีเกือบ 1 ล้านเครื่องของโครงการเวิลด์ คอมมูนิตี้ กริด ซึ่งไอบีเอ็มจะนำพลังการประมวลผลสูงถึง 167 เทราฟล็อปส์ หรือเท่ากับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรกมาใช้งาน
ทั้งนี้ เวิลด์ คอมมูนิตี้ กริด จะรันโปรแกรมแบบจำลอง 3 มิติ ซึ่งสร้างขึ้นโดยนักชีววิทยาด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของข้าว ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุได้ว่าโปรตีนชนิดใดจะช่วยเพิ่มผลผลิต ป้องกันแมลงศัตรูพืช ต้านโรค หรือเพิ่มสารอาหาร และเมื่อเสร็จสิ้นจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรสามารถระบุได้ว่า ควรจะเลือกข้าวพันธุ์ใดสำหรับการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อปรับปรุงผลผลิต
สำหรับโครงการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ขณะที่การใช้ระบบรุ่นเก่าจะต้องใช้เวลากว่า 200 ปีในการประมวลผลข้อมูล โดยผู้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ด้วยการบริจาคช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ผ่านการลงทะเบียนที่ www.worldcommunitygrid.org โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
นายแรม ซามูดราล่า รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า ปัญหาก็คือ คณะทำงานจะต้องศึกษาโครงสร้างโปรตีนที่แตกต่างกัน 30,000 ถึง 60,000 โครงสร้าง ดังนั้น ถ้าใช้วิธีการทดลองแบบเก่าภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อระบุโครงสร้างโดยละเอียดและหน้าที่ของโปรตีนสำคัญๆ ก็จะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |