นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยกับ " ฐานเศรษฐกิจ" กรณีที่มีข่าวญี่ปุ่นเตรียมส่งออกข้าวให้กับฟิลิปปินส์จำนวน 200,000 ตัน ตามรายงานข่าวข้าวจำนวนนี้เป็นข้าวในสต๊อกที่ญี่ปุ่นนำเข้าตามพันธะผูกพันองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)ที่ญี่ปุ่นต้องเปิดตลาดข้าวให้กับประเทศสมาชิกดับบลิวทีโอ ข่าวดังกล่าวไทยในฐานะประเทศสมาชิกดับบลิวทีโอและเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด หากเป็นข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าตามพันธะดับบลิวทีโอแล้วนำมารี-เอ็กซ์ปอร์ต โดยส่งออกให้กับฟิลิปปินส์ ประเทศไทยมีความเห็นว่าการกระทำของญี่ปุ่นดังกล่าว " ไม่ถูกต้อง" ประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ขณะนี้ขอติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ปกติแล้วญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว หากญี่ปุ่นส่งออกข้าวให้กับฟิลิปปินส์จริงเท่ากับเพิ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวขึ้นอีกราย ที่สำคัญหากนำข้าวที่นำเข้าตามพันธะดับบลิวทีโอแล้วมารี-เอ็กซ์ปอร์ตถือว่าไม่ถูกต้อง และกระแสข่าวดังกล่าวได้ส่งผลเชิงลบต่อราคาข้าวของไทยทันที โดยราคาได้อ่อนตัวลงข้าวขาว 5% จากกระสอบละ 2,700 บาท ลดลงมาเหลือกระสอบละ 2,550 บาท
ข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่าปีการผลิต 2550/51 ญี่ปุ่นผลิตข้าวได้ปริมาณ 7.93 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 8.15 ล้านตัน นำเข้าตามข้อผูกพันดับบลิวทีโอ 770,000 ตัน ซึ่งการนำเข้าตามข้อผูกพันดับบลิวทีโอจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามพันธะที่ได้ผูกพันไว้ แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 770,000 ตัน ส่งออกเฉลี่ยปีละ 200,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยการบริจาคให้กับประเทศยากจนไม่ใช่เชิงธุรกิจ ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานขณะนี้ญี่ปุ่นมีสต๊อกสำรองข้าวจากต่างประเทศ 1.2 ล้านตัน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดประมูลซื้อข้าวจำนวน 60,000 ตัน เป็นการเปิดประมูลซื้อเพื่อนำเข้าตามข้อตกลงดับบลิวทีโอที่ต้องเปิดตลาดข้าวให้ประเทศสมาชิก แต่สุดท้ายญี่ปุ่นได้ล้มการประมูลซื้อข้าวล็อตนี้ เนื่องจากราคาที่ผู้ขายเสนอสูงมากถึงระดับตันละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ภายหลังจะเจรจาลดราคาลงมาเหลือตันละ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯก็ตาม เหตุที่ผู้ขายเสนอขายข้าวให้กับญี่ปุ่นครั้งนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากญี่ปุ่นได้เปิดประมูลซื้อหลังจากที่ฟิลิปปินส์เปิดประมูลซื้อไปเพียง 5 วันคือเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 และฟิลิปปินส์ยังไม่ประกาศผลราคารับซื้อ ผู้ส่งออกไทยและเวียดนามที่เสนอขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ในราคาสูงคือเวียดนนามเสนอข้าวขาว 25% ราคาซีไอเอฟตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยเสนอตันละ 1,070-1,150 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเสนอราคาต่ำแล้วฟิลิปปินส์ตอบรับราคาที่ไทยและเวียดนามเสนอ ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้นโอกาสขาดทุนมีสูงจึงต้องเสนอขายในราคาที่สูง
ขณะที่การประมูลซื้อของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 จำนวน 675,000 ตัน ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐบาลของประเทศผู้ขายเป็นผู้มีสิทธิ์เสนอราคา ทำให้มีเพียงประเทศเวียดนามมีสิทธิ์เสนอขายและสุดท้ายก็ยกเลิกประมูลเพราะเอกสารของเวียดนามไม่ครบ หลังจากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม ได้เปิดประมูลซื้อจากเอกชนของฟิลิปปินส์เอง โดยเอกชนที่เสนอขายข้าวให้กับรัฐบาลมีสิทธิ์นำเข้าข้าวจากต่างประเทศในอัตราภาษีต่ำเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถประมูลซื้อจากเอกชนได้เพียง 21,560 ตัน และจะประมูลซื้อข้าวจากเอกชนอีกครั้งจำนวน 141,440 ตัน ในสัปดาห์หน้า ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ที่มีความต้องการ 2.1 ล้านตันยังไม่ครบตามเป้าหมายและมีความต้องการข้าวอยู่
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวในช่วงนี้ นายชูเกียรติ กล่าวว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ราคาข้าวอ่อนตัวลง นอกเหนือจากญี่ปุ่นจะขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์จำนวน 200,000 ตัน ปัจจัยอื่นได้แก่ราคาข้าวที่ขึ้นไปสูงมากทะลุตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะลดลงมาอยู่ที่ตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯถือว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ จึงทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้า เพื่อรอดูทิศทางราคา คำสั่งซื้อช่วงนี้มีเพียงจากมาเลเซีย 200,000 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างทยอยลงเรือส่งมอบ ส่วนประเทศอื่นๆ ยังเงียบอยู่
"เท่าที่ได้คุยกับเทรดเดอร์ข้าวโลก ได้รับรายงานว่าประเทศอินโดนีเซียที่เคยนำเข้าข้าวเช่นปี 2549 นำเข้า 500,000 กว่าตัน ปี2550 นำเข้า 1.9 ล้านตัน ปี2551 เบื้องต้นตั้งเป้านำเข้า 1.6 ล้านตัน ปีนี้จะไม่นำเข้า หากอินโดนีเซียไม่นำเข้าเลยจะมีผลกระทบต่อตลาดพอสมควร เพราะจากที่เคยนำเข้าปีละล้านกว่าตันแล้วไม่นำเข้าเลย ซึ่งส่วนใหญ่อินโดนีเซียนำเข้าจากประเทศไทย"
นอกจากนี้การที่ผลผลิตข้าวสาลีที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯรายงานว่าผลผลิตปีการเพาะปลูกปี 2551/52 จะได้ผลผลิตถึง 656 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% เมื่อผลผลิตข้าวสาลีเพิ่มขึ้นและราคาอ่อนตัวลง อาจทำให้อินเดียหันไปบริโภคข้าวสาลีและส่งออกข้าวขาวเข้าสู่ตลาด จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ข้าวอ่อนตัวลงได้อีก ปัจจัยเหล่านี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดีนายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่าราคาข้าวอ่อนตัวลงแน่ แต่เป็นการปรับลดลงตามกลไกตลาด แต่จะไม่มีการทรุดลงเหลือตันละ 300-400 ดอลลาร์เหมือนเช่นในอดีต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |