นโยบายข้าว" กำลังจะกลายเป็นความสับสนในวงการค้าข้าวหลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจในการบริหารจัดการข้าวมาจากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเปลี่ยนให้นายไชยา สะสมทรัพย์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แทน ขณะที่ภารกิจเร่งด่วนของนายไชยากลับวางน้ำหนักมาที่การขออำนาจบริหารจัดการเรื่องข้าวคืนจากนายสมัคร แต่นายสมัครไม่คืนอำนาจทั้งหมดให้ เพียงแต่ "ยินยอม" ให้นายไชยาเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เท่านั้น
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกำลังทำให้ตลาดข้าวเกิดการบิดเบือน เนื่องจากรัฐบาลประกาศราคารับจำนำใน "ราคานำตลาด" หรือราคาสูงถึงเกวียนละ 14,000 บาท ทำให้ ผู้ส่งออกข้าวไม่สามารถตั้งราคาขายข้าวขาวในราคาที่ต่ำกว่า 700 เหรียญสหรัฐได้ ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญของไทยอย่างเวียดนาม เสนอขายข้าวขาวในราคาเพียง 575-665 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ส่งผลให้ ผู้ส่งออกข้าวไทยแทบจะต้องงดรับออร์เดอร์จากต่างประเทศ ดังนั้นช่องทางเดียวที่ผู้ส่งออกข้าวจะได้ข้าวในต้นทุนที่ถูกก็คือ การนำข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปส่งออกภายใต้ออร์เดอร์รัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดความสับสนในวงการค้าข้าว เนื่องจากไม่มีความ ชัดเจนว่าใครกันแน่ ระหว่าง "ไชยา" หรือ "สมัคร" คือผู้มีอำนาจตัดสินใจใน 2 ประเด็น คือ การขายข้าวในสต๊อก กับการให้สิทธิส่งออกข้าวภายใต้ออร์เดอร์ จีทูจี ขณะเดียวกลุ่มโรงสีข้าวก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวขอ "ส่วนแบ่ง" ในการขายข้าวครั้งนี้ด้วย ด้วยการเข้าพบนายไชยา เพื่อยืนยันว่าโรงสีมีศักยภาพในการส่งออกและขอให้รัฐบาลแบ่งโควตาส่งออกข้าวแบบ จีทูจีให้กับโรงสีในสัดส่วน 20% ด้วย
ถึงตอนนี้ผู้ส่งออกกำลังจับตาว่ารัฐบาลจะตัดสินใจจัดสรรข้าวในสต๊อกให้กับผู้ส่งออกโดยวิธีใด และมีเงื่อนไขใดบ้าง เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า หากผู้ส่งออกต้องการได้ออร์เดอร์จีทูจีจะต้องมาซื้อข้าวจากสต๊อกในสัดส่วนข้าวเก่า 5 ส่วนต่อข้าวใหม่ 2 ส่วน แต่เงื่อนไขนี้ถูกกลุ่มผู้ส่งออกคัดค้าน โดยผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต้องการซื้อเฉพาะข้าวเก่า ซึ่งรัฐบาลมีต้นทุนต่ำเพียงตันละ 6,000 บาท ส่วนข้าวใหม่ที่รัฐบาลต้องการขายถึง 14,000 บาท/ตัน นั้นถือว่า "ราคาสูงเกินไปไม่คุ้มที่จะนำมาทำส่งออก" และแสดงความต้องการให้รัฐบาลขายข้าวใหม่เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น หรือผลักภาระราคานำตลาดที่สูงเกินจริงมาให้ผู้บริโภครับภาระแทน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 รายแรกของประเทศถือเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้รับการติดต่อให้เข้าพบนายไชยา ซึ่งหลายรายเข้าพบและอธิบายให้นายไชยาเข้าใจว่า เงื่อนไขการซื้อข้าว 5 ต่อ 2 เป็นไปได้ยาก นอกจากนายไชยาแล้วยังมีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น "คนใกล้ชิด" ของผู้คุมนโยบายข้าวในทำเนียบรัฐบาลเชิญ ผู้ส่งออกบางรายไปหารือเพื่อยื่นข้อเสนอ ออร์เดอร์จีทูจีให้กับผู้ส่งออกแลกกับ "ค่าคอมมิสชั่น" ในระดับที่ผู้ส่งออกแต่ละรายจะให้ได้ด้วย
ทั้งนี้ "ออร์เดอร์จีทูจี" ที่กลุ่มบุคคล นี้เสนอก็คือ ข้าวขาวที่จะขายให้กับ อินโดนีเซียปริมาณ 500,000-600,000 ตัน แต่ผู้ส่งออกอย่างน้อย 3 รายซึ่งได้รับการติดต่อจาก "คนใกล้ชิด" ของนักการเมือง ผู้นี้ระบุว่า ยังไม่มีใครรับข้อเสนอเพราะ ผู้ส่งออกไม่มั่นใจว่า "ใคร" คือผู้มีอำนาจในการให้สิทธิส่งออกข้าวภายใต้ออร์เดอร์จีทูจีกันแน่ แหล่งข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่าดูเหมือนว่านายไชยาจะพยายามยกระดับความสำคัญของตนด้วยการสร้างภาพว่ามีอำนาจเด็ดขาดในการซื้อขายข้าว แต่เอาเข้าจริงปรากฏอำนาจยังคงอยู่ที่นายสมัครอยู่ ผู้ส่งออกข้าวจึงสับสนว่า แท้จริงแล้วควรจะ "พูดคุย" เรื่องการซื้อขายข้าวกับ "ใคร"
นอกจากนี้ข้อมูลที่ผู้ส่งออกได้รับจากอินโดนีเซีย พบว่าเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอินโดนีเซียห้ามนำเข้าข้าว จึงไม่แน่ใจว่าออร์เดอร์ข้าวอินโดนีเซีย 500,000-600,000 ตัน ที่ปล่อยออกมานั้น "เป็นเรื่องจริงหรือไม่"
ล่าสุดผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รายงานถึงความพยายามจากฟากของ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาว่า ได้มีการเจรจาขายข้าวในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาก็คือ นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เริ่มจากการเจรจากับรัฐบาลจิบูตีเพื่อขายข้าวนึ่งปริมาณ 300,000 ตัน ระยะเวลา ส่งมอบ 3 ปี ปีละ 100,000 ตัน โดยลอตแรกกำหนดราคาขายไว้ที่ 860 เหรียญสหรัฐ/ตัน ถัดมาได้ลงนามในสัญญาขายข้าวขาว 15% ให้กับรัฐบาลติมอร์ เลสเต ปริมาณรวม 120,000 ตัน โดยมีกำหนดส่งมอบข้าวลอตแรก 30,000 ตัน ในเดือนกันยายนนี้ และเตรียมที่จะหารือกับหน่วยงานจัดซื้อข้าวของรัฐบาลอิหร่าน หรือ GCC ในเร็วๆ นี้
ด้านนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมากล่าวว่า ข้อเสนอขายข้าวให้กับจิบูตี กับติมอร์ เลสเต ยังต้องเสนอขอ "อนุมัติ" จากที่ประชุม คณะกรรมการระบายข้าวชุดของนายนัที เปรมรัศมี รองปลัดสำนักนายกฯ จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการจัดสรรให้ภาคเอกชนเป็นผู้ ส่งออกข้าว เพราะสต๊อกข้าวรัฐบาล 2.1 ล้านตันในขณะนี้ "ไม่มีข้าวนึ่ง"
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธาน บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด หนึ่งใน 5 ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า รัฐบาลควรแยกเฉพาะข้าวเก่ามาเปิดระบายก่อน ซึ่งมีโอกาสที่จะทำกำไร แต่อย่าเพิ่งไปจัดการ ข้าวใหม่เพราะจะทำลายราคาข้าวนา ปี 2551/52 ทางอ้อม ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดขายให้ผู้ส่งออกไปหาตลาดส่งออกเอง และราคาข้าวเก่าตั้งแต่ปี 2547-2550 ซึ่งมีราคารับจำนำตั้งแต่ 1,000-1,800 บาท/ กระสอบ หากเฉลี่ยราคาขายรัฐบาลควรจะได้ไม่ต่ำกว่า 13,000 บาท/ตัน โดยเป็นต้นทุน ค่าจัดเก็บ และมีกำไรขั้นต่ำอีกตันละ 3,000 บาท หรือ 6,300 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|