แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยว่า ผู้ค้าข้าวกำลังติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสัปดาห์นี้ เพราะที่ประชุมอาจพิจารณาให้กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูผลิตปี 2551 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน จากที่รับจำนำไปแล้ว 3.5 ล้านตัน แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวนา เพราะข้าวนาปรังเริ่มออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ชาวนาจึงไม่มีข้าวอยู่ในมือแล้ว และส่วนใหญ่ไปอยู่กับโรงสีและพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น หากเปิดรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่มอีก จะเป็นช่องทางให้เกิดการสวมสิทธิ และนำข้าวที่อยู่กับโรงสีมาจำนำต่อ ซึ่งจะทำให้โรงสีที่รับซื้อข้าวราคาตลาดตันละ 12,000 บาท เมื่อมาจำนำราคา 14,000 บาท ก็จะได้ส่วนต่างทันที 2,000 บาทต่อตัน โดยส่วนต่างดังกล่าวสามารถแบ่งผลประโยชน์กับนักการเมืองได้
นอกจากนี้ การรับจำนำข้าวเพิ่ม ยังจะทำให้สต็อกข้าวเปลือกของรัฐบาลที่มีอยู่ 3.5 ล้านตัน เพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน หากรวมกับข้าวนาปีฤดูผลิตปี 2551/2552 ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายรับจำนำไว้ 8 ล้านตัน จะทำให้รัฐบาลมีข้าวเปลือกในสต็อกเพิ่มเป็น 12.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าอยู่ในมือรัฐจำนวนมาก อาจทำให้การส่งออกปี 2552 ได้รับผลกระทบ และทำให้เวียดนามมีโอกาสส่งออกข้าวได้มากกว่าไทย หากรัฐบาลไม่ระบายข้าวออกมา
"การที่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำสูงกว่าตลาด 20-30% หรือตันละ 3,000 บาท ทำให้ผู้ที่ดูแลการระบายข้าวในอนาคตไม่กล้าระบาย เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนตันละ 3,000 บาท ทั้งหมด 12.5 ล้านตัน จะทำให้รัฐบาลขาดทุนถึง 3.7 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าราคาข้าวตั้งแต่เดือน พ.ค.ไม่ขยับขึ้นเลย"
อย่างไรก็ตาม ข้าวนาปีที่จะออกมาปลายปีนี้กว่า 20 ล้านตัน ทำให้มีโอกาสสูงที่ชาวนาจะนำข้าวมาจำนำและไม่ไถ่ถอนคืน เพราะราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคารับจำนำ และช่วงที่ข้าวนาปีเกี่ยวราคาข้าวคงไม่ขึ้น เนื่องจากต้องรอข้าวใหม่ออก รวมทั้งปลายปีข้าวต่างประเทศ จะมีผลผลิตออกมาก จำเป็นที่รัฐบาลควรระบายข้าวออก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ส่งออกก็แจ้งตลอดว่าไม่มีข้าวส่งออกแล้ว
นายไชยา สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวการระบายข้าวสารสต็อก 2.1 ล้านตัน และข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 อีก 4.5 ล้านตัน ภายใต้เงื่อนไขต้องส่งออกเท่านั้น และต้องซื้อข้าวเก่า 1 ส่วนต่อข้าวใหม่ 1 ส่วน โดยการระบายจะมีทั้งให้ผู้ส่งออกประมูล เจรจาซื้อขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และฟื้นระบบบาร์เตอร์เทรด โดยมอบให้ทูตพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ และองค์การคลังสินค้า (อคส.) สำรวจความต้องการตลาด และหากตนยังเป็น รมว.พาณิชย์ ก็จะส่งทีมไปเจรจาขายข้าวกับประเทศรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เคยติดต่อไว้ อาทิเช่น มาเลเซีย ที่ต้องการนำเข้า 3 แสนตัน ติมอร์ ประเทศแอฟริกาที่สนใจแลกข้าวกับอัญมณ
ีส่วนราคาที่เสนอขายนั้น จะนำต้นทุนข้าวเก่ากับข้าวใหม่มารวมกันหาร 2 เป็นต้นทุนรัฐ และปรับราคาให้ใกล้เคียงราคาส่งออกช่วงนั้นๆ ซึ่งยืนยันว่าจะขายราคาไม่ขาดทุนหรือไม่กระทบการส่งออก หากคำนวณตามวิธีดังกล่าวค่าเฉลี่ยราคาข้าวที่จะจำหน่ายจะอยู่ที่ตันละ 11,000 บาท ต่ำกว่าราคาส่งออกตันละ 500-550 ดอลลาร์
"ตอนนี้ต้องเร่งให้ข้าวในสต็อกลดลง เพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนข้าวเปลือกนาปี จะออกสู่ตลาดกลางเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีอาจเก็บสต็อกเป็นข้าวเปลือกแทน หากต้องการขายก็จะสั่งแปรสภาพเพื่อรักษาคุณภาพและประหยัดงบประมาณ แต่ต้องหาไซโลหรือคลังเก็บสินค้าที่มีมาตรฐาน โดยได้ติดต่อไว้หลายแห่งแล้ว" นายไชยากล่าว
"ขณะนี้ กำลังพิจารณารายละเอียดโครงการรับจำนำข้าว 1 ล้านตัน ว่า อคส. พร้อมที่จะดูแลหรือยัง หลังจากตั้งคณะกรรมการบริหาร อคส.ใหม่แล้ว หากไม่ติดขัดระเบียบจะเสนอที่ประชุม กขช. ให้กระทรวงพาณิชย์รับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังดูแลแทน ธ.ก.ส. ซึ่งหาก อคส.พร้อมก็จะรับโครงการมาดูแลทันที"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |