นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (23 พ.ค.) สมาคมโรงสีข้าวจะเข้าพบนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อหารือสถานการณ์ราคาข้าว ที่ขณะนี้ โรงสีมีความจำเป็นต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาต่ำ เนื่องจากผู้ส่งออกกำหนดราคาซื้อข้าวจากโรงสีในราคาต่ำเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ ผู้ส่งออกรับซื้อในราคาเฉลี่ย (ข้าวขาว 5%) กระสอบ 100 กิโลกรัม ราคา 2,700 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กระสอบละ 2,250-2,400 บาท โดยผู้ส่งออกอ้างว่ามีข้าวอยู่เต็มสต็อกแล้ว และมีปัญหาทางการเงิน เพราะการรับซื้อข้าวต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโรงสีที่เผชิญปัญหานี้เช่นกัน
นอกจากนี้ คาดว่าราคาข้าวในช่วงปลายมิ.ย. ซึ่งเป็นข้าวนาปรังล็อตที่สอง ที่จะออกสู่ตลาดจะมีราคาตกต่ำลง และอาจจะมีราคาไม่ถึงตันละ 1.4 หมื่นบาท(ข้าวเปลือก) ตามที่รัฐบาลได้ออกมาประกันราคาให้กับชาวนา ดังนั้น สมาคมจึงเสนอให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย 2 แนวทางหลัก คือ ให้รัฐบาลหาคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพื่อให้ผู้ส่งออกและโรงสี ซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่กำหนด ส่วนแนวทางที่สอง คือ ให้รัฐส่งออกด้วยตัวเอง โดยมีโรงสีเป็นผู้รับจ้างสีแปรสภาพ และส่งมอบให้รัฐก่อนส่งไปต่างประเทศตามคำสั่งซื้อ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ส่งออก
"การทำเช่นนี้ ไม่ใช่หนุนให้รัฐมาทำลายกลไกตลาด แต่ทำเพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ มีราคาข้าวที่เหมาะสมตามที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้ เพราะกลไกตลาด ทั้งผู้ส่งออก และโรงสี กำลังหมดแรงจากภาวะการเงินตึงตัว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จะมาว่าอะไรไม่ได้ เพราะผมเห็นกับตาว่ามีการทุบราคา กดราคา รัฐต้องเข้าดูแล มีมาตรการอะไรที่ชัดเจนและรีบแก้ปัญหานี้ ก่อนที่ข้าวจะออกมาช่วงปลายมิ.ย.นี้" นายปราโมทย์กล่าว
ในส่วนประเด็นที่โรงสีต้องการเสนอตัวเป็นคนกลางรับซื้อข้าวจากชาวนา แทนรัฐบาลตามโครงการแทรกแซงราคาข้าวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้นั้น คาดว่าจะมีการหารือกันในที่ประชุม ซึ่งโรงสีต้องการทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับระบบ เพราะมีความสะดวกที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนามาเก็บ และแปรสภาพก่อนส่งมอบให้รัฐบาล ไม่ใช่ต้องการหาประโยชน์จากโครงการของรัฐ ซึ่งโรงสีได้แสดงความจำนงไปก่อน ที่เหลือก็รอให้รัฐบาลตัดสินว่า จะให้ร่วมโครงการหรือไม่อย่างไร
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ราคาข้าวในช่วงสัปดาห์นี้ที่เพิ่มขึ้นมาสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยสัปดาห์ก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.03 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 31.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นราคาเอฟโอบีที่แพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ราคาข้าวในประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลง
"รู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์ราคาช่วงปลายปี ที่ข้าวนาปีจะออกสู่ตลาด และอาจจะมีปริมาณผลผลิตมาจากสัดส่วนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงข้าวจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ อาทิเช่น เวียดนาม ทำให้ราคาข้าวน่าจะปรับตัวลดลง แต่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากไปกว่าปัจจุบันเกินกว่า 10%"
ส่วนยอดส่งออกข้าวในเดือนพ.ค. 2551 ยังมีปริมาณที่สูง โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่ง คาดว่าจะมีปริมาณเกิน 1 ล้านตัน เท่ากับ 5 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือเกิน 5 ล้านตัน หาก 7 เดือนที่เหลือยังส่งออกในตัวเลขที่สูง น่าจะเกินเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 8.7-9 ล้านตัน
การที่จะให้ผู้ส่งออกรับซื้อข้าวเหนียวจากโรงสีและเกษตรกรนั้น ต้องการให้รัฐบาลมีการโปรโมทข้าวเหนียวให้ต่างชาติรู้จัก และให้เป็นอีกทางเลือกในการบริโภคในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีการส่งออกข้าวเหนียวเฉลี่ยได้เพียงปีละ 2 แสนตัน จากปริมาณการผลิตทั้งหมด 6 ล้านตัน
สถานการณ์จำหน่ายข้าวถุง "ธงฟ้ามหาชน" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจร้านอาหารตามสั่งและร้านขายข้าวแกงที่มีการซื้อข้าวถุงธงฟ้าไปทำอาหาร เพื่อจำหน่ายในย่านนนทบุรี สนามบินน้ำ งามวงศ์วาน พบว่า ส่วนใหญ่ระบุว่าแม้จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบ ในการทำอาหารลดลงบ้าง แต่คุณภาพข้าวธงฟ้า มีลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านบางส่วน บ่นถึงรสชาติว่าไม่ถูกปาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ข้าวถุงธงฟ้าที่ผลิตขึ้นแม้จะเป็นข้าวเก่าในสต็อก ตั้งแต่ปี 2549 แต่ยืนยันว่า ยังมีคุณภาพที่สามารถรับประทานได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนผู้บริโภคที่ซื้อไปแล้วมีปัญหานั้น เข้าใจว่าคงเป็นเรื่องของความรู้สึก ส่วนล็อตที่ 3 จะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ในปริมาณ 100,000 ถุงทั่วประเทศ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวกรณีนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย จะเข้ามาลงทุนปลูกข้าวในไทยนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศใดมีเงินมากแล้ว จะทุ่มเงินมาลงทุนปลูกข้าวเองในไทย หากทำเช่นนั้นแล้วคนไทย โดยเฉพาะชาวนาจะได้ประโยชน์อะไร จะเกิดความยั่งยืนในอาชีพของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหรือไม่
กลุ่มผู้ส่งออก กล่าวว่า ราคาข้าวขาวร้อยเปอร์เซ็นต์เกรด B ของไทยดีดตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันนี้ โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากลูกค้า
ราคาข้าวมีการกำหนดราคาที่ 1,030-1,050 ดอลลาร์/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 1,000 ดอลลาร์/ตัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยราคาได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,080 ดอลลาร์/ตัน ในเดือนเม.ย.
"อุปสงค์ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลูกค้าประจำของเรา โดยเราต้องกำหนดราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบาทแข็งค่าขึ้น" ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าว
ส่วนราคาข้าวประเภทอื่นๆ ของไทย ก็มีการกำหนดราคาสูงขึ้น โดยข้าวขาว 5% ปรับตัวขึ้นสู่ 1,000 ดอลลาร์/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 950 ดอลลาร์/ตัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนข้าวขาว 15% มีการกำหนดราคาที่ 950 ดอลลาร์ จาก 940 ดอลลาร์สัปดาห์ที่แล้ว
เทรดเดอร์ กล่าวว่า ราคาข้าวของไทยยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งในสัปดาห์หน้า โดยมีแรงหนุนจากความต้องการส่งมอบข้าวส่วนข้อตกลงที่ทำกับมาเลเซีย 200,000 ตัน แต่ราคาข้าวของไทยจะร่วงลงในเดือนก.ค. เพราะอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยข่าวที่ว่าเวียดนามจะยกเลิกคำสั่งห้ามการส่งออกเป็นปัจจัยกดดันราคา
ส่วนการเก็บเกี่ยวข้าวครั้งต่อไปของเวียดนาม จะพุ่งสูงสุดในเดือนก.ค. ซึ่งได้ช่วยหนุนอุปทานข้าวในตลาดในช่วงเวลาที่คาดว่า รัฐบาลจะยกเลิกคำสั่งห้ามการส่งออก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |