ไม่ว่าข้าวจะราคาดี หรือ ราคาตก ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้แทบซะทุกครั้งไป นั่นคงเป็นเพราะนักการเมืองเกือบจะทุกยุคทุกสมัย ต่างเข้ามาตักตวงหาประโยชน์จากเค้กชิ้นนี้ในหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางโครงการรับจำนำข้าว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นประชาชนทั้งประเทศ
ล่าสุดการที่รัฐบาลชวดการประมูลข้าวล็อตใหญ่แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปริมาณกว่า 6 แสนตัน จากการขัดขากันเองของคนในรัฐบาล ทำเอาเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ ของ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ" สั่นคลอน
ประเด็นดังกล่าวยังกลายเป็นประเด็นที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวถกกันอย่างกว้างขวางถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง ว่าเหตุใดคนในรัฐบาลด้วยกันเองจึงดึงเรื่องนี้ออกจากที่ประชุมครม.กลางครัน ก่อนหน้านี้บรรยิน ตั้งภากรณ์ และวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ทั้ง 2 รมช.พาณิชย์ ออกมายอมรับเองว่า เป็นความประสงค์ของผู้ใหญ่บางคนในรัฐบาล สะท้อนให้เห็นทันทีว่า การเมืองภายในรัฐบาลกำลังมีปัญหากันอย่างรุนแรง
“ข้ออ้างของการลงนามซื้อขายข้าวปีละ 1 ล้านตันกับฟิลิปปินส์ มีการระบุในสัญญาว่า ผู้มีอำนาจลงนามคือ รมว.พาณิชย์ แทนที่จะเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่านั้น กลายเป็นการขัดผลประโยชน์คนบางกลุ่มที่เห็นช่องทางการเรียกรับเก็บเงินผลประโยชน์จากโครงการขายข้าว ตามที่นักการเมืองรุ่นเก๋าๆ เคยทำกันประจำ” แหล่งข่าวจากวงการข้าว ระบุ
แหล่งข่าวคนเดิมยังวิเคราะห์ให้ฟังว่า ความที่ มิ่งขวัญ เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ที่แม้จะแก้ไขปัญหาข้าวอย่างไม่ตรงจุด เช่น การผุดโครงการข้าวถุงธงฟ้าเพื่อช่วยเหลือคนจน จนเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ข้าวราคาตก แต่ก็ถือว่าไม่รุนแรงมากนัก แต่ชนวนดังกล่าวกลับถูกตีปี๊บให้รุนแรงมากขึ้น เมื่อไปขัดแย้งผลประโยชน์ของนักการเมืองบางราย ในการพิจารณาเข้าร่วมประมูลขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) กับฟิลิปปินส์ครั้งล่าสุด หลังจากครั้งแรกที่เอกชนเข้าร่วมประมูลแต่ไม่สามารถเข้าประมูลได้เต็มที่ เพราะฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลซื้อขายเฉพาะกรณีจีทูจีเท่านั้น
ครั้งล่าสุด ที่ครม.ถอนการพิจารณาขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในวันอังคาร ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ผู้ที่คว้าประมูลข้าวล็อตนี้ก็คือเวียดนาม โดยเสนอขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในราคาสูงถึง 960-1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
แหล่งข่าวมองว่า เบื้องลึกของการถอนเรื่องออกไปเพื่อไม่ต้องการให้อำนาจการลงนามขายข้าว ตกอยู่ในมือของ รมว.พาณิชย์ เพียงคนเดียว เพราะเห็นช่องทางว่าสามารถนำข้าวไปไปประมูลได้โดยตกลงราคากับฟิลิปปินส์ เช่น หากข้าวราคา 900 ดอลลาร์ต่อตัน ก็อาจจะตกลงราคาจริงอยู่ที่ 800 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น
ขณะเดียวกัน นักการเมืองที่ได้รับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ยังสามารถนำออเดอร์นี้ไปแจกจ่าย ขายต่อให้กับผู้ส่งออกข้าวที่ต้องการตลาด รวมถึงยังสามารถขายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีอยู่ในโครงการรับจำนำข้าว โดยให้เอกชนรับข้าวไปแปรสภาพแล้วส่งมอบแทน โดยเฉพาะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เริ่มเปิดโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาเก็บไว้ในสต็อกของรัฐบาลจึงมีโอกาสเข้าข่ายซื้อถูกขายแพง
ด้านชูเกียรติ โอกาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกต่างประเทศ บอกว่า การที่ไทยพลาดโอกาสในการประมูลข้าวส่งผลเสียทำให้ไทยขาดตลาดที่จะช่วยให้ข้าวไทยมีเสถียรภาพสูงขึ้นในภาวะที่ราคาข้าวลดลงมาอยู่ที่ 895 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ให้สูงขึ้นไปอีกได้ เพราะไทยมีตลาดข้าวนับแสนตันมาช่วยในการพยุงราคา เพราะหลังจากนี้ไปยังไม่รู้ว่าข้าวล็อตใหญ่ๆ จะเข้ามาเมื่อไหร่อีก โดยเฉพาะการประมูลข้าวแบบจีทูจี ปกติมีจากฟิลิปินส์ มากที่สุด ขณะที่อิหร่าน และอินโดนีเซีย ก็สั่งซื้อทุกปี แต่ปีนี้ยังไม่ออเดอร์เข้ามา เพราะกำลังรอจังหวะ ที่ราคาจะอ่อนลงไปกว่าปัจจุบัน
“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ออเดอร์มากขนาดนี้ตกไปอยู่ในมือเวียดนามแทน ซึ่งหากเราได้ออเดอร์ในส่วนนี้ก็ทำให้ข้าวมีเสถียรภาพ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาทันที "
นโยบายที่ไม่แน่นอนของรัฐบาล ทำให้ผู้ส่งออก และผู้ค้าข้าวต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในการจำหน่ายข้าวของไทยว่าจะเป็นรูปแบบใด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเอกชนที่ต้องการออเดอร์จึงต้องพึ่งพาตัวเองและหาตลาดเอง ไม่มีใครมีออเดอร์ได้มากนับแสนตันเพียงครั้งเดียว เหมือนอย่างที่รัฐบาลไปประมูลแบบจีทูจี
เขายังหวังว่า รัฐบาลจะไม่เสียโอกาสในการประมูลข้าวแบบจีทูจี ในล็อตต่อๆ ไป หากฟิลิปปินส์ต้องการเปิดประมูลข้าวอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ฟิลิปปินส์ซื้อข้าวไปทั้งหมดแล้วกว่า 1 ล้านตัน แต่เอกชนไทยเข้าไปรับประมูลได้เพียง 2 แสนตันเท่านั้น รวมไปถึงอินโดนีเซียที่อาจจะเปิดประมูลข้าวอีกปริมาณ 2-3 แสนตัน เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวดี ขณะที่อิหร่านยังไม่แสดงความจำนงขอซื้อข้าว เพราะต้องการรอดูสถานการณ์ แต่หากจะซื้อก็จะซื้อในปริมาณ 4-5 แสนตัน
ด้านปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลเริ่มมีความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายข้าวและผู้บริหารประเทศ ซึ่งกลไกราคาขณะนี้กำลังอ่อนตัวลง การไม่เข้าประมูลจีทูจี จึงฉุดราคาข้าวให้อ่อนตัวลงอีก
จึงมีบางกลุ่มพยายามหยิบยกประเด็นข้าวหาย 20,000 ตัน มาเป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งที่เคยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนที่มิ่งขวัญจะเข้ามารับตำแหน่ง กลายเป็นการตรวจสต๊อกข่าว 2.1 ล้านตันอีกครั้ง โดยไม่ใช่คนของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหวังดิสเครดิตเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์
“การที่ข้าวหายไม่ใช่การทุจริตอย่างมโหฬาร เหมือนกับการเผาโกดังเก็บข้าวเพื่อทำลายหลักฐาน หรือขนย้ายข้าวทั้งโกดัง แต่กลายมาเป็นประเด็นเพราะเริ่มมีความแตกแยกกันคนละฝ่ายของนักการเมือง”
เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของ รมว.มิ่งขวัญ ว่า ไม่รู้ว่าเก่งหรือไม่ แต่เท่าที่พิจารณาถึงผลงานที่ผ่านมา แม้จะไม่โดดเด่น แต่ก็ถือว่า มีความตั้งใจ จริงจัง และไว้ใจได้ในเรื่องของความซื่อสัตย์ ว่าไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อรับผลประโยชน์ของใคร ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะเป็นความแตกต่างของนักการเมืองที่มาจากต่างที่ ” เขาวิเคราะห์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ BIZWEEK
|