แหล่งข่าวในวงการส่งออกข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวมีความสับสนในนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องข้าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลงนามเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร มีนายสมัครเป็นประธาน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน
นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการอีก 3 ชุดประกอบด้วย 1. คณะกรรมการรับจำนำข้าว มีนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เป็นประธาน 2. คณะกรรมการแปรสภาพและจัดเก็บข้าวมีนายสุทัศน์ สุทันกิตระ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 3. คณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าวสาร มีนายนัที เปรมรัศมี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในส่วนของผู้ส่งออกมีความกังวลในส่วนของคณะกรรมการจัดจำหน่ายและระบายข้าวสาร เพราะไม่ทราบว่าจะมีนโยบายระบายออกอย่างไร ที่สำคัญคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อคนที่มีความรู้เรื่องข้าวแต่อย่างใด ทำให้ผู้ส่งออกขาดความมั่นใจซึ่งมีผลต่อการวางแผนธุรกิจพอสมควร
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามหรือ "ไอ้โม่ง" ติดต่อมายังผู้ส่งออก พร้อมยื่นข้อเสนอว่ารัฐบาลจะมีการเปิดประมูลขายข้าวในสต๊อก ถ้าผู้ส่งออกรายใดยื่นประมูลซื้อและต้องการชนะการประมูล หากยอมจ่ายค่าคอมมิสชันตันละ 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสชนะประมูลซื้อข้าวจากสต๊อกรัฐบาลอย่างแน่นอน
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่ม "ไอ้โม่ง" เกิดขึ้นหลังจากที่โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลเดินหน้า เพราะเมื่อรัฐบาลมีข้าวอยู่ในมือแล้วช่องทางการระบายออกหนีไม่พ้นที่จะเปิดประมูลขายให้กับผู้ส่งออก และช่องทางนี้เองเป็นช่องทางทำเงินของคนบางกลุ่มอยู่แล้ว สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของผู้ส่งออกที่เวลานี้เริ่มชะลอซื้อข้าวจากตลาดแล้ว เพื่อรอซื้อจากสต๊อกรัฐบาลแม้จะต้องยอมจ่ายค่าคอมมิสชันแต่สามารถกดราคาซื้อลงชดเชยกันได้
"เวลานี้ไม่มีใครทราบว่ามีผู้ส่งออกรายใดยอมรับข้อเสนอดังกล่าวบ้าง ต้องติดตามจนกว่ารัฐบาลจะมีการเปิดประมูลขายข้าว ถึงเวลานั้นจึงจะทราบคำตอบ แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกมีความกังวลกันมากที่สุดคือหากมีใครยอมจ่ายตันละ 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแลกกับการได้ข้าวจากสต๊อกรัฐบาล จะทำให้เกิดการผูกขาดเหมือนกับสมัยพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ที่มีบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ชนะการประมูลเกือบทุกครั้งไป จนผู้ส่งออกรายอื่นแทบจะทำธุรกิจไม่ได้"
ขณะที่พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการข้าวครบวงจร เป็นเรื่องดีไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม มีการใช้หน่วยงานเดิมให้ร่วมมือกันอยู่แล้ว และในการประชุมนัดแรกตนจะเสนอให้มีการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่มีอยู่ 2.1 ล้านตันออกบางส่วนก่อนประมาณ 1 ล้านตันและควรดำเนินการภายในช่วง 2 เดือนนี้ ก่อนที่ผลผลิตใหม่ของประเทศผู้ส่งออกข้าวจะออกสู่ตลาด และรองรับข้าวใหม่ที่กำลังรับจำนำอีก 2.5 ล้านตัน การขายเวลานี้น่าจะได้ราคาดีเพราะมีหลายประเทศสนใจที่จะซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย
ต่อประเด็นการระบายสต๊อกข้าวเก่า 2.1 ล้านตันของรัฐบาล คนวงการค้าข้าวให้ความเห็นว่ารัฐบาลต้องขายรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เท่านั้นห้ามนำมาประมูลขายให้กับผู้ส่งออกเด็ดขาด เพราะจะเกิดข้ออ้างว่าเป็นข้าวเก่าราคาต้องถูกกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ดึงราคาตลาดปัจจุบันลงไปอีก
ด้าน นายสมศักดิ์ เอกพินิจพิทยา เจ้าของโรงสีเทพมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการดูแลเรื่องข้าวครบวงจร ซึ่งชุดใหม่จะไม่มีผู้ที่มีความรู้เรื่องข้าวร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำให้โรงสีขาดความมั่นใจในการเข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล คิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา ในฐานะที่โรงสีเทพมงคลได้แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาลไปแล้ว และเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 20 มิถุนายน ได้ข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ตัน จะยังคงเดินหน้ารับจำนำต่อไป โดยข้าวที่ชาวนานำมาจำนำเป็นข้าวเปลือกนาปรัง 5% ความชื้น 25% ทำให้ได้รับราคาตันละ 11,730 บาท ไม่ถึง 13,800 บาทตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
"ชาวนาขนข้าวมาถึงโรงสี จะให้โรงสีปฏิเสธการรับจำนำคงทำไม่ได้ ต้องรับไว้ก่อนแต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นภายหลังอาจจะเนื่องมาจากการบริหารงานของรัฐบาลหรือเหตุอื่นๆ ก็ตาม คิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว หากเกิดปัญหาแล้วรัฐแก้ไขไม่ได้ถึงเวลานั้นจึงจะพิจารณาว่าจะรับจำนำต่อหรือหยุด" นายสมศักดิ์กล่าว
เช่นเดียวกับนายมนัส ห้วยหงษ์ทอง นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะนี้สมาคมโรงสีข้าวไทยและสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการโรงสีไปแล้วประมาณ 57 โรง เปิดจุดจำนำไปแล้ว 10 โรง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทยอยเปิดกันเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการดูแลเรื่องข้าวทางโรงสีไม่กังวลหากมีความผิดพลาดรัฐบาลต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
|