www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ส่งออกแห่ทิ้งออเดอร์ เก็งข้าวพุ่ง 1 พันดอลล์


      นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เปิดเผยว่าราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว โดยราคาข้าวขาว 100% เฉลี่ยปี 2548 เท่ากับ 294 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มเป็น 314 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2549 และขยับเพิ่มเป็น 336 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2550 และในเดือนม.ค.2551 ราคาปรับเพิ่มเป็น 399 ดอลลาร์ต่อตัน และขยับเพิ่มเป็น 466 ดอลลาร์ต่อตันช่วงต้นเดือนก.พ.

     ขณะที่ช่วงปลายเดือนก.พ.ขยับไปอยู่ที่ 482 ดอลลาร์ต่อตัน และวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 508 ดอลลาร์ต่อตัน วันที่ 12 มี.ค.ราคาปรับเพิ่มเป็น 556 ดอลลาร์ต่อตัน ราคาล่าสุดวันที่ 19 มี.ค.พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 580 ดอลลาร์ต่อตัน สำหรับการส่งออกเอฟโอบีหรือราคา ณ ท่าเรือกรุงเทพ และราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดข้าว

     เขากล่าวว่าการที่ราคาข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยหลายประการที่ผลักดันให้ราคาสูงขึ้น โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐประมาณการ ผลผลิตรวมของโลกมี 420 ล้านตันข้าวสาร แต่ปริมาณการบริโภคมีถึง 423 ล้านตันข้าวสาร การผลิตต่ำกว่าความต้องการบริโภคประมาณ 0.7% ส่งผลให้สต็อกข้าวปลายปีมีประมาณ 72.1 ล้านตันต่ำสุดในรอบ 24 ปี ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2527/2528 ทำให้ราคาถีบตัวอย่างรวดเร็ว

     "ผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเกษตรกรหันไปใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชพลังงาน นาข้าวถูกใช้เป็นพื้นที่ผลิตข้าวโพด อ้อย เพื่อไปทำเอทานอล ในสหรัฐพื้นที่ปลูกข้าวถูกเปลี่ยนเป็นข้าวโพดมากขึ้น ประกอบกับการบริโภคที่สูงขึ้น ในแอฟริกา และหลายประเทศที่ร่ำรวยจากน้ำมัน มีกำลังซื้อสูงหันมาบริโภคข้าวมากขึ้น ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การบริโภคมากกว่าปริมาณการผลิตโดยตลอด สต็อกโลกลดลงตามลำดับ มีการดึงสต็อกเก่ามาใช้" นายชูเกียรติ กล่าว

โลกร้อนฉุดผลผลิตดันราคาพุ่ง

     นอกจากนี้ สภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหายในหลายพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก เช่น เวียดนาม อินเดีย โดยเวียดนามประสบปัญหาหิมะตกทางตอนเหนือของประเทศ ในรอบปีที่ผ่านมาต้องดึงผลผลิต จากตอนใต้เข้าไปเลี้ยงตอนเหนือ ทางรัฐบาลห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่ไตรมาส 4 จนถึงขณะนี้ เพราะเกรงว่าผลผลิตภายในขาดแคลน

     ส่วนอินเดียมีปัญหาผลผลิตจากความแห้งแล้ง ใช้มาตรการห้ามการส่งออกเช่นเดียวกัน โดยขยับราคามินิมั่ม ไพรซ์ หรือราคาส่งออกขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน จากประมาณ 350 ดอลลาร์ต่อตัน ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นมาอินเดียใช้มาตรการในลักษณะการห้ามส่งออกข้าวเช่นเดียวกัน

     "ถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกยังยืนระดับสูงเช่นนี้ เกิดการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูก และสภาวะอากาศทำให้ผลผลิตเสียหาย เชื่อว่าราคาข้าวและสินค้าเกษตรอื่นจะเป็นช่วงขาขึ้นต่อไปอีก 1-2 ปี"

ผู้ซื้อทั่วโลกมุ่งซื้อข้าวจากไทย

     นายชูเกียรติ กล่าวว่า ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ซื้อจากทั่วโลก มุ่งมาที่ตลาดข้าวไทย ส่งผลให้ยอดการส่งออกข้าวของไทยช่วง 5 เดือนหลัง ตั้งแต่เดือนต.ค.2550 ถึงเดือนก.พ.2551 ไทยส่งออกข้าวเกินปริมาณ 1 ล้านตันต่อเดือน จากเดิมการส่งออกรายเดือนประมาณ 6-7 แสนตัน โดยเดือนม.ค.ส่งออกข้าวทั้งสิ้น 1.01 ล้านตันเพิ่มขึ้น 64% มูลค่า 1.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.12% ขณะที่เดือนก.พ.ส่งออก 1 ล้านตันเช่นเดียวกันโดยปริมาณเพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ปีก่อน และยอดการส่งออก 2 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านตันเพิ่มขึ้น 68.69% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

     ขณะที่ราคาข้าวในประเทศ ขยับตามราคาส่งออกอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การค้าข้าวไทย โดยราคาข้าวขาว 100% จากราคา 1,100 บาทต่อกระสอบ 100 กก.ขยับขึ้นเป็น 1,600 บาทต่อกระสอบต้นเดือนมี.ค.และกลางเดือนมี.ค.อยู่ที่ 1,700 บาทต่อกระสอบ

     กระบวนการค้าข้าวเกิดการเก็งกำไรในทุกส่วน ทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ โดยมีรายใหม่เข้ามาเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ตั้งแต่พ่อค้าข้าว โรงสี ผู้ส่งออกทุกฝ่ายเก็บข้าวไว้เก็งกำไร เพราะเก็งว่าราคาจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง

วงการชี้ข้าววิกฤติทิ้งสัญญาจ่ายค่าปรับ

     สถานการณ์ค้าข้าวขณะนี้ราคาสูง บุคคลที่ไม่อยู่ในวงการจะมองว่าเป็นผลดี แต่ความเป็นจริงถือว่าเป็นวิกฤติ เกิดการผิดสัญญาในแต่ละทอดของกระบวนการค้าข้าว โดยผู้ส่งออกต้องยอมทิ้งออเดอร์และยอมจ่ายค่าปรับ เพราะไม่สามารถหาซื้อข้าว มาส่งมอบตามออเดอร์ที่รับมาในราคาต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันได้

     ฝ่ายโรงสีเองก็เช่นเดียวกัน เริ่มผิดสัญญากับผู้ส่งออกและพ่อค้าข้าว เพราะต้องไล่ซื้อข้าวในราคาสูงขึ้นทุกวัน โรงสีบางรายหรือแม้กระทั่งผู้ส่งออก ต้องเข้าไปทำสัญญาตกเขียวกับชาวนาไว้ก่อน เพื่อให้ได้ข้าวส่งมอบ แต่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ถ้าราคาสูงขึ้นอีก ชาวนาก็ผิดสัญญา นำข้าวไปขายให้กับผู้ที่ให้ราคาสูงกว่า

     "ตอนนี้ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออเดอร์ เพราะราคาวิ่งเร็วแข็งขึ้นโดยตลอด หาซื้อข้าวยากมาก ออเดอร์ตอนนี้รับมาเมื่อเดือนธ.ค.ปีก่อน ถึงตอนนี้ไม่กล้ารับ ไม่กล้าโค้ดราคา เพราะไปโค้ดราคาหนึ่ง ถึงเวลาหาซื้อข้าวส่งมอบไม่ได้ ปกติรับออเดอร์อยู่ครั้งละ 2-3 หมื่นตัน ต้องปรับตัวลดลงเหลือ 5 พันตัน ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ รับออเดอร์แต่ละล็อตขาดทุน 30-40 ล้านบาทก็ไม่ไหว"

ประเมินราคาข้าวยังพุ่งไม่หยุด

     นายชูเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวจะไม่หยุดแค่นี้ แต่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ตามความต้องการของตลาดโลก และผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาประมูลซื้อในตลาดข้าว ซึ่งฟิลิปปินส์ประกาศประมูลซื้อข้าวขาวกลางสัปดาห์ก่อน ผลักดันราคาข้าวขาวทะลุ 700 ดอลลาร์ต่อตัน โดยเวียดนามได้ตลาดส่วนนี้ไปบางส่วน ขณะที่ผู้ส่งออกไทยเสนอราคา 680 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ในปริมาณน้อย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคาข้าวเวียดนามสูงกว่าไทย โดยปกติจะต่ำกว่าไทยประมาณ 20-30 ดอลลาร์ต่อตัน

     "ราคาข้าวซื้อขายส่งมอบในขณะนี้อยู่ที่กว่า 500 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ฟิลิปปินส์ประมูลราคา 700 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นฐานเอาไว้แล้วสำหรับการส่งมอบในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า"

     นอกจากนี้หากผู้ซื้อรายใหญ่เข้าสู่ตลาดซื้อข้าว เชื่อว่าจะผลักดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก หากประเมินความต้องการ โดยฟิลิปปินส์ต้องการนำเข้าในปีนี้ 1.9 ล้านตัน , อินโดนีเซีย 1.6 ล้านตัน , ไนจีเรีย 1.6 ล้านตัน , อียู 1.6 ล้านตัน , อิรัก 1.1 ล้านตัน , ซาอุดีอาระเบีย 1 ล้านตัน , บังกลาเทศ 1 ล้านตัน , อิหร่าน 9 แสนตัน , แอฟริกาใต้ 9 แสนตัน , เซเนกัล 7.25 แสนตัน, ญี่ปุ่น 7 แสนตัน , มาเลเซีย 7 แสนตัน , จีน 6 แสนตัน

ชี้คนไทยต้องซื้อข้าวกก.ละ 25 บาท

     นายชูเกียรติ กล่าวว่า ประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางเป็นลูกค้าหลักในการซื้อข้าวไทย โดยเบนิน เซเนกัล นำเข้าประเทศละ 5-8 แสนตันจากไทยทุกปี ขณะที่อิหร่านซื้อข้าวไทยกว่า 6 แสนตันทุกปี และในปีนี้เพิ่งสั่งซื้อและนำเข้าไป 4.2 หมื่นตัน ช่วงกลางปีอิหร่านจะเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ส่วนซาอุดีอาระเบียถึงกับให้ราคาจูงใจสำหรับผู้นำเข้าข้าวโดยบวกเพิ่มให้อีก 250 ดอลลาร์ต่อตัน

     "กลุ่มประเทศพวกนี้ร่ำรวยจากน้ำมัน ราคาเท่าไหร่ก็สู้ขอให้มีข้าวกิน ก็ทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก มีความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวขาวอาจพุ่งถึงตันละ 1 พันดอลลาร์ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งราคาข้าวภายในจะพุ่งสูงตามไปด้วย จากราคา 1,100 บาทต่อกระสอบในเดือนม.ค.ขยับเป็น 1,600 บาทในเดือนมี.ค.และข้าวกระสอบละ 2,000 บาทอาจจะมาเร็วเกินคาด บางทีไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ราคาอาจไป 2,500 บาทต่อกระสอบหรือ 25 บาทต่อกก.หรือสูงกว่านั้นก็ได้ในปีนี้"

กรมข้าวหวั่นส่งออกจนภายในขาด

     นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2551 นี้ พบว่าจากอากาศที่หนาวเย็น เป็นระยะเวลานานทำให้ข้าวนาปรังออกรวงช้ากว่าปกติประมาณ 15 วันและผลผลิตจึงลดลงประมาณ 3-5% ในขณะที่การทำนาปรังครั้งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้เป็นต้นไปพบว่าน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นในภาพรวมแล้วจึงคาดว่าในปีนี้ ผลผลิตข้าวทั้งประเทศ จะอยู่ที่ 30 ล้านตันข้าวเปลือก

     "ปริมาณผลผลิตข้าวของไทยเมื่อนำมาวิเคราะห์กับปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตข้าวของเวียดนามและอินเดียได้รับความเสียหายไม่สามารถส่งออกได้ ประกอบกับสต็อกข้าวของโลกลดลง ความต้องการของตลาดโลกขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่ผู้นำเข้า เร่งนำเข้าเพราะมีความกังวลว่า ข้าวจะขาดตลาด ทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ผู้ส่งออกข้าวของไทยส่งออกปริมาณที่มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรเร่งขายข้าว ทำให้โอกาสจะเกิดภาวะข้าวขาดตลาดมีความเป็นไปได้สูง"

    นายประเสริฐ กล่าวว่า กรมประเมินโอกาสความเป็นไปได้ที่ข้าวจะขาดตลาดนั้นมีสูงพอควร เนื่องจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นจูงใจ ให้ทุกฝ่ายเก็บข้าวเพื่อเร่งส่งออกทำกำไร จนเกิดสถานการณ์ภายในขาดแคลน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีสต็อก 2.1 ล้านตัน จะต้องบริหารสต็อกส่วนนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยต้องไม่ระบายออกมาให้ผู้ส่งออก เพื่อขายส่งออกอย่างเด็ดขาด แต่อาจทำเป็นข้าวถึงธงฟ้า เพื่อจำหน่ายให้กับผู้มีรายได้น้อยภายในประเทศแทน

จี้ระบายสต็อกลดความร้อนแรงตลาด

     นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ราคาข้าวที่ร้อนแรงมากในขณะนี้ ผู้ส่งออกต้องการให้ภาครัฐใช้นโยบาย การบริหารสต็อกให้เกิดความสมดุล โดยทยอย ระบายสต็อก เพื่อลดความร้อนแรงของตลาด โดยเฉพาะสต็อกข้าวรัฐบาล 2.1 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลกำลังไล่เช็คสต็อกขณะนี้ แต่เชื่อว่าปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อก ไม่ครบตามบัญชีแน่นอน

     "การรักษาเสถียรภาพราคาเป็นสิ่งสำคัญ ค่อยๆ ให้ข้าวขึ้นราคาแล้วอยู่อย่างยั่งยืน ดีกว่าให้ขึ้นมารวดเดียว ซึ่งทุกคนเคารพและยึดมั่นในกลไกการค้าเสรี แต่บางครั้งถ้าภาวะจะนำไปสู่วิกฤติ ก็ต้องแทรกแซงบ้าง ไม่ใช่เสรีจนไร้ขอบเขต เวียดนาม อินเดียก็แทรกแซงตลาด เพราะถ้าราคาข้าวที่บริโภคภายในสูงเกินเหตุ รัฐบาลก็อยู่ลำบาก" นายชูเกียรติ กล่าว

     อย่างไรก็ดีเขาเชื่อว่าเหตุการณ์คงจะไม่นำไปสู่วิกฤติข้าวขาดแคลน และคนไทยต้องเข้าคิวซื้อข้าวเหมือนในอดีต ช่วง 30 ปีก่อน แต่ต้องบริหารสต็อกที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.