www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

สต็อกข้าวโลกต่ำสุดรอบ 24 ปี ดันราคาข้าวในประเทศ 1.8 หมื่นบาท


      ภัยธรรมชาติ-ภาวะโลกร้อนทำลายผลผลิตข้าวทั่วโลก ขณะที่สต็อกโลกลดต่ำสุดรอบ 24 ปี ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างเวียดนาม ต้องประกาศขึ้นภาษีสกัดส่งออกข้าว จำกัดส่งออกช่วง 10 เดือนปีนี้ พร้อมปฏิเสธขายข้าวให้กับหลายประเทศ ขณะที่ความต้องการการบริโภคเพิ่มสวนทาง ส่งผลให้ราคาข้าวทั่วโลกปีนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เชื่อโอกาสทองชาวนาไทย ลุ้นหอมมะลิมีโอกาสแตะ 1.8 หมื่นบาทต่อเกวียน

     "ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกอย่างจีน เวียดนาม และอินเดีย ล้วนประสบปัญหาภัยธรรมชาติทั้งพายุหิมะ ภัยแล้ง ตลอดจนภาวะโลกร้อน ทำให้ปริมาณน้ำฝนและน้ำในแผ่นดินลดลง ส่งผลต่อการเพาะปลูกข้าวอย่างมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งสามประเทศลดการส่งออกข้าวปีนี้ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านตัน" นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศผู้ผลิตข้าว

     นายนิพนธ์ ชี้ให้เห็นว่าปริมาณสต็อกข้าวโลก เมื่อปี 2526/2527 สต็อกข้าวเคยต่ำสุดมาแล้วที่ 69.3 ล้านตัน แต่จากนั้นมามาสต็อกข้าวโลกเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เกิน 100 ล้านตัน ปี 2543/2544 ปริมาณสต็อกข้าวโลกอยู่ที่ 147 ล้านตัน ปี 2544/2545 สต็อกข้าวอยู่ที่ 134.3 ล้านตัน ปี 2545/2546 สต็อกข้าวอยู่ที่ 103.6 ล้านตัน แม้บางปีจะลดลงบ้างแต่ก็ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน

     แต่พอมาปี 2546/2547 สต็อกข้าวโลกเริ่มลดลงอีกครั้งโดยอยู่ที่ 82.1 ล้านตัน ปี 2547/2548 สต็อกข้าวอยู่ที่ 74.5 ล้านตัน ปี 2548/2549 สต็อกข้าวอยู่ที่ 76.7 ล้านตัน ส่วนปี 2549/2550 สต็อกข้าวอยู่ที่ 75.1 ล้านตัน ขณะที่ปี 2550/2550 ลดเหลือเพียง 72.1 ล้านตัน สต็อกข้าวโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าประเทศผู้ผลิตข้าวเริ่มมีปัญหา

     ทั้งนี้ปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวที่ลดลง ทำให้หลายประเทศประกาศงดการส่งออกข้าวแล้ว เช่น เวียดนาม ได้ปฏิเสธขายข้าวให้กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้สั่งซื้อรายใหญ่เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเวียดนามเกรงว่าราคาข้าวในประเทศจะได้รับผลกระทบจึงต้องระมัดระวังการส่งออกข้าวปีนี้

     อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ๆ อย่างเช่น ไทย ปี 2550/2551 คาดว่าจะมีผลผลิตรวม 18.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549/2550 อยู่ที่ 18.25 ล้านตัน เวียดนาม ปี 2550/2551 ผลผลิตรวมอยู่ที่ 23.26 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตเท่ากับปี 2549/2550 อินเดีย ปี 2550/2551 คาดผลผลิตรวมอยู่ที่ 92 ล้านตัน ลดลงจากปี 2549/2550 ซึ่งอยู่ที่ 92.7 ล้านตัน ปากีสถาน ปี 2550/2551 คาดผลผลิตรวมอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549/2550 ซึ่งอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน

     ขณะที่ประเทศผู้สั่งซื้อข้าวสำคัญๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ปี 2550/2551 คาดผลผลิตรวมอยู่ที่ 10.01 ล้านตัน ลดลงจากปี 2549/2550 ซึ่งผลผลิตรวมอยู่ที่ 10.08 ล้านตัน จีนปี 2550/2551 คาดผลผลิตรวมอยู่ที่ 129.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549/2550 ที่มีผลผลิตรวม 127.8 ล้านตัน แต่เนื่องจากจีนมีจำนวนประชากรจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในประเทศจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ขณะที่อินโดนีเซีย ปี 2550/2551 คาดผลผลิตรวมอยู่ที่ 34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549/2550 ซึ่งอยู่ที่ 33.3 ล้านตัน

ผลผลิตเพิ่มสวนทางราคาพุ่งกระฉูด

     เมื่อรวมผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ๆ แล้วจะเห็นว่าปี 2550/2551 จะมีผลผลิตอยู่ที่ 30.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549/2550 ซึ่งผลผลิตรวมอยู่ที่ 30.08 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวของโลกปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 420.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีผลผลิต 417.66 ล้านตัน

     นายนิพนธ์ กล่าวถึงความต้องการข้าวของประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ๆ ปีนี้อย่างเช่น อิรักมีความต้องการนำเข้าข้าวถึง 1.1 ล้านตัน จากปีก่อนมีเพียง 6 แสนตัน ไนจีเรีย ต้องการซื้อข้าวปีนี้ 1.6 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ต้องการซื้อข้าว 1.7 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ ปีนี้มีความต้องการซื้อข้าวเท่ากับปีก่อนคือ 1.9 ล้านตัน

     ส่วนซาอุดีอาระเบีย ปีนี้ต้องการซื้อข้าวเพิ่มถึง 1 ล้านตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าข้าวอยู่ที่ 9.6 แสนตัน กานา ต้องการซื้อข้าวปีนี้ 4.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้าข้าว 3.4 แสนตัน เช่นเดียวกับบราซิล ปีนี้ต้องการนำเข้าข้าว 8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้าข้าว 7 แสนตัน

     อิหร่าน ปีนี้นำเข้าข้าวลดลงอยู่ที่ 9 แสนตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าข้าวถึง 1.1 ล้านตัน อินโดนีเซีย ปีนี้นำเข้าข้าว 1.6 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่นำเข้าข้าว 1.9 ล้านตัน ส่วนเซเนกัล ปีนี้ต้องการนำเข้าข้าว 7.2 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนที่นำเข้า 8 แสนตัน โดยรวมปีนี้ประเทศผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการสั่งซื้อ 29.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 29.22 ล้านตัน

จับตาหอมมะลิพุ่ง 1.8 หมื่นบาท

     นายนิพนธ์ กล่าวว่าปริมาณสต็อกข้าวของโลกที่ลดต่ำลงปีนี้ ประกอบกับประเทศผู้ผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จึงเป็นต้นเหตุทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าราคาข้าวขาวนาปรังปีนี้อาจจะสูงอยู่ที่ 9,000 -10,000 บาทต่อเกวียน ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิ จะสูงถึง 18,000 บาทต่อเกวียน และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ คาดว่าปีนี้ราคาข้าวในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเกวียน

     "สถานการณ์ข้าวขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของเกษตรกร และเป็นตลาดของผู้ขาย เพราะตลาดโลกมีความต้องการข้าวเป็นอย่างมาก รัฐบาลควรสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังหลายรอบเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำที่ใช้ในการผลิตไม่พอ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ยังมีมาก 40-50% ของน้ำในเขื่อน หากชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ในขณะที่ราคาสูง จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศโดยรวมไปด้วย เพราะเมื่อชาวนามีรายได้ก็จะใช้จ่าย เท่ากับชาวนาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อย่างไรก็ตามแม้ราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตของชาวนาก็ค่อนข้างสูง ทั้งค่าขนส่ง ค่าปุ๋ยเคมี รวมถึงค่าครองชีพของชาวนา"

     ทั้งนี้สถานการณ์ข้าวขณะนี้ น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก 2-3 ประเทศได้แก่ ไทย อินเดีย จีน และเวียดนาม จะก่อตั้งองค์กรประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าว หรือ OREC (Organization Of Rice Export Country) เหมือนกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหรือโอเปค ซึ่งจะทำให้สามารถร่วมกันกำหนดผลผลิตและราคาข้าวตลาดโลกได้ รวมทั้งมีอำนาจต่อรองราคาได้ดีขึ้น

     นายโจนาธาน พินคัส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่เศรษฐศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ในเวียดนาม ชี้ว่าการที่ประเทศใหญ่ๆ อย่าง อินเดีย นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาจทำให้ราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายประการหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเอเชียทุกประเทศ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความตระหนักอย่างมาก ในสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเสถียรภาพทางการเมือง กับเสถียรภาพของตลาดข้าว

เวียดนามขึ้นภาษีสกัดส่งออกข้าว

     ด้านนายโรเบิร์ต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไออาร์อาร์ไอ) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวชั้นนำรายหนึ่งของโลก ชี้ว่าการทำนาของเวียดนาม มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และการแพร่ระบาดของศัตรูพืช เหมือนกับที่เคยเป็นมาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน

     เวียดนาม ถือเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 5 และผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ปัญหาด้านผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศ ทำให้เกิดความวิตกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่ระบาดในนาข้าวของเวียดนาม อาจอพยพขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศจนถึงจีนได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา เพราะแม้จีนจะไม่ได้เป็นผู้เล่นหลักในตลาดค้าข้าวสากล แต่จนถึงขณะนี้ แผ่นดินใหญ่ถือเป็นผู้ผลิต และบริโภคข้าวรายใหญ่สุดของโลก

     นายซิกเลอร์ ระบุว่า ไออาร์อาร์ไอ ยังไม่สามารถหาคำตอบอย่างชัดเจน ถึงสาเหตุของการเกิดโรคระบาด และการแพร่ระบาดของศัตรูพืช ในเวียดนาม พร้อมชี้ว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชีย และทั่วโลก จำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยเกษตรกรรมให้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผลผลิตทางเกษตรที่มั่งคั่งมาตลอดนับแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมา เริ่มหดหายไป

     ภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ เช่น น้ำท่วมในชวา อินโดนีเซีย และพายุไซโคลน ในบังกลาเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดแคลนในการจัดหาข้าวป้อนตลาดโลก

     ล่าสุด สำนักข่าวเวียดนาม (วีเอ็นเอ) รายงานว่านายกรัฐมนตรีเหงียน ตัน ดุ่ง มีคำสั่งให้กระทรวงการคลัง พิจารณาขึ้นภาษีส่งออกข้าว และจำกัดการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ไว้ที่ 3.5 ล้านตัน รวมถึง ชะลอการรับคำสั่งซื้อใหม่ไว้ก่อน

     การจำกัดจำนวนส่งออกข้าวดังกล่าว ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลงเกือบ 19% จากระดับการส่งออกที่ 4.32 ล้านตันในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 ทั้งการจำกัดการส่งออกข้าวครั้งนี้ จะยิ่งทำให้การจัดหาที่ตึงตัวอยู่แล้วของเอเชีย ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
The Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2006 All rights reserved by The Rice Exporters Association.