กระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) คาดการณ์ว่า ปี 2551 ปริมาณข้าวสำรองของโลกจะลดลงมาอยู่ที่ระดับกว่า 70 ล้านตัน ถือเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ช่วงต้นทศวรรษ 80 และคิดเป็นสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรองเมื่อปี 2543
รายงานของยูเอสดีเอ แสดงให้เห็นว่าเดือน มี.ค. ข้าวขาวส่งออกจากไทย ทุกเกรดมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ตันละ 65 ดอลลาร์ ถือเป็นราคาสูงสุดนับแต่เดือนมิ.ย.2524 เป็นต้นมา โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคาสูงขึ้น คือความต้องการจากตลาดโลก การส่งออกตึงตัว และเงินบาทแข็งค่าขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ อินเดียเพิ่งปรับราคาข้าวส่งออกขั้นต่ำมาอยู่ที่ตันละ 650 ดอลลาร์ จากเดิมที่ตันละ 500 ดอลลาร์ ส่วนเวียดนามขยับราคาข้าว 5% มาอยู่ที่ตันละ 500 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันมีการทำข้อตกลงซื้อข้าวรายใหม่ๆ น้อยมาก เพราะผู้ส่งออกส่วนใหญ่รับคำสั่งซื้อไว้เกินกำลังผลิตแล้ว
ภาวะวิกฤติในเรื่องข้าวยิ่งตอกย้ำให้เห็นมากขึ้น เมื่อฟิลิปปินส์ ประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะซื้อข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองภายในประเทศช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเทรดเดอร์เสนอที่จะขายข้าวให้เพียง 325,000 ตัน จากปริมาณที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการซื้อทั้งหมด 550,000 ตัน ทั้งราคาเสนอขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละเกือบ 680 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% จากระดับราคาเมื่อเดือน ม.ค.
โฆษกสำนักงานอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ทำนาข้าวลดน้อยลง ทำให้แดนตากาล็อกไม่สามารถผลิตข้าวได้พอกับความต้องการ
ประเทศผู้บริโภคข้าวรายใหญ่รายอื่นๆ ก็กำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกันนี้ เช่น จีนที่มีการนำพื้นที่เพาะปลูกไปใช้เป็นสถานที่สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะข้อมูลจากศูนย์ศึกษาสังคม และเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่สุดของโลกรายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ที่การขยายตัวในจำนวนประชากรแซงหน้าระดับการผลิตข้าว
ปริมาณข้าวสำรองที่ลดลง ทำให้หลายประเทศ รวมถึง อินเดีย ออกมาตรการควบคุมการส่งออก ซึ่งยูเอสดีเอเตือนว่า อาจมีการเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมอีก
นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้ในปีที่แล้ว ราคาข้าวในตลาดท้องถิ่นบางแห่งจะพุ่งขึ้นกว่า 10 เท่า แต่ก็ยังไม่ทำให้เกิดเหตุไม่สงบในสังคมมากเท่าใดนัก เพราะการขึ้นราคาเกือบทั้งหมด จะค่อยๆ ขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวเกือบทั่วโลกบริโภคโดยประเทศที่เป็นผู้ผลิต ซึ่งหมายความว่าปริมาณข้าวในตลาดข้าวโลกค่อนข้างน้อย และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|