นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการนำผลงานวิจัยมาแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลถึงปัญหาวิกฤติข้าว ที่ผ่านมาได้พระราชทานทุนวิจัยจำนวน 2 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้สายพันธุ์ที่ทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ทั้งทนแล้ง ทนน้ำท่วม เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ทนน้ำท่วมฉับพลัน และพันธุ์แก้วเกษตรต้านทานโรคไหม้จะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขยายเมล็ดพันธุ์ต่อไป นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิชนิดใหม่ เรียกว่า" ซุปเปอร์หอมมะลิ" มีคุณสมบัติหอม ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ต้านทานโรคไม้และศัตรูพืชและให้ผลผลิตปริมาณมากขึ้น คาดว่าจะสามารถพัฒนาพันธุ์ดังกล่าวได้ภายใน 2 ปี โดยจะพิจารณางบประมาณศึกษาเรื่องข้าวเพิ่มเติม ที่ผ่านมามีเพียง 80 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติอาหารที่ขาดแคลนด้วย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนรัฐบาลการประกาศให้วิกฤติอาหารและพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ เพราะราคาอาหารและสินค้าเกษตร รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัญหาระยะในยาว ขณะนี้มีรายงานจากองค์การเกษตรและอาหารโลก (เอฟเอโอ) แจ้งว่าขณะนี้มี 37 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาอาหาร เป็นประเทศในแอฟริกา 21 ประเทศ เอเชีย 10 ประเทศ อเมริกาใต้ 5 ประเทศ และยุโรป 1 ประเทศ
โดยราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมากถึง 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ราคาอาหารไตรมาสแรกปีนี้ของไทยสูงขึ้น 6.8% จีนสูงขึ้น 21% อังกฤษสูงขึ้น 5.7% สหรัฐสูงขึ้น 4.8% และคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าราคาอาหารจะเพิ่มอีก 20 เท่า
ดังนั้นไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารของโลก จึงถือเป็นโอกาสทองที่จะจำหน่ายอาหารในราคาที่สูง และเพิ่มอำนาจต่อรองการค้า เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการส่งออกที่ลดลง โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินการมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการแย่งพืชที่ปลูกพืชอาหารไปเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชพลังงาน ทำให้ราคาอาหารหลายประเทศในไตรมาส 1 ปีนี้สูงขึ้น
สถาบันอาหารเห็นว่าในระยะสั้นจะต้องมีการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายของประชาชนที่สูงขึ้น ควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาหารไทยไตรมาสแรกปีนี้ มีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลง 1.6% ขณะที่มูลค่าส่งออกโดยรวม 165,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วการส่งออกสินค้าหลายชนิดมีสัดส่วนการเพิ่มในด้านราคาเพิ่มขึ้น เช่น ทูน่ากระป๋อง เนื้อไก่ น้ำมันพืช ส่วนการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า
สถาบันอาหารคาดส่งออกไตรมาส 2 ชะลอ
สถาบันอาหารคาดว่าการส่งออกอาหารไตรมาส 2 ปีนี้ โดยปริมาณการส่งออกอยู่ 6.6 ล้านตัน ลดลง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ส่งออก 7.4 ล้านตัน โดยมีมูลค่า 154,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเพียง 1.5% ส่วนมูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2551 เพราะการส่งออกไทยยังมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในเอเชีย โดยไตรมาส 2 ปีนี้ คาดค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ 31.50 บาท ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสแรกปีนี้ ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.50 บาท ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว สูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อลง
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การส่งออกข้าวไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณ 2.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.5% มูลค่า 31,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% การส่งออกไก่และสัตว์ปีกคาดว่ามีปริมาณ 94,229 ตัน เพิ่มขึ้น 13.1% มูลค่า 10,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.8% ส่งออกกุ้งจะมีปริมาณ 70,856 ตัน ลดลง 8.2% มูลค่า 16,619 ล้านบาท ลดลง 4.1% การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูปมีปริมาณ 108,244 ตัน ลดลง 9.3% มูลค่า 12,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และการส่งออกผักผลไม้มีปริมาณ 675,682 ตัน เพิ่มขึ้น 1.7% มูลค่า 19,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1%
เอกชนแนะรัฐจัดโซนนิ่งเพาะปลูกพืช
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 2 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงการปรับตัวของไทยเพื่อรองรับกับวิกฤติอาหารของโลก รัฐบาลควรมีนโยบายการจัดการด้านอาหารที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อาหารเพื่อความมั่นคงของประเทศ และอาหารเพื่อธุรกิจส่งออก โดยช่วง 1-2 ปี ต้องเตรียมเรื่องเทคโนโลยีการเพาะปลูก เช่น ไบโอเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ต่างประเทศให้การยอมรับ ไทยมีการวิจัยเรื่องดังกล่าวมากแต่ยังอยู่ในวงจำกัด หากนำไบโอเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้นได้จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้น
นอกจากนี้ ต้องจัดโซนนิ่งเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะการปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืช เพื่อผลิตพลังงานทดแทน ต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถนำไบโอเทคโนโลยีมาใช้กับพืชพลังงานได้เต็มที่ พืชกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภค และต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบการเกษตรด้วยการเข้าไปลงทุนปลูกพืชในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง รัฐบาลต้องลดปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้ากลับมาไทย ทำได้ตามข้อเสนอจะทำให้ไทยยังคงเป็นผู้ในการส่งออกอาหารของโลกได้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
แนะรัฐควรใช้วิกฤติอาหารสร้างอำนาจต่อรอง
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรกำหนดแนวทางผลิตอาหารให้ชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า เพื่อให้สินค้าเกษตรส่งออกที่มีสัดส่วน 9.5% ของการส่งออก
ช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติของโลกเป็นช่วงที่ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรเพิ่มบทบาทการเจรจาต่อรองกับประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป โดยประเทศเหล่านี้ยังมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรส่งออก ซึ่งยังเป็นประเด็นกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอาหารในประเทศกำลังพัฒนา และมีแนวโน้มบริษัทเอกชนผู้นำเข้าสินค้าอาหารในประเทศพัฒนาแล้ว จะกำหนดมาตรฐานอาหารนำเข้าเพิ่มมากขึ้น
วานนี้ (23 เม.ย.) นายเจมส์ อดัมส์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ได้แสดงความวิตกกังวลว่า ราคาข้าวที่ทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขณะนี้อาจจะเพิ่มแรงกดดันให้ไทย ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก หันมาเดินตามรอยประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย จำกัดปริมาณการส่งออกข้าวหากเกิดขึ้นจริงจะยิ่งทำให้วิกฤติราคาอาหารโลกรุนแรงยิ่งขึ้น
"ถ้าประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักจำกัดการส่งออกก็เหมือนกรณีที่ ซาอุดีอาระเบีย ลดปริมาณการส่งออกน้ำมัน ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ไทย ซึ่งส่งออกข้าวในสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณส่งออกข้าวทั่วโลก หันมาทำตามมากขึ้นเท่านั้น" นายอดัมส์ กล่าว
ดับเบิลยูเอฟพีเปรียบวิกฤติอาหารดั่งสึนามิ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมการประชุมพิเศษของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (ดับเบิลยูเอฟพี) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขึ้นราคาซึ่งเป็นภัยเงียบคล้ายคลื่นยักษ์สึนามิ ทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพื่อรับประกันการสำรองอาหารให้เพียงพอในอนาคต
ดับเบิลยูเอฟพี ระบุว่า ประชาชนอีก 100 ล้านคน ที่ไม่เคยเดือดร้อนมาก่อน ต้องประสบปัญหาไม่สามารถซื้อหาอาหารราคาแพงได้ ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนการปรับปรุงด้านสาธารณสุขในกลุ่มประเทศที่จัดว่ายากจนที่สุดในโลก
นางโจเซตต์ ชีแรน ผู้อำนวยการดับบลิวเอฟพี กล่าวว่า อาจจะตัดสินใจตัดลดความช่วยเหลือด้านอาหารแก่เด็กยากจนที่สุดทั่วโลกประมาณ 20 ล้านคน หากชาติร่ำรวยไม่เร่งให้การช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อบรรเทาปัญหาราคาข้าว ข้าวสาลี และอาหารหลักอื่นๆ ที่ทะยานขึ้นสูงในเวลาอันรวดเร็ว
ญี่ปุ่น-อียูเตือนทั่วโลกรับมืออาหารแพง
นายกรัฐมนตรียาสุโอะ ฟูกูดะ ของญี่ปุ่น และผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ออกแถลงการณ์ร่วมกัน แสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาอาหาร น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถีบตัวสูงขึ้นในตลาดโลก และต้องการให้ทั่วโลกเร่งหามาตรการมารับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา พร้อมกันนี้ ญี่ปุ่นและอียู ยังรับปากจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในตลาดการเงินโลกด้วย
ญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้าอาหารในสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของอาหารที่บริโภคในประเทศ ยืนยันว่าจะหยิบยกประเด็นราคาอาหารแพง มาหารือในการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (จี8) ในเดือนก.ค.นี้
แหล่งข่าวทางการค้าของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการประมูลซื้อข้าวที่มีกำหนดจัดขึ้นเมื่อวานนี้ เนื่องจากแทบไม่มีผู้สนใจเสนอราคา หรือราคาข้าวอยู่ในระดับที่แพงเกินไป
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรของญี่ปุ่น วางแผนที่จะซื้อข้าวจากต่างประเทศจำนวน 62,502 ตัน โดย 26,000 ตันจากไทย ส่วนที่เหลือจะซื้อจากแหล่งอื่น เพื่อใช้ในการผลิตอาหารแปรรูปและแอลกอฮอล์ สำหรับการส่งมอบในเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้
ผู้ส่งออกชี้ญี่ปุ่นล้มประมูลกดราคานิ่ง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ญี่ปุ่นล้มประมูลข้าว 100% ปริมาณ 6 หมื่นตัน ว่าเพราะญี่ปุ่นเห็นว่าราคาที่ผู้ส่งออกไทยเสนอตันละ 1,300 ดอลลาร์ เป็นราคาที่สูงเกินไป หากญี่ปุ่นยอมรับราคานี้ จะทำให้ญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นประเทศผู้นำราคาข้าวในตลาดโลกได้ ญี่ปุ่นเปิดประมูลข้าวเป็นไปตามข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ญี่ปุ่นไม่ได้ขาดแคลนข้าวทำให้ไม่ต้องการซื้อข้าวราคาสูง
การที่ญี่ปุ่นล้มประมูลข้าวครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวหยุดนิ่งไประยะหนึ่ง การที่ญี่ปุ่นล้มประมูลข้าวคงไม่กระทบกับราคาข้าวที่ฟิลิปปินส์จะประมูลอีก 500,000 ตัน ในวันที่ 5 พ.ค.2551 เพราะเหตุผลการประมูลข้าวของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ต่างกัน โดยฟิลิปปินส์เปิดประมูลข้าวเพราะมีความต้องการข้าวจริง
ทั้งนี้หากอินโดนีเซียและอิหร่านเปิดประมูลข้าว มีส่วนทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้นำข้าวรายใหญ่ของโลก ปีนี้ทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่มีการเปิดประมูลข้าว ซึ่งต้องติดตามว่าอิหร่านจะมีนโยบายการซื้อข้าวอย่างไร อาจจะหันไปขอซื้อข้าวจากจีน แต่จีนคงมีความระมัดระวังในการส่งออกข้าวมากขึ้น ถ้าจีนไม่สามารถขายข้าวให้ได้ก็จะทำให้อิหร่านและอินโดนีเซียหันมาซื้อข้าวจากไทยแทน
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้น 1 เท่าตัว ในไตรมาส 1 ปี 2551 ส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอสั่งซื้อข้าว เช่น ประเทศในแอฟริกา อิหร่าน อินโดนีเซีย โดยเฉพาะแอฟริกาที่ไม่สามารถซื้อข้าวราคาตันละ 1,000 ดอลลาร์ได้ ทำให้ช่วงนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยต้องมีความระมัดระวัง กับรับคำสั่งซื้อมากขึ้น เพื่อไม่ให้รับคำสั่งซื้อเกินกำลังของผู้ส่งออก โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การส่งออกข้าวในไตรมาส 2 ปีนี้จะลดลง 25-30% คาดส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 800,000 ตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |