www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

"อินเดีย"จีบ"ไทย"คุมราคาข้าวโลก ญี่ปุ่นถอยเจอ 1.3 พันเหรียญ/ตัน


      เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( อังค์ถัด) ที่ประเทศกานา กล่าวว่า ขณะนี้ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นของโลกแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าความเห็นขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ เรารับฟังแต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม สิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูด คงจะพูดด้วยความจริงใจ และคงไม่ส่งผลกระทบหรือส่งผลเสียในเรื่องความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศ ที่ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกันถือว่าดีมากๆ

     นายนพดลกล่าวด้วยว่า ได้หารือทวิภาคีกับนายคามาล นาธ รัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ซึ่งเสนอให้ไทยมีบทบาทนำในการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เพื่อควบคุมราคาข้าวให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ โดยตนรับที่จะมาแจ้งให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ โดยในปลายเดือนเมษายนนี้น่าจะมีโอกาสหารือกับนายนาธอีกครั้ง

     นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยกเลิกการประมูลรับซื้อข้าวสารจำนวน 60,000 ตัน เพื่อเก็บเป็นสต๊อคของประเทศ โดยให้เหตุผลว่าราคาข้าวขาว 100% ที่ไทยเสนอไปตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ และเวียดนามเสนอตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ และสูงกว่าราคาซื้อครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ที่ประมูลไปได้ตันละ 792 เหรียญสหรัฐ

     "ผมคิดว่าที่ญี่ปุ่นยกเลิกการประมูลข้าว เพราะคงไม่อยากจะถูกประเทศอื่นในโลกมองว่าเป็นผู้ดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น และญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนข้าว เพียงแต่ต้องการสต๊อคข้าวสารไว้ตามที่ธนาคารโลกห่วงว่าอาจมีภาวะขาดแคลน แสดงว่าราคาข้าวสารได้ขึ้นไปจุดที่ทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลใจแล้ว ดังนั้น ผมจึงมองว่าราคาข้าวสารส่งออกของเราถึงจุดสูงสุดและกำลังเข้าสู่จุดที่หยุดนิ่ง โดยในปี 2551 ราคาข้าวโดยเฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 เหรียญต่อตันแน่นอน" นายชูเกียรติกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ราคาข้าวจะไปแตะที่ตันละ 1,400 เหรียญสหรัฐตามที่ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีระบุนั้นยังพอมีอยู่ หากอิหร่านและอินโดนีเซียผู้สั่งซื้อข้าวรายใหญ่ของไทยรวม 1 ล้านตัน ตัดสินใจสั่งซื้อข้าว แต่ขณะนี้น่าแปลกใจว่าทั้งสองประเทศยังไม่สั่งซื้อข้าวไทยเข้ามา และไม่ได้เจรจาติดต่อซื้อจากประเทศอื่น เช่น จีน เช่นกัน

     "ถ้าทั้งสองประเทศตัดสินใจซื้อข้าวขาว 100% ในราคาที่ไทยตั้งไว้ตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ จะมีผลให้ประเทศอื่นๆ ซื้อข้าวในราคาเดียวกัน ราคาข้าวโดยรวมจะสูงขึ้นทันที นอกจากนี้ราคาส่งออกที่สูงขึ้น ทำให้ราคาในประเทสสูงขึ้นตาม โดยผู้ประกอบการโรงสีอยู่ระหว่างจับตามองว่าหากฟิลิปปินส์ตัดสินใจสั่งซื้อข้าวจากไทย ก็คงจะปรับราคาข้าวถุงให้เพิ่มขึ้นด้วย" นายชูเกียรติกล่าว

     นายชูเกียรติกล่าวว่า ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว ทำให้ลูกค้าระมัดระวังและชะลอการสั่งซื้อ ทำให้การส่งออกข้าวไตรมาสแรกปีนี้ ที่ส่งออกได้เดือนละ 1 ล้านตัน จะชะลอเหลือเป็น 8 แสนตันในเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะน้อยกว่า 8 แสนตันในเดือนพฤษภาคม โดยไตรมาส 2 คาดว่ายอดส่งออกจะลดลง 25-30%

     นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวทั้งตลาดภายในและส่งออกค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง ราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงไม่เกินกระสอบละ 30-40 บาท เนื่องจากผู้นำเข้าจากทั่วโลกชะลอการซื้อมาตลอด 3 สัปดาห์ ที่ส่งออกกันอยู่จะเป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น

     "ส่งออกกำลังเข้าภาวะอัมพาต แม้ราคาข้าวดีแต่กลับไม่มีการซื้อ ที่ประเมินว่าราคาข้าวจะสูงถึง 1,400 เหรียญนั้นยาก ผมว่างงานมาเดือนนึงแล้ว อยากขายข้าวแต่ไม่มีผู้ซื้อ ขนาดเสนอราคาตันละ 900 เหรียญ ก็ยังนิ่ง มีเพียงรอส่ง 2 แสนตันเท่านั้น" นายสมพงษ์กล่าว

     นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 เมษายน จะเรียกประชุมสถานการณ์ข้าวถุงกับผู้ผลิตข้าวถุงและห้างค้าปลีก เพื่อให้ยืนยันถึงปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดเพียงพอและไม่มีการกักตุน พร้อมกับขอให้ผู้ผลิตข้าวถุง ผู้ส่งออกข้าว และโรงสี แจ้งปริมาณและสถานที่จัดเก็บ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบปริมาณและราคาข้าวในท้องตลาดว่ามีการบิดเบือนตลาดหรือกักตุนหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และจากรายงานยังไม่พบความผิดปกติ แต่มีภาวะตื่นกักตุน จึงซื้อข้าวมากเกินปกติจากราคาที่ขยับขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวถุงไม่ได้สูงถึง 250-300 บาท ตามที่มีการร้องเรียน

     สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เป็นเจ้าภาพร่วมกับ นางโจเซ็ตต์ ชีแรน ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) ในสังกัดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดการประชุมกรณีพิเศษขึ้นเพื่อหารือถึงปัญหาราคาธัญพืชอย่างข้าวและข้าวโพดพุ่งสูงจนกลายเป็นวิกฤตอาหารระดับโลก มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันเข้าร่วม นางชีแรนกล่าวเตือนต่อที่ประชุมว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิบัติภัยครั้งใหม่ที่เกิดจากการขาดแคลนอาหาร ที่เปรียบเสมือนเป็น "สึนามิเงียบ" ที่คุกคามต่อชีวิตของคนจนไม่น้อยกว่า 100 ล้านคน ในทุกทวีปทั่วโลกให้ตกอยู่ในความอดอยาก เป็นคนอดอยากที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดการ "ขาดแคลนอาหารเทียม" ทำให้ความช่วยเหลือคนยากจนหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น โดยดับเบิลยูเอฟพีเริ่มขาดแคลนเงินจนต้องปิดโครงการเลี้ยงอาหารแก่เด็กใน ทาจิกิสถาน, เคนยา และกัมพูชาไปแล้ว โดยเมื่อปีที่แล้ว ทางโครงการประเมินว่าต้องได้รับเงินสนับสนุนถึง 2,900 ล้านดอลลาร์ แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ใน 4 เพราะราคาธัญพืชที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

     ด้านนายมาซาโตชิ วากาบายาชิ รัฐมนตรีเกษตรของญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นเตรียมเสนอต่อองค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ) ให้กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการเข้มงวดการส่งออกอาหารให้ชัดเจน เพื่อบังคับใช้ประเทศผู้ผลิตอาหารทั้งหมด โดยญี่ปุ่นต้องการใช้กลไกของดับเบิลยูทีโอ เพื่อให้ประเทศผู้นำเข้าอย่างเช่นญี่ปุ่นได้มีส่วนแสดงความเห็นเมื่อประเทศผู้ผลิตต้องการจำกัดการส่งออกอาหารของตน ในขณะที่นายราจัต แน็ก กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ระบุว่าประเทศผู้ส่งออกข้าว ไม่ควรห้ามการส่งออก หรือจำกัดโควต้าการส่งออก แต่ควรใช้มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคภายในประเทศแทน เพราะการห้ามการส่งออกไม่ต่างอะไรจากการกักตุนในระดับชาติ

ที่มา มติชน

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.